พาราสาวะถี

  หลายคนได้ฟังคำตัดพ้อของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แล้วคงส่ายหน้ากันเป็นแถว กับการที่บอกว่า แก้ปัญหาต่างๆมาตลอด 3 ปี แต่กลับต้องมาเจอการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องเก่าๆ ที่ถูกกล่าวหาว่าเศรษฐกิจตกต่ำ และเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มต่างๆ ซึ่งมองว่าเป็นการพูดแบบเดิมๆ ดังนั้น การแก้ปัญหาต่างๆ ต้องทำทั้งรายใหญ่และรายย่อย เพื่อที่จะเจริญเติบโตไปด้วยกัน


อรชุน

หลายคนได้ฟังคำตัดพ้อของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แล้วคงส่ายหน้ากันเป็นแถว กับการที่บอกว่า แก้ปัญหาต่างๆมาตลอด 3 ปี แต่กลับต้องมาเจอการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องเก่าๆ ที่ถูกกล่าวหาว่าเศรษฐกิจตกต่ำ และเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มต่างๆ ซึ่งมองว่าเป็นการพูดแบบเดิมๆ ดังนั้น การแก้ปัญหาต่างๆ ต้องทำทั้งรายใหญ่และรายย่อย เพื่อที่จะเจริญเติบโตไปด้วยกัน

เห็นท่วงทำนองเช่นนี้แล้ว ชวนให้นึกถึงพรรคประชาธิปัตย์ในยามที่ได้รับโอกาสบริหารบ้านเมืองเป็นอย่างดี แทนที่จะสร้างความประทับใจให้กับประชาชน ด้วยการดำเนินนโยบายต่างๆให้เห็นผลเป็นรูปธรรม ชาวบ้านสามารถสัมผัสจับต้องได้ กลับเที่ยวไปโทษโน่นโทษนี่ ที่คนไทยได้ยินกันเป็นประจำกันคือ การโยนความผิดให้กับรัฐบาลก่อนหน้า

ยิ่งรัฐบาลคสช.ยิ่งไปกันใหญ่ ไม่เพียงแต่มีโอกาสเข้ามาแก้ไขปัญหาให้บ้านเมืองเท่านั้น หากแต่มีอำนาจอันเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่ท่านผู้นำก็เอาแต่พล่ามบ่น ทนไม่ไหวรับไม่ได้กับเสียงท้วงติงทั้งหลาย กลายเป็นว่าคนที่เขาเสนอแนะเป็นพวกพูดแต่เรื่องเดิมๆ ไม่สร้างสรรค์ ทั้งๆที่จำนวนไม่น้อยล้วนแล้วแต่เตือนด้วยความหวังดี

เพียงแต่ว่าผู้มีอำนาจกล้าที่ยอมรับกับความเป็นจริงแค่ไหน เรื่องเศรษฐกิจอย่าเอาแต่ฟังรายงานของพวกประจบสอพลอ การยกตัวเลขต่างๆไปอวดอ้าง ถามต่อว่ามันเป็นไปในทิศทางเดียวกับคนส่วนใหญ่ของประเทศ ประชาชนอยู่ดีกินดีหรือไม่ เมื่อคนส่วนใหญ่ของประเทศยังประสบกับภาวะฝืดเคือง ต้องถามกลับท่านผู้นำด้วยมันสมองอันน้อยนิดที่พอจะคิดได้ว่า แล้วจะให้คนเหล่านั้นเขาคิดว่าเศรษฐกิจมันดีได้อย่างไร

มิหนำซ้ำ หลายๆโครงการที่ได้ดำเนินการกันไป ก็มีภาพของเจ้าสัวใหญ่ทั้งหลายแหล่เข้าไปเกี่ยวข้อง และแนวทางก็เป็นใจไปในทางเอื้อประโยชน์ให้นายทุนมากกว่าประชาชน เมื่อเป็นเช่นนั้น จะไปโทษว่าคนวิจารณ์พูดเรื่องเดิม ดูถูกฝีมือของรัฐบาลไม่ได้ ตราบใดที่ผลของงานยังเป็นเพียงแค่ลมปากและตัวเลข ก็อย่ามาแสดงความต้องการจะบังคับให้คนสรรเสริญเยินยอว่าทำดีแล้ว ถูกแล้วอย่างที่ใจต้องการไม่ได้

นาทีนี้ หากไม่มืดบอดจนเกินไป ลิ่วล้อของท่านผู้นำน่าจะสะกิดให้ดูความเคลื่อนไหวทั้งหลาย โดยเฉพาะเสียงทักท้วงที่เป็นอยู่ในขณะนี้ เป็นฝ่ายต่อต้านคณะรัฐประหาร เป็นพวกตรงข้ามรัฐบาลหรือคนกันเองกันแน่ ล่าสุด เวทีเสวนาวิชาการหัวข้อ ร่วมวิพากษ์ยุทธศาสตร์ จัดโดยคณะพัฒนาสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์หรือนิด้า กับคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยหรือครป. ก็น่าจะเป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจน

เพราะรายชื่อคนที่ขึ้นเวที บอกได้เลยว่าล้วนแล้วแต่เป็นปฏิปักษ์กับระบอบทักษิณทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น พิภพ ธงไชย ที่ปรึกษาครป. คมสัน โพธิ์คง รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ศรีราชา วงศารยางกูร อดีตประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน และ พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คณบดีคณะพัฒนาสังคม นิด้า ถ้าจะพูดให้ชัดคือล้วนแล้วแต่เป็นพวกที่ออกมายืนแถวหน้าไล่รัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร และ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทั้งนั้น

แต่น่าคิดว่า ทำไมคนทั้งหมดจึงร่วมใจกันชี้นิ้วไปในทิศทางเดียวกันว่า ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จะทำให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติในอนาคต และจะลุกลามเป็นความขัดแย้งขนาดใหญ่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่เพียงเท่านั้น ยังเกิดคำถามตามมาด้วยว่า ยุทธศาสตร์ชาติมีสถานะเป็นกฎหมายหรือไม่ เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติสถานะไว้

โดยในรายของคมสันถึงกับบอกว่า ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีปัญหาขัดรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน เพราะไม่มีความชัดเจนในเรื่องการแบ่งแยกอำนาจ ที่สำคัญจะทำให้หน่วยงานรัฐทะเลาะกันเองแบบไม่จบสิ้น นี่หากเป็นคนจากพรรคเพื่อไทยหรือแกนนำเสื้อแดงพูด รับรองว่าบรรดากระบอกเสียงทั้งคสช.และรัฐบาล คงออกมาตอบโต้กันเซ็งแซ่ไปแล้ว

นี่ต่างหากคือความเป็นจริง ถ้าไม่นับรวบพวกที่หลับหูหลับตาอ้างมวลมหาประชาชนเชียร์พลเอกประยุทธ์อย่างสุดลิ่มทิ่มประตู ต่างก็มองเห็นปัญหากับวาระที่แป๊ะและชาวคณะตั้งธงเอาไว้ล่วงหน้า เมื่อถึงเวลาที่จะต้องเดินตามกลไกที่วางไว้อย่างจริงจังแล้ว กลับพบว่าจะเป็นปัญหาในทางปฏิบัติเสียเอง นี่ไงคือข้อห่วงใยของคนจำนวนไม่น้อยที่มองอย่างเป็นกลางว่า ทั้งรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกที่จะตามมา มันจะสร้างปัญหามากกว่าสร้างโอกาสให้ประเทศเดินไปข้างหน้า

หลายเรื่องที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเมื่อมาลงลึกในรายละเอียดในส่วนของกฎหมายลูก กลับพบว่าเป็นปัญหาที่อาจจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ อย่างร่างกฎหมายว่าด้วยวิธีการพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองซึ่งถูกวิจารณ์เวลานี้ ร่างกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมืองที่ต้องตั้งคณะกรรมาธิการร่วมขึ้นมาพิจารณาดูว่าสิ่งที่กรรมาธิการของสนช.แก้ไขไปนั้นมีอะไรที่ส่อว่าจะไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญบ้าง

หรือแม้กระทั่งร่างกฎหมายว่าด้วยกกต. ที่แม้ที่ประชุมกกต.จะมีมติเอกฉันท์ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยใน 2 ประเด็น โดยต้องศึกษาว่าจะยื่นร้องช่องทางใด แต่ฟังจาก สมชัย ศรีสุทธิยากร ที่แถลงข่าวเรื่องมติดังกล่าวแล้ว ถึงจะไม่พูดชัดว่าจะทำหรือไม่ แต่ดูท่าเจ้าตัวอาจจะดำเนินการยื่นร้องด้วยตัวเอง พร้อมๆกับยกเอาสิ่งที่ มีชัย ฤชุพันธุ์ เคยพูดมาโดยตลอดในการร่างรัฐธรรมนูญมาตอกย้ำว่า รัฐธรรมนูญนี้มีข้อดี ที่ทำให้ประชาชนมีสิทธิ มีเสียงที่แท้จริง เปิดโอกาสให้แต่ละฝ่ายสามารถช่วยตรวจสอบกฎหมายให้มีความรอบคอบสมบูรณ์

เมื่อรัฐธรรมนูญออกมาแล้ว กรธ.ก็บอกเองว่าประชาชนมีสิทธิยื่นตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ นี่ก็เป็นตัวอย่างถือเป็นการทดลอง อาจจะเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ที่ประชาชนคนไทยจะสามารถใช้สิทธิเพื่อพิสูจน์ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย หากศาลบอกว่าไม่สามารถยื่นคำร้องได้ ก็จะได้รู้ว่าสิทธิของประชาชนที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญนั้นอาจจะไม่เป็นจริง

เรียกได้ว่า การลงเรือแป๊ะแล้วตามใจแป๊ะนั้น ที่ผ่านมาเป็นเพราะมั่นใจในมาตรายาวิเศษม.44 แต่ในอนาคตเมื่อไม่มีกฎหมายพิเศษเช่นว่านั้นแล้ว คำถามที่ตามมาคือ หากเกิดปัญหาข้อกฎหมายจนกลายเป็นทางตันจะใช้อะไรในการแก้ไข ถ้าไปถามท่านผู้นำตอนนี้ก็จะได้แต่ความโมโหโกรธากลับมา ดังนั้น คงบอกได้แต่เพียงว่า ต้องรอให้ทุกอย่างมันได้เดินไปตามความต้องการของผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดจนสุดทางเสียก่อน และต้องทำใจกันไว้ล่วงหน้าถ้าเกิดปัญหาก็ไม่ต้องถามวิธีแก้และความรับผิดชอบจากใคร เพราะมันไม่มีล้านเปอร์เซ็นต์

Back to top button