เศรษฐกิจอันเปราะบาง

คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. เทียบได้กับ FOMC ของเฟดแห่งสหรัฐฯ และพยายามทำบทบาทคล้ายกัน แต่มีอิทธิพลต่ำมากต่อตลาดเพราะว่า เศรษฐกิจไทยนั้นมีขนาดเล็กเกินไป จนเกินกว่าจะเป็นผู้ควบคุมกลไกตลาดได้เต็มที่


พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล

คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. เทียบได้กับ FOMC ของเฟดแห่งสหรัฐฯ และพยายามทำบทบาทคล้ายกัน แต่มีอิทธิพลต่ำมากต่อตลาดเพราะว่า เศรษฐกิจไทยนั้นมีขนาดเล็กเกินไป จนเกินกว่าจะเป็นผู้ควบคุมกลไกตลาดได้เต็มที่

เมื่อวานนี้ กนง. เปิดเผยรายงานการประชุมประจำเดือนของ กนง. เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งนอกจากเรื่องของมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% ที่รับรู้กันโดยทั่วไปแล้ว ยังมีความเห็นที่น่าสนใจตามมาที่สะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยยังมีความเปราะบางอย่างมาก

กนง. ได้เห็นพ้องความจำเป็นในการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนปรนเพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่อง ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพการเงินของประเทศ แม้จะปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปีนี้เพิ่มเป็น 3.5% ตามการส่งออกฟื้นตัวดี แต่อัตราเงินเฟ้อยังต่ำกว่ากรอบ และคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลง อีกทั้งกังวลว่าสถานการณ์แรงงานต่างด้าวอาจกระทบธุรกิจและความสามารถการชำระหนี้ของ SMEs ในขณะที่การไหลเข้าของฟันด์โฟลว์ยังจะดำเนินต่อไปให้ค่าบาทแข็งขึ้นเทียบกับดอลลาร์

รายละเอียดของ กนง. สรุปโดยย่นย่อได้ดังนี้

  • เศรษฐกิจไทยในปี 2560 มีแนวโน้มขยายตัวชัดเจนและดีกว่าประมาณการเดิม โดยได้ปรับขึ้นประมาณการจีดีพีปีนี้เป็น 3.5% จากเดิมที่ 3.4% หลังจากการส่งออกสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นมากกว่าคาด ช่วยชดเชยการลงทุนภาครัฐบางส่วนที่ล่าช้าบ้าง แต่อาจมีปัญหาการส่งออกยางไปจีนอาจชะลอลง ทำให้ราคายางพาราลดลง และ ปัญหาเชิงโครงสร้างในอุตสาหกรรมรถยนต์ที่มีการขยายกำลังการผลิตของประเทศในภูมิภาคมากขึ้น
  • ส่วนการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป
  • การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้เดิม
  • อัตราเงินเฟ้อในระยะต่อไปจะลดลงเริ่มตั้งแต่ช่วง 5 เดือนแรกของปี 2560 ต่ำกว่าคาด จึงปรับลดประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2560 และปี 2561 มาที่เฉลี่ย 0.8% และ 1.6% ตามลำดับ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 2560 และปี 2561 ลดลงเช่นกันมาที่เฉลี่ย 0.6% และ 0.9% แม้ว่าความเสี่ยงจากนโยบายจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวอาจส่งผลให้ตลาดแรงงานตึงตัว ส่งผลทำให้ต้นทุนค่าจ้างของภาคธุรกิจปรับสูงขึ้น โดยเฉพาะภาคการผลิต ก่อสร้าง และบริการ แต่แรงกดดันด้านลบจากปัจจัยเชิงโครงสร้างในระยะข้างหน้า อาทิ การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตน้ำมันจากชั้นหินดินดาน (shale oil) หรือบทบาทของการค้าผ่าน E-commerce อาจทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้นช้ากว่าคาด
  • การขยายตัวของสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ยังอยู่ในระดับต่ำ โดยภาคธุรกิจยังระดมทุนจากตลาดตราสารหนี้ต่อเนื่อง ขณะที่อัตราการใช้วงเงินสินเชื่อธุรกิจเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยเฉพาะในกลุ่มวงเงินขนาดใหญ่ แต่คุณภาพสินเชื่อด้อยลง โดยมีสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ต่อสินเชื่อรวมที่เพิ่มขึ้นในทุกประเภท แต่ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินสำรองและเงินกองทุนอยู่ในระดับสูง จึงสามารถรองรับความเสี่ยงจากคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลง

  • SMEs ในหลายอุตสาหกรรม ซึ่งได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัย เช่น การขาดความสามารถในการแข่งขัน กำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังไม่ฟื้นตัวชัดเจน และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลง โดยที่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ของ SMEs ได้รับความสำคัญน้อยกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ ส่งผลให้ NPL ของ SMEs ปรับลดลงได้ช้ามาก
  • ความเชื่อมั่นในตลาดการเงินโลกปรับตัวดีขึ้น จากการปรับลดระดับการผ่อนคลายของนโยบายการเงินในกลุ่มประเทศ G3 จะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ส่งผลให้มีเงินทุนไหลเข้าประเทศในภูมิภาค โดยเฉพาะในตลาดพันธบัตรมากเกินคาด ทำให้เงินทุนจะยังไหลเข้าตลาดการเงินไทย เพราะไทยมีเสถียรภาพอยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้การบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนมมีความสำคัญกว่าปกติ

สำหรับ ปี 2561 กนง.คาดว่า จีดีพีจะขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ 3.7% โดยมีแรงขับเคลื่อนจากทั้งการลงทุนภาครัฐและการใช้จ่ายในประเทศ ขณะที่การส่งออกยังขยายตัวต่อเนื่อง แต่คาดว่าจะชะลอลงบ้างในระยะต่อไป ส่วนหนึ่งจากการชะลอตัวของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในจีน ประกอบกับปัจจัยในประเทศที่กำลังซื้อยังไม่กระจายตัวอย่างทั่วถึง

ความกังวลในความเปราะบางของเศรษฐกิจไทยของ กนง. สอดรับกับท่าทีของ นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน มิ.ย. 60 อยู่ที่ระดับ 84.7 ปรับตัวลดลงจากระดับ 85.5 ในเดือน พ.ค. จากองค์ประกอบทั้งยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ

นายเจนระบุว่า  ผู้ประกอบการมีความกังวลต่อกำลังซื้อภายในประเทศจากการระมัดระวังการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน และมีความกังวลต่อการบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 แต่ก็ยังมีมุมมองทางบวกใน 3 เดือนข้างหน้าว่าอยู่ในระดับที่ดีขึ้น เนื่องจากมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวดีขึ้นจากการใช้จ่ายของภาครัฐ และการออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs

ข้อมูลเหล่านี้ บ่งบอกถึงปัจจัยบวกและลบที่คละเคล้ากันอยู่ในโครงส้รางเศรษฐกจิไทยที่ยังคงเปราะบางอีกยาวนานตลอดปีนี้

คาถามคือปัจจัยบวกและลบทั้งหลายที่มีข้างต้น จะทำให้ดัชนี SET อยู่ที่ระดับเหมาะสมเท่าใด เป็นโจทย์ที่นักลงทุนต้องทำการบ้านเอง

Back to top button