จับตา! ทีม “ผยง” ปรับนโยบายปล่อยกู้ EARTH กะทันหันส่งสัญญาณอะไรหรือไม่?

จับตา! ทีม “ผยง” ปรับนโยบายปล่อยกู้ EARTH กะทันหัน ไม่อนุมัติหุ้นกู้จำนวน 5,000 ล้านบาท ส่งสัญญาณอะไรหรือไม่?


จากกรณี บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) หรือ EARTH มีการผิดนัดชำระหนี้บรรดาหนี้ตั๋วแลกเงิน หนี้สินเชื่อเพื่อการค้าระหว่างประเทศ หนี้หุ้นกู้ และหนี้กับสถาบันการเงินอื่นๆ ซึ่งในบรรดาเจ้าหนี้ทั้งหมด เจ้าหนี้สถาบันการเงินรายหนึ่งได้เรียกให้บริษัทชำระหนี้ที่ค้างอยู่ตามเงื่อนไขการให้สินเชื่อ ซึ่งบริษัทไม่สามารถชำระหนี้ดังกล่าวตามที่ถูกเรียกร้องมาได้ ส่งผลให้บริษัทถูกระงับการใช้วงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงินทุกแห่งที่บริษัทใช้อยู่ และท้ายสุดต้องยื่นคำร้องขอเข้าแผนฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2560

ล่าสุด นายขจรพงศ์ คำดี ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) หรือ EARTH เปิดเผยผ่านรายการ “ข่าวหุ้นเจาะตลาด ออนเรดิโอ” ทาง FM 98.5 MHz สถานีข่าวจริง สปริงเรดิโอ ช่วงเวลา 9.30-11.00 น. ถึงที่มาของการผิดนัดชำระหนี้ต่างๆ จนส่งผลให้บริษัทถูกระงับการใช้วงเงินสินเชื่อ ว่า ก่อนหน้านี้บริษัทมีเงินทุนหมุนเวียนไม่เพียงพอ จึงมีแผนในการออกหุ้นกู้ เมื่อช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา จำนวน 5,000 ล้านบาท เพื่อนำมาชำระหนี้ให้แก่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ ที่บริษัทมีภาระต้องชำระหนี้ในปี 2561 จำนวน 3,400-3,500 ล้านบาท ขณะที่บริษัทวางแผนจะนำเงินส่วนที่เหลือ จำนวน 1,400-1,500 ล้านบาท มาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม ทาง KTB ไม่อนุมัติแผนการออกหุ้นกู้ดังกล่าว แม้ว่า บริษัทจะได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. สำหรับการขอออกหุ้นกู้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยทาง KTB ให้เหตุผลว่า หากอนุมัติให้บริษัทออกหุ้นกู้ จะทำให้วงเงินที่เป็นหนี้ขยายตัวสูงขึ้น และส่งผล KTB ต้องแบกรับความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าว เป็นเหตุแรกเริ่มที่ส่งผลให้บริษัทมีการผิดนัดชำระหนี้ตั๋วบี/อีฉบับแรก จำนวน 40 ล้านบาท

ต่อมา บริษัทได้ดำเนินการเจรจาในประเด็นดังกล่าวกับ KTB ว่า หากไม่ได้รับอนุมัติการออกหุ้นกู้ และไม่ได้รับสินเชื่อเพิ่มเติม อาจส่งผลให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้ หรือ Default ขึ้นในลักษณะผลกระทบเชิงลูกโซ่ อีกทั้งยังส่งผลต่ออันดับความน่าเชื่อถือ (เครดิตเรทติ้ง) ของบริษัทด้วย

โดยผลกระทบดังกล่าว จะสร้างความเสียหายให้แก่บริษัทในฐานะลูกหนี้ และ KTB ในฐานะเจ้าหนี้ด้วย แต่ทาง KTB ยังยืนยันว่า จะไม่อนุมัติแผนดังกล่าว อีกทั้งบริษัทยังถูกระงับวงเงินสินเชื่อ และมีการผิดนัดชำระหนี้มาโดยตลอด จนครบจำนวนที่ผิดนัดชำระ จำนวน 500 ล้านบาท ซึ่งภายหลัง ส่งผลให้บริษัทถูกเรียกให้ชำระหนี้ทั้งหมด หรือ Call Default ทันที

“สำหรับสาเหตุที่ KTB ระงับวงเงินสินเชื่อของบริษัท อาจเป็นเพราะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายบางอย่าง โดยทาง KTB มีการเปลี่ยนผู้บริหารเมื่อตอนปลายปี 2559 และบริษัทก็พยายามแจ้งถึงสัญญาณว่าบริษัทกำลังจะขาดสภาพคล่อง เพราะเมื่อต้นปีบริษัทจ่ายตั๋วบี/อีไปแล้ว จำนวน 4,600 ล้านบาท บริษัทก็พยายามบอกว่าต้องเร่งออกหุ้นกู้เพื่อเสริมสภาพคล่อง และอีกส่วนหนึ่งก็จะนำมาชำระหนี้ให้แก่ KTB ด้วย” นายขจรพงศ์ กล่าว

ทั้งนี้ ภายหลังจากการที่บริษัทถูก Call Default และถูกระงับวงเงินสินเชื่อกับทุกสถาบันการเงิน ส่งผลให้บริษัทไม่มีช่องทางในการหาเงินเพื่อมาชำระหนี้ส่วนที่เหลือ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องขอยื่นเรื่องต่อศาลฯเพื่อขอเข้าแผนฟื้นฟูกิจการตามที่มีการเปิดเผยต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และปรากฏเป็นข่าวเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม ที่ผ่านมา

Back to top button