พาราสาวะถี

เวทีสาธารณะเพื่อชี้แจงร่างสัญญาประชาคมเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ซึ่งจัดขึ้นที่สโมสรกองบัญชาการกองทัพภาคที่ 1 เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา มีคำถามจากปากของ วรัญชัย โชคชนะ นักเคลื่อนไหวที่ถูกมองว่าไร้เครดิต ซึ่งปุจฉาที่เขาโยนขึ้นไปบนเวทียังนายทหารใหญ่อย่าง พลโทกู้เกียรติ ศรีนาคา แม่ทัพน้อยที่ 1 นั่งเป็นประธานนั้นน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง


อรชุน

เวทีสาธารณะเพื่อชี้แจงร่างสัญญาประชาคมเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ซึ่งจัดขึ้นที่สโมสรกองบัญชาการกองทัพภาคที่ 1 เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา มีคำถามจากปากของ วรัญชัย โชคชนะ นักเคลื่อนไหวที่ถูกมองว่าไร้เครดิต ซึ่งปุจฉาที่เขาโยนขึ้นไปบนเวทียังนายทหารใหญ่อย่าง พลโทกู้เกียรติ ศรีนาคา แม่ทัพน้อยที่ 1 นั่งเป็นประธานนั้นน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

บทนำที่เขียนในร่างสัญญาประชาคม ที่ว่าให้มีความรู้ความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง ตนคิดว่าประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตยพอสมควร มีมากด้วย แต่อยากทราบว่าท่านน่ะ (หมายถึงทหาร) มีความรู้ความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตยขนาดไหน ท่านจะคืนประชาธิปไตยให้หรือไม่ และจะคืนให้เมื่อไหร่

ท้าทายและแหลมคมเป็นอย่างยิ่ง แต่แน่นอนว่าสิ่งที่วรัญชัยถามไปนั้นก็ไร้คำตอบ คงเป็นไปในแบบเดียวกันกับประเด็นปฏิรูปกองทัพ ที่ผู้ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงอย่างสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศหรือสปท. ไม่เคยมีใครแม้แต่รายเดียวกล้าที่จะออกมาพูดหรือเสนอว่า จะมีการปฏิรูปกองทัพอย่างไร ทุกอย่างจึงจบด้วยคำพูดของบรรดาผู้นำรัฐบาล คสช.และกองทัพทั้งหลายว่า กองทัพมีการปฏิรูปอยู่ตลอดเวลา

ทั้งๆที่หากกองทัพที่ผ่านกระบวนการปฏิรูปมาจริง จะต้องเป็นกองทัพอาชีพที่นำตัวเองออกไปพ้นเส้นทางทางการเมือง ไม่เข้ามาข้องแวะและไม่ทำการรัฐประหารรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่ผลจากห้วงระยะเวลา 8 ปีที่ประเทศไทยเกิดการรัฐประหาร 2 ครั้งเป็นคำตอบได้ดีว่า กองทัพนั้นได้ผ่านกระบวนการปฏิรูปแล้วจริงหรือไม่

ไม่มีแม้แต่ความคิดที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนี่คือความเป็นจริง เมื่อฝ่ายที่เรียกร้องให้คนอื่นหรือองคาพยพต่างๆเกิดการปฏิรูปและมีการวางยุทธศาสตร์ยาวนานถึง 20 ปี กลับไม่ปฏิรูปตัวเอง แล้วเช่นนี้มันจะมีความหวังในเรื่องของการเดินหน้าปรองดอง และให้ทุกอย่างเป็นไปตามสัญญาประชาคมที่อยากให้ทุกคนร่วมมือร่วมใจกันได้อย่างไร

ท่าทีของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่อการตอบคำถามเรื่องความรับผิดชอบหากการสร้างความปรองดองตามสัญญาประชาคมไม่สำเร็จ เป็นตัวบ่งบอกได้อย่างดี ทัศนคติของผู้นำที่ยังคงมีอคติต่อคนบางคนบางพวก มันก็ยากที่จะทำให้คนบางพวกบางคนเหล่านั้น จะไว้เนื้อเชื่อใจท่านผู้นำได้ เพราะท้ายที่สุดทุกอย่างมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับเสียงส่วนใหญ่หรือความเห็นของประชาชน แต่มันอยู่ที่แป๊ะ

ไม่เพียงเท่านั้น คำให้สัมภาษณ์ของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่สนับสนุนสัญญาประชาคม 10 ข้อ ก็ยังมีการบอกอีกว่ายังไม่เห็นข้อเสนออีก 15 ประเด็นที่บิ๊กตู่จะเพิ่มมาในสัญญาประชาคม เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็เท่ากับว่าจะมีส่วนที่งอกออกมาจากข้อเสนอของเวทีรับฟังความเห็นที่เดินสายกันไปทั่วประเทศ หากประเด็นที่เพิ่มเติมมาไม่เป็นที่ยอมรับจะทำอย่างไร เท่ากับเป็นการมัดมือชกหรือไม่

ด้วยเหตุนี้ความเห็นของ อดิศร เนาวนนท์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา จึงเป็นเรื่องที่ชวนให้คิดกันต่อ สาระที่ได้จากร่างสัญญาประชาคมทั้ง 10 ข้อนี้ ไม่ได้มีลักษณะที่จะบอกว่าจะนำไปสู่ความสำเร็จในการทำให้คนในชาติเกิดความสามัคคีปรองดองได้อย่างไร เพราะยังเป็นนามธรรม หรือเป็นแค่จินตนาการอย่างเดียว

ไม่มีกลยุทธ์ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จได้อย่างเป็นรูปธรรม และมีลักษณะที่กว้างกว่าโจทย์ที่จะทำให้คนในชาติปรองดองได้ ดังนั้น จึงไม่เห็นประโยชน์ว่าสัญญาประชาคมทั้ง 10 ข้อนี้จะสามารถนำไปสู่ความปรองดองของคนในชาติได้อย่างไร ขณะเดียวกัน คนที่เข้าร่วมเวทีสาธารณะ สังเกตเห็นว่าทุกคนมีแต่ความอึดอัดใจ

ทั้งๆที่เวทีนี้อยากให้ไปเสนอข้อเสนอแนะในการชี้ช่องทางหรือเสนอกลยุทธ์ที่จะทำให้ประสบความสำเร็จ แต่วิธีการดำเนินการคนที่ไปเข้าแถวรอพูด ส่วนใหญ่พูดถึงแต่ความเดือดเนื้อร้อนใจในผลประโยชน์ของกลุ่มตนเองเป็นที่ตั้งทั้งนั้น เพื่อที่จะฟ้องท่านผู้นำให้ช่วยจัดการให้หน่อย มีน้อยมากที่จะเสนอแนะกลยุทธ์สู่ความสำเร็จในการปรองดองสามัคคีของคนในชาติ

เมื่อเป็นเช่นนั้น วิธีการจึงมีความคลาดเคลื่อนไปทั้งหมด เหมือนการขี่ช้างจับตั๊กแตน คือทำสักแต่ขอให้ผ่านๆไป เพื่อให้ได้ข้อสรุปว่าได้มีการดำเนินการหาวิธีปรองดองให้กับคนในชาติแล้ว เราต้องย้อนไปตั้งโจทย์วิเคราะห์ให้ชัดเจนก่อนว่า อะไรที่ทำให้คนในชาติบ้านเมืองเกิดความแตกแยก ไม่มีความสามัคคีปรองดองกัน

ในความเห็นของอดิศรมีขอเสนอว่า มาตรการระยะสั้น ในที่นี้รัฐต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ทั่วถึง เป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ สัญญาประชาคมที่ยกร่างขึ้น นอกจากจะมีในส่วนของสัญญาที่ประชาชนต้องปฏิบัติแล้ว ทหารก็ต้องกล้าที่จะเขียนสัญญาลงไปด้วยว่า ต่อไปนี้ทหารจะไม่เข้ามายึดอำนาจอีกแล้ว

อีกประการที่สำคัญและท่านผู้นำก็บ่นไปเมื่อวันแถลงข่าวหลังครม.เรื่องการชุมนุมเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมือง ที่ระบุว่าต้องไม่ทำผิดกฎหมายและสร้างปัญหาจราจร โดยลืมไปว่ากลุ่มที่โบกมือดักกวักให้คสช.ทำการรัฐประหารนั่นแหละที่มีพฤติกรรมตามที่ท่านว่า มิหนำซ้ำ ยังมีพฤติกรรมละเมิดกฎหมายชนิดที่ไม่มีม็อบที่ใดในโลกนี้ทำได้อย่างแน่นอน

ด้วยเหตุนี้ข้อเสนอที่ว่า ประชาชนต้องพร้อมที่จะยอมรับในระบบเลือกตั้งและการบริหารในระบบรัฐสภา ต้องไม่มีการปลุกปั่นเดินขบวนอีก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนทั้งประเทศ จึงเป็นสิ่งที่ต้องให้ฝ่ายสร้างวิกฤติเทียม เป็นผู้ลงนามในสัญญาประชาคมประเด็นนี้เอง แต่ปัญหาก็คือ คนเหล่านั้นจะยอมรับหรือไม่ว่าเป็นตัวสร้างปัญหา

ต้องไม่ลืมว่าเวลานี้ก็มีจำนวนไม่น้อยที่ไปนั่งหน้าสลอนในแม่น้ำ 5 สาย และอีกจำนวนไม่น้อยเช่นเดียวกันก็รอรับส่วนบุญจากการจะได้รับแต่งตั้งให้เข้ามาทำหน้าที่ทั้งในองค์กรอิสระและส.ว.ลากตั้ง 250 ตำแหน่ง สรุปได้ว่า ปรองดองที่จะเกิดขึ้นตามสัญญาประชาคมที่ว่านั้น น่าจะเป็นการสงบศึกชั่วครูชั่วยาม เพราะไม่มีกล้าใครการันตีบ้านเมืองหลังเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร แม้กระทั่งเรื่องรัฐประหารคนที่มีอำนาจเต็มเวลานี้และคาดว่าจะมีอำนาจต่อไปยังไม่กล้ายืนยัน

Back to top button