BGRIM แรงเว่อร์! ลุ้นวิ่งแตะเป้า 20 บ. มั่นใจพื้นฐานแน่นโตไม่ยั้ง

BGRIM แรงเว่อร์! เข้าเทรดวันแรก (19 ก.ค.) ลุ้นวิ่งแตะเป้า 20 บาท จากราคา IPO ที่ 16 บาท มั่นใจพื้นฐานแน่น จากการเข้าลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าทั้งสิ้น 43 โครงการ รวมเป็นทั้งสิ้น 2,357 เมกะวัตต์ ช่วยดันธุรกิจเติบโตไม่ยั้ง


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้ (19 ก.ค.) บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM จะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในกลุ่มอุตสาหกรรมทรัพยากร หมวดธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภค โดยมีหุ้นจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จำนวน 2,541,800,000 หุ้น เป็นหุ้นชำระแล้ว 2,541,800,000 หุ้น พาร์หุ้นละ 2 บาท คิดเป็นทุนชำระแล้ว 5,083,600,000 บาท

โดย BGRIM ได้เสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวน 651,800,000 หุ้น ที่ราคา IPO หุ้นละ 16 บาท และมีจำนวนหุ้นสำหรับการจัดสรรส่วนเกิน (Green Shoe Option) จำนวนไม่เกิน 65,100,000 หุ้น ซึ่งมีผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายหุ้น IPO ประกอบด้วย บล.กสิกรไทย บล.บัวหลวง และ บล.ภัทร

 

ด้านนางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BGRIM เปิดเผยว่า การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการขยายธุรกิจพลังงานให้เต็มศักยภาพ และเป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศผ่านการสร้างความมั่งคงทางด้านพลังงาน โดยบริษัทมีแผนที่จะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้า SPP (Small Power Producer) และโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ทั้งในประเทศและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง รวมถึงจะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้ไปชำระคืนเงินกู้ยืม และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน

ขณะที่ BGRIM มีผู้ถือหุ้นใหญ่ 3 ลำดับแรกหลัง IPO ได้แก่ กลุ่มนายฮาราลด์ ลิงค์ ถือหุ้น 71.8% CIMB SECURITIES (SINGAPORE) PTE. LTD. ถือหุ้น 8.6% และ Deutsche Bank AG, Hong Kong Branch ถือหุ้น 3.9% การกำหนด

สำหรับราคาเสนอขายหุ้น IPO มาจากการสำรวจความต้องการซื้อหลักทรัพย์ของนักลงทุนสถาบัน (book building) โดยคิดอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E Ratio) ที่ 26.0-28.7 เท่า โดยคำนวณจากกำไรสุทธิในช่วง 12 เดือนย้อนหลัง (ตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2559 ถึงไตรมาส 1 ปี 2560) หารด้วยจำนวนหุ้นทั้งหมด (ไม่รวมหุ้นส่วนเกิน) ภายหลังการเสนอขายหุ้นครั้งนี้ คิดเป็นกำไรสุทธิต่อหุ้นเท่ากับ 0.58 บาท

ทั้งนี้บริษัทมีนโยบายการจ่ายเงินปันผลในอัตราไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิปรับปรุง (กำไรสุทธิไม่รวมผลกำไร/ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังไม่เกิดขึ้น) ตามงบการเงินรวมของบริษัทฯ หลังหักภาษีเงินได้นิติบุคคล ทุนสำรองต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนด และภาระผูกพันตามเงื่อนไขของสัญญาเงินกู้

ขณะที่ปัจจุบัน บี.กริม เพาเวอร์ ลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าจำนวนทั้งสิ้น 43 โครงการ ได้แก่ โรงไฟฟ้าที่เปิดให้ดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว 28 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 1,626 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 5 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 419.1 เมกะวัตต์ และโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาอีก 10 โครงการ กำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวม 338.5 เมกะวัตต์ รวมเป็นทั้งสิ้น 2,357 เมกะวัตต์ ภายในปี 64 ขณะที่มีแผนจะขยายเข้าสู่เป้าหมายมีกำลังผลิตไฟฟ้าในมือ 5,000 เมกะวัตต์ในระยะ 4-5 ปีข้างหน้า

สำหรับในช่วง 5 ปี (ปี 60-64) มีโรงไฟฟ้าทยอยเปิดให้ดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) 15 โครงการ ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ เซน้ำน้อย 2-เซกะตำ 1 ในลาว ขนาดรวม 20 เมกะวัตต์ คาดว่าจะ COD ภายในสิ้นเดือน ก.ค. 60 ขณะที่จะมีโรงไฟฟ้าที่ COD ในปี 61 รวม 414 เมกะวัตต์ ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม ABPR3 ABPR4 และ ABPR5 ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ กำลังการผลิตรวม 399 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำแจ 1 ในลาว กำลังการผลิต 15 เมกะวัตต์

ส่วนโรงไฟฟ้าที่จะ COD ในปี 62 ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำคาว 1-5 ใน สปป.ลาว กำลังการผลิตรวม 68 เมกะวัตต์ ,ปี 63 ได้แก่  โรงไฟฟ้าพลังงานลม บ่อทอง 1 และ 2 กำลังการผลิตรวม 16 เมกะวัตต์ และปี 64 ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม BGPR1 และ BGPR2 ในนิคมอุตสาหกรรม วี.อาร์.เอ็ม. กำลังการผลิตรวม 240 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ บริษัทยังมีโครงการผลิตไฟฟ้าที่อยู่ในแผนแต่ยังไม่ได้รับสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังน้ำเซกอง 4 ในลาว ขนาดประมาณ 350 เมกะวัตต์ ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการเจรจาเสนอขายไฟฟ้าแล้ว รวมถึงแผนที่จะเข้าลงทุนในโครงการ SPP Hybrid Firm และธุรกิจติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปบนหลังคาโรงงานลูกค้าของบริษัท พร้อมเทคโนโลยี Energy Storage เพื่อช่วยลดความต้องการใช้ไฟฟ้าในช่วงความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (peak)  รวมถึงโครงการโซลาร์ฟาร์มสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร  ระยะที่ 2

พร้อมทั้งเตรียมความพร้อมที่จะพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้า SPP ซึ่งมีกำลังการผลิตไฟฟ้าโรงละ 140 เมกะวัตต์ เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าเดิมอีก 3 โครงการที่จะหมดอายุ ตลอดจนศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศมาเลเซีย และการผลิตไฟฟ้าในประเทศกัมพูชา รวมถึงประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนอีกด้วย

ด้าน นายสมเกียรติ พงศ์ปิยะไพบูลย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ พัฒนาธุรกิจและการพาณิชย์ ของ BGRIM เปิดเผยว่า คาดว่าปีนี้บริษัทจะได้รับสัญญา PPA เข้ามาเพิ่มเติมอีกราว 500 MW โดยโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซกอง 4 ขนาด 350 เมกะวัตต์ ซึ่งจะขายไฟฟ้ากลับมายังไทยจะสามารถเซ็นสัญญา PPA ได้ใน 1-2 เดือนนี้ ,โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำทัดสะกอย ในลาว ขนาด 30 เมกะวัตต์ ขณะนี้ได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ EDL ในลาวแล้ว

นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างการเจรจาสัญญาสัมปทานกับรัฐบาลลาว คาดว่าจะสรุปได้ใน 1-2 เดือนเช่นกัน ,โครงการโซลาร์ฟาร์มสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร ระยะที่ 2 ซึ่งเบื้องต้นได้เข้าร่วมกับองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก จำนวน 8 โครงการ รวม 37.6 เมกะวัตต์ โดยในส่วนนี้คาดว่าจะได้สัญญาแน่นอน 24 เมกะวัตต์ ขณะเดียวกันยังมีโอกาสที่จะได้ร่วมสนับสนุนกลุ่มสหกรณ์เข้าร่วมเป็นเจ้าของโครงการอีก 75 โครงการ เป็นต้น

ขณะเดียวกันยังมองโอกาสการเข้าลงทุนในโครงการโซลาร์รูฟท็อปเสรีที่รัฐบาลจะเปิดรับซื้อในอนาคต ตลอดจนโครงการโซลาร์รูฟท็อปบนหลังคาโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม รวมถึงโครงการโซลาร์มฟาร์มในมาเลเซีย โครงการผลิตไฟฟ้าในเมียนมา และเวียดนาม เป็นต้น ทำให้คาดว่าเป้าหมายกำลังการผลิตไฟฟ้าในมือที่ตั้งไว้ 5,000 เมกะวัตต์จะทำได้ในเวลาไม่นาน

ส่วนโครงการพัฒนาโรงไฟฟ้า SPP จำนวน 3 โรง ขนาดกำลังการผลิตราว 140-150 เมกะวัตต์/โรง ซึ่งจะเข้ามาทดแทนโรงไฟฟ้าเดิมที่จะหมดอายุในช่วงปี 62-65 นั้น บริษัทคาดว่าจะเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าใหม่กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ภายใน 1-2 เดือนข้างหน้า

โดยในส่วนนี้จะเสนอขายให้ กฟผ. 30 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลือจะเสนอขายให้กับลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้าอยู่จำนวนหนึ่งแล้ว โดยขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการประมูลหาผู้รับเหมาก่อสร้างในโครงการ SPP ทดแทน 3 โรง พร้อมกับโครงการ SPP ใหม่อีก 2 โรง ซึ่งมีกลุ่มจีอี และซีเมนส์ เสนอราคาเข้ามาด้วยต้นทุนที่ลดลงกว่าที่บริษัทเคยพัฒนาโครงการ SPP ในรุ่นแรกๆ ขณะที่เครื่องกำเนิดไฟฟ้ามีประสิทธิภาพมากกว่าเดิมค่อนข้างมาก

ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทมีโครงการ SPP ในมือทั้งสิ้น 18 โรง และเชื่อว่าในอนาคตเมื่อโครงการหมดสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ.ก็เชื่อว่ารัฐบาลจะให้มีการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้า SPP ทดแทนต่อไป แม้ปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าอาจจะลดลงจากเดิม แต่บริษัทก็มีกลุ่มลูกค้าในนิคมฯซึ่งมีการขยายงานต่อเนื่องรองรับอยู่แล้ว

อนึ่ง BGRIM ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) โดยมีบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (แหลมฉบัง) 1 จำกัด เป็นบริษัทแกน บริษัทประกอบธุรกิจหลักด้านการผลิตและขายไฟฟ้า ไอน้ำ และธุรกิจที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ

 

สำหรับผลประกอบการประจำปี 59 บริษัทมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 1.38 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,706% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 36.26 ล้านบาท ขณะที่ ผลประกอบการงวดไตรมาส 1/60 บริษัทมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 679.03 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 595.52 ล้านบาท

 

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวรายหนึ่ง เปิดเผยกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ว่าราคาหุ้น BGRIM เข้าซื้อขายในวันแรก (19 ก.ค.) มีแนวโน้มปรับตัวขึ้นถึง 20 บาท จากราคา IPO ที่ 16 บาท โดยคำนวณจากค่า P/E ที่ระดับ 14 เท่า และกำไรต่อหุ้นที่ 1.44 บาท

โดยมองว่า BGRIM มีพื้นฐานที่ค่อนข้างมั่นคง จากการที่ BGRIM เข้าลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าจำนวนทั้งสิ้น 43 โครงการ โดยจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์แล้ว 28 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 1,626 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 5 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 419.1 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างการพัฒนาอีก 10 โครงการ นอกจากนี้ยังวางแผนเข้าร่วมประมูลโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มเติม ซึ่งคาดว่าจะมีโอกาสได้รับงานเพิ่ม ซึ่งจะช่วยหนุนผลการดำเนินงานให้เติบโตขึ้นได้ในระยะยาว

Back to top button