ปริศนาดอลลาร์ของเฟด

ระหว่างการแถลงนโยบายการเงินรอบครึ่งปีต่อคณะกรรมาธิการบริการการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐเมื่อวานนี้ นางเจเน็ต เยลเลน ประธานของเฟด ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ พร้อมกับส่งสัญญาณว่า เฟดอาจยังไม่ตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมนโยบายการเงินใน 3 เดือนข้างหน้า


พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล

ระหว่างการแถลงนโยบายการเงินรอบครึ่งปีต่อคณะกรรมาธิการบริการการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐเมื่อวานนี้ นางเจเน็ต เยลเลน ประธานของเฟด ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ พร้อมกับส่งสัญญาณว่า เฟดอาจยังไม่ตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมนโยบายการเงินใน 3 เดือนข้างหน้า

ระเบิดเวลาลูกใหม่ของนางเยลเลน มีผลพวงต่ออนาคตต่อค่าดอลลาร์ที่อ่อนยวบกะทันหัน จากแรงเทขายดอลลาร์ออกมาเมื่อตลาดรับทราบและตีความคำพูดนางเยลเลนที่กล่าวในสาระสำคัญว่า

-เฟดจะทำการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และปรับลดงบดุลอย่างค่อยเป็นค่อยไปในปีนี้ ถึงแม้เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำแต่ “ไม่มีความจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างมากเพื่อไปสู่ระดับเป็นกลาง ดังเช่นที่เฟดเคยดำเนินการในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา” ดังนั้นจึงไม่ได้ระบุแน่ชัดถึงกำหนดเวลาที่เฟด จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 3 ในปีนี้ หลังจากที่ปรับขึ้นในเดือนมีนาคม และมิถุนายน เพราะอัตราเงินเฟ้อยังต่ำนั่นเอง 

-เฟดจะเริ่มทำการปรับลดงบดุลวงเงิน 4.5 ล้านล้านดอลลาร์ในปีนี้ ซึ่งจะส่งผลให้เฟด ลดการถือครองพันธบัตร และหลักทรัพย์ที่มีสัญญาจำนองค้ำประกัน (MBS) ที่เฟดได้เข้าซื้อในตลาดในช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจเพื่อกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่ยังคงมากกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ต่อไป ซึ่งถือว่างบดุลของเฟด จะยังคงอยู่สูงกว่าระดับในช่วงก่อนเกิดวิกฤตการเงินในปี 2008

ถ้อยแถลงของนางเยลเลนซึ่งมีลักษณะเด็ดเดี่ยวน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์นั้น ได้ฉุดอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐร่วงลง และกดดันค่าเงินสกุลดอลลาร์ร่วงลง เกิดกระแสคาดการณ์เป็นวงกว้างว่าเฟดอาจพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยช้าลงกว่าที่คาดการณ์ก่อนหน้านี้ เป็นปัจจัยที่กดดันสกุลเงินดอลลาร์ให้อ่อนค่าลง  แม้ว่าวานนี้ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กทะยานขึ้นทำนิวไฮในรอบใหม่ ได้สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนบางส่วนที่ต้องการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง

การร่วงลงของค่าดอลลาร์ ทำให้ฟันด์โฟลว์ของกองทุนเก็งกำไรข้ามชาติทำการซื้อในตลาดหุ้นเอเชีย(ยกเว้นญี่ปุ่น) ปรับตัวขึ้นต่อในการซื้อขายวานนี้  แม้ว่าจะมีข่าวร้ายจากจีนปนเปื้อนเข้ามาบางส่วน โดยที่วานนี้ กระทรวงพาณิชย์จีนเปิดเผยว่า มูลค่าการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ (ODI) นอกภาคการเงิน หดตัวลง 45.8% เมื่อเทียบรายปี สู่ระดับ 4.819 หมื่นล้านดอลลาร์ในช่วงครึ่งปีแรก

ขณะเดียวกัน ก็มีข่าวดีออกมาหักกลบจากการที่ธนาคารกลางของจีน ยอมรับว่า ยอดปล่อยสินเชื่อใหม่สกุลเงินหยวนประจำเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 1.533 แสนล้านหยวน เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน สู่ระดับ 1.54 ล้านล้านหยวน

ผลพวงของบรรยากาศเชิงบวก ทำให้ดัชนี SET ขยับขึ้นต่อเนื่องทะลุแนวต้าน 1,580 จุดจากวานนี้ หลังได้รับปัจจัยบวกจากตลาดต่างประเทศที่ล่าสุดประธานเฟด ส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป ประกอบกับได้ปัจจัยหนุนจากการเก็งกำไรผลประกอบการไตรมาส 2/60 ของหุ้นในกลุ่มแบงก์ที่ยัง Laggard รวมถึงหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคในประเทศ (domestic play) ทั้งกลุ่มท่องเที่ยว และเทคโนโลยี ที่น่าจะยังมีแรงซื้อเข้ามาต่อเนื่องด้วย

 ความโลเลของนางเยลเลน เป็นสิ่งที่ไม่น่าประหลาดใจเพราะตัวเลขที่เป็นรูปธรรมในยุคที่ดอกเบี้ยผงกหัวแต่ยังต่ำเป็นความเปราะบางที่ทำให้บรรดา”สายเหยี่ยวพากันขัดใจมาหลายครั้งแล้ว เพราะ ไม่คุ้นชินกับคำว่า “จะขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป” ที่ชินหูอีกครั้งเป็นสร้อยของการปลอบโยนตลาดให้หายจากอาการตื่นตระหนก(ทั้งที่ไม่น่าจะตระหนกอะไรเลยเพียงแต่เป็นเรื่องที่ตลาดไม่ชอบเท่านั้นเอง)

การขึ้นดอกเบี้ยคือการส่งสัญญาณหลายด้านพร้อมกันเสมือนยิงกระสุนนัดเดียวได้นกหลายตัว เพราะดอกเบี้ยคือยาสารพัดนึกของนโยบายการเงิน 

ในทางทฤษฎี ข้อเท็จจริงที่กรรมการเฟด ส่วนใหญ่ไม่ว่าสายเหยี่ยวหรือสายพิราบยืนยันมาตลอด คือ การขึ้นอัตราดอกเบี้ย ไม่เคยทำให้เศรษฐกิจพังพินาศ แต่การคงอัตราดอกเบี้ยต่ำนานเกินไป ทำให้ฟองสบู่ตลาดหุ้นเกิดขึ้น และนำไปสู่ภาวะล่มสลายได้ง่ายกว่า หากการขึ้นดอกเบี้ยจะทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯมีปัญหา จะเกิดขึ้นเพียงระยะสั้นมากเพราะผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนทั้งหลาย จะเข้ามากลบเกลื่อนปัญหาในภายหน้า

จุดเด่นที่ไม่มีใครปฏิเสธได้ของการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย อยู่ที่ทุกครั้งที่มีการขึ้นดอกเบี้ย ค่าดอลลาร์จะแข็งดึงดูดให้ทุนไหลกลับเข้าไปถือดอลลาร์และสินทรัพย์ในรูปดอลลาร์มากขึ้น  ซึ่งเท่ากับทำให้ดุลชำระเงินของสหรัฐยังคงเป็นบวกเสมอมา ซึ่งผลพวงที่ตามมาคือเศรษฐกิจของสหรัฐมีตัวเลขดีเกินจริง

อีกด้านหนึ่งเท่ากับเฟดกลายเป็นผู้กำหนดชะตากรรมทางเศรษฐกิจของโลกผ่านการควบคุมปริมาณเงินดอลลาร์ในตลาดโลก เพื่อให้สัมพันธ์กับราคาน้ำมันในตลาดโลก เท่ากับว่าเฟด มีส่วนร่วมในการกำหนดราคาน้ำมัน และปริมาณปิโตรดอลลาร์ตามไปด้วย

ความโลเลของเฟด จึงส่งผลสะเทือนต่อกระแสฟันด์โฟลว์ไปอย่างเลี่ยงไม่พ้นทั้งทางตรงและอ้อม เพียงแต่ไม่มีใครแกะปริศนาของนางเยลเลนในรอบนี้ออกว่าความจริงแล้ว เป็นกลยุทธ์ หรือ เป็นความสับสนต่อสถานการณ์กันแน่

Back to top button