ส่อง 9 หุ้นเสี่ยงเจอแรงกดดันเงินบาทแข็งค่า หวั่นฉุดรายได้ลดฮวบ!

ในภาวะเงินบาทแข็งค่ามาอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นปัจจัยบวกสำหรับบริษัทจดทะเบียนดำเนินธุรกิจโดยการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ เนื่องจากจะมีต้นทุนที่ถูกลง แต่สำหรับหุ้นกลุ่มส่งออกที่มีรายได้เป็นสกุลเงินต่างประเทศนั้น ถือเป็น “ฝันร้าย"


ในภาวะเงินบาทแข็งค่ามาอย่างต่อเนื่อง หากนับตั้งแต่ปลายปี 2559 ค่าเงินบาทอยู่ที่ 35.81 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ จนถึงปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ 33.63 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นการแข็งค่าขึ้น 2.18 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ถือเป็นปัจจัยบวกสำหรับบริษัทจดทะเบียนดำเนินธุรกิจโดยการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ เนื่องจากจะมีต้นทุนที่ถูกลง แต่สำหรับหุ้นกลุ่มส่งออกนั้น ถือเป็น “ฝันร้าย” เนื่องจากกลุ่มดังกล่าวมีรายได้เกือบทั้งหมดเป็นสกุลเงินต่างประเทศ และทุกๆการแข็งค่าของเงินบาทย่อมส่งผลกระทบต่อรายได้และกำไรของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ และอาจนำไปสู่การขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ในที่สุด

ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์ จึงได้ทำการสำรวจข้อมูลบทวิเคราะห์ของบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มเกษตรและอาหารที่เป็นหุ้นส่งออก ซึ่งมีรายได้ส่วนใหญ่เป็นดอลล่าร์ และจะได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าว พบว่ามีทั้งหมด 9 บจ. ดังนี้  HANA ,DELTA ,KCE ,SVI ,STA ,KSL ,TU ,CPF และGFPT

โดย บล.เอเซีย พลัส ระบุในบทวิเคราะห์ (19 ก.ค.60) โดยมองว่าค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างรวดเร็ว น่าจะกดดันประสิทธิภาพการทำกำไรหุ้นส่งออก (ชิ้นส่วนฯ และ เกษตร-อาหาร)

สำหรับกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากมีรายได้เกือบทั้งหมดเป็นสกุลเงินต่างประเทศ แต่มีต้นทุนเป็นสกุลเงินต่างประเทศในสัดส่วนที่น้อยกว่า โดยจากการศึกษาของฝ่ายวิจัยพบว่าทุกๆ 1 บาท ที่ค่าเงินบาทแข็งค่ากว่าสมมติฐานค่าเงินบาทเฉลี่ยปี 2560 ที่ 35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ จะส่งผลกระทบต่อคาดการณ์กำไรสุทธิกลุ่มชิ้นส่วนฯให้ลดลง 5.8% จากปัจจุบัน  คือ HANA (FV@B57) รายได้ 100% เป็นสกุลดอลลาร์สหรัฐ แต่ต้นทุนเป็นสกุลดอลลาร์ 60% อีก 40% สกุลบาท  ดังนั้นทุก 1 บาทที่แข็งค่าจะกระทบต่อประมาณการกำไรปี 2560  6.2%

ขณะที่ DELTA (FV@B78) รายได้ 71% เป็นสกุลดอลลาร์สหรัฐ  12% สกุลยูโร 11%รูปีอินเดีย และอื่นๆ 6% ขณะที่ ต้นทุนเป็นสกุลดอลลาร์ 50% และสกุลยูโร  20% อีก 30%  สกุลบาท  ดังนั้นทุก 1 บาทที่แข็งค่าจะกระทบต่อประมาณการกำไรปี 2560  5.7%

นอกจากนี้ KCE (FV@B90) รายได้ 70% เป็นสกุลดอลลาร์สหรัฐ   และ 20% สกุลยูโร  และ 10% สกุลบาท  ขณะที่ต้นทุนสกุลดอลลาร์ 50% และ  20% สกุลยูโร   ดังนั้นทุก 1 บาทที่แข็งค่าจะกระทบต่อประมาณการกำไรปี 2560  5.5% และสุดท้าย

ด้าน SVI ([email protected]) รายได้ 70% เป็นสกุลดอลลาร์สหรัฐ   และ 30% สกุลยูโร  ขณะที่ต้นทุนสกุลดอลลาร์ 50% และ  20% สกุลยูโรดังนั้นทุก 1 บาทที่แข็งค่าจะกระทบต่อประมาณการกำไรปี 2560 5.2%

นอกจากนี้การแข็งค่าของเงินบาทดังกล่าว อาจส่งผลกระทบต่อแนวโน้มผลการดำเนินงานกลุ่มเกษตร-อาหารในปี 2560 เนื่องจากมีสัดส่วนรายได้สกุลเงินสหรัฐฯ มากกว่าต้นทุนในการผลิต โดยต้นทุนส่วนใหญ่เป็นสกุลเงินบาท จากการศึกษาของฝ่ายวิจัยพบว่าทุกๆ 1 บาทที่แข็งค่าจากสมมติฐานค่าเงินบาทเฉลี่ยปี 2560 ที่ 35 บาท/เหรียญ จะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มกำไรสุทธิกลุ่มเกษตร-อาหารปี 2560 ให้ลดลง 4.4% จากคาดการณ์ปัจจุบัน โดยหุ้นที่ได้รับผลกระทบมากสุด เรียงตามลำดับ คือ STA (ทุกๆ 1 บาทที่แข็งค่า กำไรสุทธิลดลง 7.2%) ตามด้วย KSL (กระทบกำไรสุทธิ 6.7%)

ส่วน TU ทุกๆ 1 บาทที่แข็งค่า กำไรสุทธิลดลง 5.5% เนื่องจากมีสัดส่วนรายได้เป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ราว 69% ของรายได้รวม ขณะที่มีต้นทุนการผลิตเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯราว 50% ของรายได้รวม ซึ่งต้นทุนที่แพงขึ้นไม่สามารถชดเชยด้วยการปรับขึ้นราคาขายได้ จึงกระทบกำไรสุทธิดังกล่าว

ส่วน CPF ทุกๆ 1 บาทที่แข็งค่า กำไรสุทธิลดลง 4.9% อย่างไรก็ตาม สัดส่วนรายได้ที่มีจากการส่งออกของ CPF ไม่มากนัก อีกทั้งราคาหุ้นปรับลงมามากแล้ว สะท้อนประเด็นข่าวที่ CPF ต้องรับรู้ส่วนแบ่งขาดทุน บ.ย่อยในฮ่องกงในไตรมาส 2/60 สาเหตุหลักมาจากปัญหาสุกรล้นตลาดในประเทศเวียดนาม รวมทั้งประเด็นการเพิ่มทุน ราคาที่ลดลงจึงถือเป็นโอกาสทยอยสะสม

ขณะที่ GFPT ได้รับผลกระทบไม่มากนัก โดยทุกๆ 1 บาทที่แข็งค่า กำไรสุทธิลดลง 2.4% เช่นเดียว BR ได้รับผลกระทบไม่มากเช่นกัน โดยทุกๆ 1 บาทที่แข็งค่า กำไรสุทธิลดลงเพียง 0.3% เท่านั้น

ตรงข้ามกับ TFG ได้ประโยชน์จากการแข็งค่าของเงินบาท โดยทุกๆ 1 บาทที่แข็งค่า กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 3.8% เนื่องจาก รายได้ที่มาจากการส่งออกคิดเป็น 13% ของรายได้รวมปี 2560 ขณะที่กากถั่วเหลืองที่นำเข้าจากต่างประเทศเพื่อเป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตอาหารสัตว์ คิดเป็น 24% ของรายได้รวมปี 2560 ดังนั้น จึงเป็นประเด็นที่สามารถนำมาเก็งกำไรช่วงสั้นได้

 

*ทั้งนี้ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ การตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน

Back to top button