SPALI ปันผลไม่สู้วอร์แรนต์

ตอนแรกมีคำถามว่า บรรดาคณะกรรมการของ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) หรือ SPALI บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ได้ชื่อว่า จ่ายเงินปันผลมาด้วยดีทุกปี ไม่เคยขาดต่อเนื่องกว่า 15 ปี เกิดอาการ “กินยาผิดซองรวมหมู่” กันหรืออย่างไร จึงมีมติงดจ่ายเงินปันผลปี 2560


แฉทุกวันทันเกมหุ้น

ตอนแรกมีคำถามว่า บรรดาคณะกรรมการของ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) หรือ SPALI บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ได้ชื่อว่า จ่ายเงินปันผลมาด้วยดีทุกปี ไม่เคยขาดต่อเนื่องกว่า 15 ปี เกิดอาการ “กินยาผิดซองรวมหมู่” กันหรืออย่างไร จึงมีมติงดจ่ายเงินปันผลปี 2560 นี้ 1 ปี

หรือว่าเกิดอาเพศที่ผู้ถือหุ้นไม่ทราบล่วงหน้ามาก่อนกับอนาคตระยะอันใกล้ของบริษัทโดยเฉพาะในครึ่งหลังที่ยังคงเหลือของปีนี้…ไม่งั้นจะทำไปทำไม

ความไม่เข้าใจคำชี้แจง ผสมกับความตื่นตระหนก ทำให้เกิดแรงขายกระหน่ำออกมาจากการเผยแพร่ข่าวออกไป ผลลัพธ์คือ ราคาหุ้นวันที่ข่าวออก (12 กรกฎาคม ต่อเนื่องถึงวันถัดมา)…ตามสูตรกลัวไว้ก่อน พ่อสอนไว้

หาได้ล่วงรู้ว่า นี่คือการ “ขายหมู” ครั้งสำคัญ ที่น่าโกรธตัวเอง

หากพิจารณามติของคณะกรรมการ SPALI จะเห็นได้ว่า การงดจ่ายปันผลเป็นแค่ “ไพทุบาย” ของวิศวกรรมการเงินที่ห้ามลอกเลียนแบบ ถ้าไม่แน่จริง

โดยข้อเท็จจริงทางการเงิน  SPALI จัดได้ว่าเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่มีฐานะทางการเงินแข็งแกร่งที่สุดรายหนึ่งของไทย…หากไม่ใช่อันดับหนึ่ง แต่ก็ถือว่าอยู่ที่หัวแถว

กำไรสะสมที่มากกว่า 2.1 หมื่นล้านบาท และอัตรากำไรสุทธิที่ไม่เคยต่ำกว่า 18% ตลอดหลายปีมานี้ เรียกว่า ไม่มีความจำเป็นอันใดเลยที่ต้องงดจ่ายปันผล

หากพิจารณารายละเอียดของการงดจ่ายปันผล ที่ตามมาด้วยมติอื่นๆแล้วจะถึงบางอ้อ…โดยไม่เลยไปถึงบางพลัด

มติของคณะกรรมการ SPALI ซ่อนเงื่อนไขและเจตนาทางบวกให้ผู้ถือหุ้น ดีกว่าการจ่ายปันผลหลายเท่า โดยเฉพาะมติว่าด้วยการออกวอร์แรนต์เพื่อแจกฟรี และการเพิ่มทุนใหม่รองรับวอร์แรนต์

มติคณะกรรมการระบุว่าได้อนุมัติการออกและจัดสรรวอร์แรนต์ฟรี (SPALI-W4) จำนวน 429,138,312 หน่วยให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม อัตราส่วน 4 หุ้นเดิม 1 วอร์แรนต์ มีราคาใช้สิทธิ์ 4 บาท (อัตราส่วน 1:1) อายุ 1 ปี กำหนดการใช้สิทธิครั้งแรกวันที่ 20 ม.ค. 61 และทุก 3 เดือน นับจากวันที่ใช้สิทธิตามใบสำคัญแสดงสิทธิครั้งแรก พร้อมอนุมัติเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 2,145.69 ล้านบาท โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุน 429,138,312 หุ้น เพื่อรองรับการใช้สิทธิ SPALI-W4 ดังกล่าว

หมายความว่า หากราคาหุ้น SPALI อยู่ที่ระดับ 24.00 บาทขึ้นไป เท่ากับจะได้เงินปันผล “พิเศษ” จากการรับวอร์แรนต์ฟรีอย่างน้อย 20.00 บาท หรือ หุ้นละ 5.00 บาท โดยไม่ต้องเสียภาษีเงินปันผลตามปกติแต่อย่างใด…ส่วนในกรณีไม่ต้องการแปลงสิทธิ์ จะขายในกระดานก็มีกำไร

ดีกว่ารับเงินสดปันผลที่หายไปชั่วคราว…หลายเท่า

แถมในการแปลงสิทธิ์หากต้องการถือหุ้นสามัญเพิ่มในอนาคตไม่เกิน 1 ปีข้างหน้า จ่ายเพียงแค่ 4 บาท ก็สามารถทำให้ได้รับหุ้นเพิ่มมากอีก ในราคาแค่ 4 บาท แต่ได้ราคาหุ้นอีกไม่น้อยกว่า 16 -18 บาท

ในมุมขององค์กรธุรกิจ นายประทีป ตั้งมติธรรม ประธานกรรมการบริหาร SPALI อธิบายไว้ชัดเจนว่า การเพิ่มทุน (ครั้งแรกในรอบกว่า 10 ปี) โดยแจกวอร์แรนต์ฟรี บริษัทจะได้รับประโยชน์หลายด้านพร้อมกันถึง 5 ข้อ คือ 1) ระดมทุนเพื่อขยายมาร์เก็ตแค็ป และทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าจะได้เงินสดเข้ามาประมาณ 3.4 พันล้านบาท 2) หุ้นมีสภาพคล่องมากขึ้น หลังจาก SPALI 3) รักษาระดับอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนให้อยู่ระดับที่เหมาะสม 4) เพิ่มเงินทุนสำรองในการขยายกิจการบริษัท ให้มีภาพลักษณ์ที่ดีในมุมมองของสถาบันการเงิน 5) ภาระหนี้ที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยลดลง

ในความเห็นของซีอีโอประทีปแล้ว วอร์แรนต์คือ รางวัลพิเศษจาก SPALI มอบให้กับท่านผู้ถือหุ้นแทนเงินปันผล เพราะ “ดีกว่าและได้มากกว่าปันผลปกติ” โดยเฉพาะช่วงครึ่งแรกปีนี้ SPALI ขายได้มากกว่าปีที่แล้ว 30% แถมกำไรสุทธิต่อยอดขาย และสัดส่วนทางการเงินยังคงเกาะกลุ่มดีที่สุดในหุ้นอสังหาริมทรัพย์มาตลอด

ปัญหาคือ นักวิเคราะห์หลายสำนักยังเลือกที่จะมองต่างมุมจากซีอีโอประทีป และเกิดอาการ “เสียงแตก” ขึ้น เพราะกลุ่มหนึ่งมองทางบวกว่า การงดจ่ายปันผลเป็นออกวอร์แรนต์แทน จะทำให้ SPALI สามารถเก็บเงินเพื่อใช้ลงทุนในอนาคตและอายุ SPALI-W4 เพียง 1 ปี จะมีผลกระทบบางส่วนในแง่จำนวนหุ้นเพิ่มขึ้นไม่มากนัก….แต่อีกฝั่งหนึ่งมองทางลบสุดขั้วว่า หากมีการใช้สิทธิ์แปลงสภาพ SPALI-W4  ในอนาคต จะส่งผลให้ราคาหุ้นลดลง 17% และสัดส่วนผู้ถือหุ้นลดลง 20% จะทำให้พี/อีเพิ่มขึ้น ลดความน่าสนใจของหุ้นลงไปในทุกด้าน…สุดแท้แต่จินตนาการ

การที่นักลุงทุนผู้ถือหุ้นได้ “ปันผลพิเศษ” หุ้นละประมาณ 5.00 บาท แถมถ้าจ่ายเพิ่มอีกครั้งเพื่อแปลงสิทธิ์วอร์แรนต์เป็นหุ้นสามัญอีก 4.00 บาทต่อวอร์แรนต์ ก็ยังจะได้หุ้นใหม่ราคา 16-18 บาท ได้กำไรอีกหุ้นละ 12-14 บาท  ถามว่าจะแย่กว่าเงินปันผลตรงไหน…นักวิเคราะห์ไม่ได้อธิบาย และไม่ยอมรับรู้ข้อมูลนี้…มันแปลกดีนะ ๆๆๆๆๆ

ไม่รู้ว่าเป็นไปตามสูตร “ได้คืบ จะเอาศอก” รึเปล่า

อิ อิ อิ

Back to top button