ฐานราคาน้ำมันยังไม่เปลี่ยนแปลง

ซัพพลายในหลายตลาดยังคงเติบโตรวดเร็วเกินไป และการสต๊อกน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง น่าจะฉุดราคาลงไปอีกระยะหนึ่ง


–ตามกระแสโลก–

 

เมื่อวันพุธที่ผ่านมา กษัตริย์ ซัลมาน บิน อัลดุลอาซิส แห่งซาอุดีอาระเบียได้ปลดน้องชายต่างมารดาจากการเป็นมกุฎราชกุมารและแต่งตั้งหลานชาย โมฮัมเหม็ด บิน นาเยฟ ซึ่งเป็นรองมกุฎราชกุมาร เป็นรัชทายาทคนใหม่  ในขณะเดียวกันได้แต่งตั้งลูกชายคือ เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน เป็นรองมกุฎราชกุมาร และให้เอกอัครราชทูตประจำกรุงวอชิงตัน อาเดล อัล-จูเบียร์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแทนเจ้าชาย ซาอุด อัล-ไฟซาล  นอกจากนี้ยังได้แต่งตั้งรัฐมนตรีใหม่อีกหลายคน

พร้อมกันนี้ ยังมีการเคลื่อนไหวในตำแหน่งอื่นๆ อีก เช่น คาลิด อัล-ฟาลีห์ ซีอีโอบริษัทน้ำมันแห่งชาติ “ซาอุดิ อารามโค” ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีสาธารณสุข และถูกโยกไปเป็นประธานกรรมการบริหารของบริษัท ซึ่งเดิมตำแหน่งนี้เป็นของรัฐมนตรีน้ำมัน อาลี อัล-นาอิมี

ตามปกติการแต่งตั้งโยกย้ายในซาอุดีอาระเบียมักทำให้ราคาน้ำมันเคลื่อนไหว เนื่องจากเสถียรภาพในซาอุฯมีความสำคัญต่อซัพพลายทั่วโลก ขณะที่เทรดเดอร์กำลังจับตามองอย่างใกล้ชิดว่า ใครจะมาเป็นซีอีโอคนใหม่ของอารามโค และจะมีผลกระทบต่อตำแหน่งรัฐมนตรีน้ำมันของนาอิมีหรือไม่

สำหรับนาอิมี ปัจจุบันอายุ 79 ปี โดยได้เป็นรัฐมนตรีน้ำมันของซาอุฯมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 เขามีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจของซาอุดีอาระเบียเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่ไม่ลดกำลังการผลิตเพื่อหนุนราคาน้ำมัน ซึ่งได้ลดลงครึ่งหนึ่งนับตั้งแต่เดือนมิถุนายนปี 2557

ด้วยการที่เกิดความไม่แน่นอนขึ้นในซาอุฯ ส่งผลให้ตราสารน้ำมันดิบเบรนต์ หรือ Brent อ่อนตัวลง เช่นเดียวกับน้ำมันดิบเวสเท็กซัส อินเทอร์ มีเดียต หรือ WTI

นอกจากปัจจัยด้านการเมืองแล้ว นักวิเคราะห์มองว่า ปัจจัยพื้นฐานยังสะท้อนว่าตลาดน้ำมันจะซบเซาต่อไปอีกระยะหนึ่ง โดยบาร์เคลย์ไม่คิดว่าวงจรโภคภัณฑ์กำลังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิง อีกทั้งคาดว่า ราคาน้ำมันจะยังคงมีความผันผวนอย่างต่อเนื่อง

“ซัพพลายในหลายตลาดยังคงเติบโตรวดเร็วเกินไป และการสต๊อกน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง น่าจะฉุดราคาลงไปอีกระยะหนึ่ง” บาร์เคลย์ กล่าว

การเติบโตต่ำของเศรษฐกิจก็กำลังส่งผลกระทบต่อราคา การเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯน่าจะชะงักอย่างรุนแรงในช่วงไตรมาสแรก เนื่องจากสภาพอากาศที่เลวร้ายส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภค รวมไปถึงบริษัทพลังงานก็ได้ปรับลดการลงทุนอีกต่างหาก

ขณะเดียวกัน มอร์แกน สแตนเลย์ กล่าวว่า การเติบโตในเอเชียก็ยังมีอัตราต่ำอยู่ แรงส่งในการเติบโตโดยรวมในเอเชียซึ่งมีจีนที่โตมากสุด ก็ได้ซบเซาลงอีกในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

มอร์แกน สแตนเลย์ กล่าวว่า ราคาน้ำมันถูกลงหมายถึงว่ารายได้ของรัฐบาลที่เศรษฐกิจต้องพึ่งพาโภคภัณฑ์อย่างมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ลดลง และแม้แต่สิงคโปร์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการซื้อขายน้ำมันก็มีรายได้ลดลงเพราะเมื่อรายได้ลดลงก็ทำให้ไม่มีการลงทุนที่จะมาสนับสนุนการเติบโตได้

Back to top button