โบรกฯมอง SET ฟื้นแตะ1,650 จุด ใน Q4 พร้อมชู 6 หุ้นเด่นประจำเดือนส.ค.

บล.ทิสโก้ มอง SET ฟื้นตัวแตะ1,650 จุด ใน Q4/60 รับอานิสงส์ลงทุนภาครัฐ-Fund Flow หนุน พร้อมชู 6 หุ้นเด่นประจำเดือนส.ค.


นายวิวัฒน์ เตชะพูลผล รองกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์ทางเทคนิค บล.ทิสโก้ กล่าวถึงภาพรวมตลาดหุ้นไทยในงานสัมมนา TISCO Monthly Guru Updates ว่า ตลาดหุ้นไทยในเดือนส.ค.และก.ย. มีโอกาสย่อตัว ส่วนหนึ่งมาจากแรงขายจากนักลงทุนสถาบัน เพราะจากการเก็บสถิติพบว่าส่วนใหญ่ช่วงเดือน ส.ค.และเดือน ก.ย.ของทุกปี นักลงทุนสถาบันจะขายหุ้นเพื่อปรับพอร์ตการลงทุน

โดยประเมินว่าในช่วงเดือน ส.ค.และ ก.ย.60 นักลงทุนสถาบันจะมีสถานะขายสุทธิประมาณ 20,000 ล้านบาท หลัง 7 เดือนแรกของปี 60 มีสถานะซื้อสุทธิ 46,036 ล้านบาท มองกรอบดัชนีหุ้นไทยในไตรมาสที่ 3 จะปรับตัวขึ้นไม่เกิน 1,590-1,600 จุด และลงมาทำจุดต่ำสุดของไตรมาสในเดือนก.ย.ที่ 1,555-1,530 จุด

ทั้งนี้ แนะนำให้นักลงทุนทยอยซื้อสะสมในเดือนก.ย. หากดัชนีย่อตัวลงมาอยู่ที่ระดับ 1,555 จุด กรณีที่ย่อลงแรงกว่านั้นให้ทยอยเข้าซื้อที่แนวรับถัดไปที่ 1,535 จุด เน้นซื้อหุ้นขนาดใหญ่รอรับเงินทุนต่างประเทศที่คาดว่าจะไหลเข้ามาอีกครั้งในไตรมาสที่ 4 หลังสถานะการถือครองของนักลงทุนต่างประเทศอยู่ในระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 48

ขณะที่เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 จะฟื้นตัวอย่างชัดเจนมีปัจจัยหนุนหลักคือการลงทุนภาครัฐ หนุนให้ตลาดหุ้นไทยกลับมาร้อนแรงอีกครั้ง โดยประเมินดัชนีเป้าหมายดัชนีหุ้นไทยไตรมาส 4 ไว้ที่ 1,650 จุด สำหรับหุ้นเด่นเดือน ส.ค.คือ AP, BANPU, BEAUTY, ROJNA, SEAFCO และ TPIPP

สำหรับมุมมองหุ้นต่างประเทศ ในเดือนส.ค.-ก.ย.มีโอกาสสูงที่ตลาดหุ้นทั่วโลกจะเข้าสู่ช่วงปรับฐานลงประมาณ 5-8% จากจุดสูงสุด (Peak) ของปี 60 เพราะในช่วงนี้เป็นช่วงศูนย์รวมข่าวร้าย โดยมีปัจจัยลบ 4 ประเด็น คือ 1. นโยบายการเงินของประเทศหลักของโลกอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน แนะนำนักลงทุนให้จับตานโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยวันที่ 20 ก.ย. เฟดจะเริ่มประกาศแผนการลดขนาดงบดุลจากปัจจุบันอยู่ที่ 4.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์คาดว่าในไตรมาสที่ 4/60 เฟดจะลดงบดุลประมาณ 2.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปี 61 ลดลง 3.3 แสนล้านดอลาร์สหรัฐฯ และปี 62 จะลดลงอีก 5.3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ ECB เตรียมลดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) จาก 6 หมื่นล้านยูโร/เดือน เหลือ 4 หมื่นล้านยูโร/เดือน จากความไม่แน่นอนของนโยบายด้านต่าง ๆ ของประเทศสหรัฐฯ เช่น การผลักดันร่างกฎหมายประกันสุขภาพฉบับใหม่ที่จะมาแทนโอบามาแคร์

ขณะที่DOWJONES และ NADAQ ของสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นโดยไม่มีการปรับฐานเกินกว่า 5% มา 11 เดือนติด เข้าถึงจุดซื้อมากเกินไป (Overbought) และ ราคาหุ้นทั่วโลกเริ่มแพง นับจากปี 53 ที่เกิดวิกฤติ Dot Com Bubble

 

Back to top button