อุปสงค์แท้ อุปทานเทียม

ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกกลับพลิกเป็นขาขึ้นระลอกใหม่อีกครั้ง ด้วย 2 ตัวแปรหลักคือ 1) อุปทานเทียมลดลงชั่วคราว 2) อุปสงค์แท้ในชาติบริโภคและนำเข้ารายใหญ่เพิ่มขึ้นช้าๆ


พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล

ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกกลับพลิกเป็นขาขึ้นระลอกใหม่อีกครั้ง ด้วย 2 ตัวแปรหลักคือ 1) อุปทานเทียมลดลงชั่วคราว 2) อุปสงค์แท้ในชาติบริโภคและนำเข้ารายใหญ่เพิ่มขึ้นช้าๆ

ผลของ 2 ตัวแปรที่ขับเคลื่อนราคาน้ำมันดิบ แม้จะยังไม่ชัดเจนว่าตัวแปรไหนสำคัญกว่ากัน แต่ก็ตอกย้ำว่า ปัญหาอุปทานล้นเกินของผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมนั้นดำรงอยู่จริง แล้วต้องการเวลาแก้ไขแบบไม่มีสูตรสำเร็จ เพราะมีตัวแปรรบกวนสอดแทรกเรื่อยๆ

ล่าสุด ราคาน้ำมัน WTI พุ่งทะลุ 47 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลอีกครั้ง หลังสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยว่า สต๊อกน้ำมันดิบของสหรัฐฯลดลงมากกว่าคาดในสัปดาห์ที่แล้ว

ราคาที่รีบาวด์ชั่วขณะนี้ ไม่ได้ช่วยให้โล่งอกมากมายเพราะหากพิจารณาข้อเท็จจริงที่ว่า ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกได้ทรุดตัวลงราว 15% ในปีนี้ เป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวย่ำแย่ที่สุดในปีนี้ส่วนหนึ่งเพราะอิทธิพลของโอเปกที่ลดลง เพราะชาติผู้บริโภคและผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่สุดของโลกคือสหรัฐฯ ยังคงเพิ่มการผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดานเพิ่มขึ้น

ตัวเลขข้อเท็จจริงดังกล่าว สอดรับกับการวิเคราะห์ของนักวิเคราะห์จากวาณิชธนกิจชื่อดังสหรัฐฯ เมื่อ สองเดือนก่อน อย่างโกลด์แมน แซคส์ ที่ระบุว่า ต้นทุนการผลิตน้ำมันจากชั้นหินดินดาน หรือ เชลล์ ออยล์ ในสหรัฐฯ มีต้นทุนที่ต่ำลง ทำให้แรงจูงใจผลิตน้ำมันในสหรัฐฯเพิ่มขึ้น ดังนั้น การลดแรงจูงใจให้สหรัฐฯลดผลิตน้ำมัน ต้องทำให้ราคาน้ำมันอยู่ในกรอบดังกล่าวหรือต่ำกว่า ถ้าไม่ทำ ภาวะน้ำมันล้นตลาดที่ชาติส่งออกน้ำมันพยายามต่อสู้ด้วยการควบคุมผลผลิตที่ยืดเวลาออกไปจนถึงมีนาคม 2561 จะไม่เกิดผล และส่งผลให้ตลาดกลับมาไร้เสถียรภาพอีกครั้ง

บทวิเคราะห์ดังกล่าว ออกมาในจังหวะที่นักลงทุนในตลาดน้ำมันดิบล่วงหน้าทั่วโลก พากันกังวลเกี่ยวกับผลผลิตน้ำมันท่วมตลาดโลกที่กลับมาครั้งใหม่ และ ทำให้มีคนไม่น้อยนึกขึ้นได้ว่า บทวิเคราะห์ดังกล่าว ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มีการคาดเดาอย่างแม่นยำตั้งแต่ต้นปีก่อน โดยโกลด์แมน แซคส์มาแล้ว

ในกลางปี 2558 นักวิเคราะห์ของโกลด์แมน แซคส์ เคยบอกเมื่อตอนที่ราคาน้ำมันเริ่มร่วงลงมาแถวระดับ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลว่า ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก อาจะร่วงลงไปต่ำกว่า 30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลได้ ซึ่งอีก 7 เดือนต่อมาในช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ราคาน้ำมันก็ลงไปเกือบถึงราคาดังกล่าว

ในเดือนมีนาคม 2559 ซึ่งเป็นจังหวะที่ราคาน้ำมันดิบเริ่มรีบาวด์จากจุดต่ำสุดในรอบหลายปี นักวิเคราะห์ของโกลด์แมน แซคส์อีกเช่นกัน ออกมาปรับเปลี่ยนมุมมองของตลาด โดยเพิ่มตัวเลขคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบ WTI ในครึ่งแรกของปี 2559 ให้มีค่าเฉลี่ยที่ระดับ 45 ดอลลาร์ในช่วงไตรมาส 2 และอยู่ที่ระดับ 50 ดอลลาร์ในช่วงครึ่งหลังของปี

มุมมองของของนักวิเคราะห์ เกิดขึ้นก่อนที่จะมีข้อตกลงในเดือนพฤศจิกายน 2559 ทำให้ราคาน้ำมันดิบมีเสถียรภาพมากขึ้น แม้ว่าจะยังไม่สามารถทำให้อุปทานต่ำกว่าอุปสงค์ได้เต็มที่ เพราะผู้ผลิตน้ำมันดิบจากชั้นดินดานในสหรัฐฯ อยู่นอกข้อตกลงดังกล่าว

ครั้งนั้น โกลด์แมน แซคส์ เตือนว่า หากราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้นเกินกว่า 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลอีกครั้ง ไม่ว่าจะด้วยเหตุปัจจัยใด  ก็จะเป็นแรงจูงใจให้โลกกลับมาเผชิญกับภาวะน้ำมันล้นตลาดอีกครั้งในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2017 ได้

​โกลด์แมน แซคส์ ก็เตือนอีกว่า ปริมาณน้ำมันดิบที่ผลิตในสหรัฐฯจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ในต้นปีหน้า เป็นจังหวะไล่เลี่ยกันกับข้อตกลงควบคุมผลผลิตน้ำมันดิบของชาติส่งออกน้ำมันทั้งหลายหมดอายุลงพอดี จะทำให้อุปทานน้ำมันท่วมโลกรุนแรงอีกครั้ง

ที่น่าสนใจอยู่ที่ว่า ไม่ได้มีแค่โกลด์แมน แซคส์รายเดียว แต่วาณิชธนกิจใหญ่อีกรายอย่าง JP Morgan ก็ทำการปรับลดมุมมองต่อราคาน้ำมันดิบ Brent ในปีหน้าลง จากระดับปัจจุบันอีก 10 ดอลลาร์ จากที่เคยมีการคาดการณ์ครั้งก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 45 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และก็ปรับคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบ WTI ลงอีก 11 ดอลลาร์ มาอยู่ที่ระดับ 42 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

​การปรับลดมุมมองโดยไม่นัดหมายกัน บ่งชี้ว่า อุปทานเทียมที่ชาติส่งออกน้ำมันรายใหญ่ซึ่งมีรัสเซียและซาอุดีอาระเบียเป็นแกน พยายามสร้างมาหลายเดือน อาจจะเป็นภาพหลอนที่ไม่ได้สนับสนุนราคาให้มีเสถียรภาพแต่อย่างใด หากเพื่อยื้อเวลาให้หายนะมาช้าลงเท่านั้น

มุมมองในเชิงลบดังกล่าว แม้จะครอบงำตลาดน้ำมันล่วงหน้าต่อไป แต่ “วิชามาร” ของชาติส่งออกน้ำมันยังไม่หมดสิ้นไส้พุง ปรากฏการณ์สร้างกระแสกระชากราคาขึ้นชั่วคราวจึงมีตามมา

รายงานข่าวที่ไม่ยืนยันชัดเจนที่ระบุว่า ซาอุดีอาระเบียจะปรับลดการส่งมอบน้ำมันแก่ลูกค้าเป็นจำนวนมากกว่า 600,000 บาร์เรล/วันในเดือนสิงหาคมไป ซึ่งหากเป็นจริงการส่งออกน้ำมันของซาอุดีอาระเบียจะดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดในปีนี้ ที่ระดับ 6.6 ล้านบาร์เรล/วันในเดือน ส.ค. ขณะที่การส่งออกน้ำมันไปยังสหรัฐฯจะลดลงต่ำกว่าระดับ 800,000 บาร์เรล/วัน

ข่าวดีจากซาอุดิอาระเบีย ทำให้นักลงทุนเก็งกำไรในตลาดน้ำมันล่วงหน้า จับตาการประชุมของรัฐมนตรีกระทรวงน้ำมันจาก 5 ชาติของโอเปก ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการปฏิบัติตามข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิต ซึ่งจัดขึ้นที่รัสเซียในปลายสัปดาห์วันที่ 24 กรกฎาคมนี้ โดยตลาดคาดหมายว่า ที่ประชุมอาจมีการเสนอมาตรการกระตุ้นราคาเพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมโอเปกเต็มคณะในเดือนพฤศจิกายนนี้

ความผันผวนจากอุปทานเทียม และอุปสงค์แท้ที่ยังไม่ยอมลงตัวในตลาดน้ำมัน คือปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาหุ้นพลังงานในตลาดหุ้นทั่วโลกอย่างยืดเยื้อ ทั้งทางตรงและอ้อมตลอดปีนี้ 

Back to top button