พาราสาวะถี

กลายเป็นของแสลงหรือจะเรียกว่าไม้เบื่อไม้เมากันเลยก็ว่าได้ เพราะเมื่อนักข่าวถามถึงประเด็นการตั้งข้อสังเกตของ สมชัย ศรีสุทธิยากร ต่อการที่กรธ.กำหนดให้มีการแยกเบอร์ผู้สมัครส.ส.แบบแบ่งเขต มีชัย ฤชุพันธุ์ ก็มีคำตอบเพียงว่าขอบคุณ แล้วก็รีบเดินออกจากวงสัมภาษณ์ไปในทันที ท่าทีเช่นนี้มันสะท้อนถึงอาการไม่ลงรอยได้อย่างชัดเจน


อรชุน

กลายเป็นของแสลงหรือจะเรียกว่าไม้เบื่อไม้เมากันเลยก็ว่าได้ เพราะเมื่อนักข่าวถามถึงประเด็นการตั้งข้อสังเกตของ สมชัย ศรีสุทธิยากร ต่อการที่กรธ.กำหนดให้มีการแยกเบอร์ผู้สมัครส.ส.แบบแบ่งเขต มีชัย ฤชุพันธุ์ ก็มีคำตอบเพียงว่าขอบคุณ แล้วก็รีบเดินออกจากวงสัมภาษณ์ไปในทันที ท่าทีเช่นนี้มันสะท้อนถึงอาการไม่ลงรอยได้อย่างชัดเจน

เป็นธรรมดา แม้จะเคยถูกมองว่าเป็นพวกเดียวกัน แต่วันหนึ่งคนที่เคยเป็นพวกกลับถูกเฉดหัวให้พ้นเส้นทางขององคาพยพที่จะมากำหนดกลไกของประเทศอย่างไม่แยแส เป็นใครก็ย่อมต้องเจ็บปวด จนเป็นเหตุให้อีกฝ่ายได้ออกมาแสดงทัศนะ ยืนหยัดเรื่องของประชาธิปไตยได้อย่างน่ารับฟัง ทว่ามันก็เป็นการรู้สึกตัวที่สายไปเสียแล้ว

เมื่ออำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้รุกคืบเข้าไปกุมทุกอย่างไว้หมดแล้ว เสียงที่สะท้อนออกมาจึงเป็นเพียงการคร่ำครวญของผู้ที่เสียผลประโยชน์เท่านั้น ถึงจะเคยร่วมขบวนคนดีกับเขามา หลังเสร็จนาแล้วก็ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้โคถึกอีกต่อไป ถือเป็นบทเรียนอันล้ำค่าทีเดียวสำหรับ 5 เสือกกต. ในฐานะคนที่มีอำนาจเต็มแต่ไม่ใช้ไปในทิศทางที่ถูกต้องและควรจะเป็น จนสุดท้ายก็นำหายนะมาสู่ตัวเอง

จะว่าไปแล้วไม่ใช่แค่ความผิดพลาดจากการไม่ยอมจัดการเลือกตั้งอย่างเต็มที่และบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาดเมื่อคราวหย่อนบัตร 2 กุมภาพันธ์ 2557 แต่กับการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปีที่แล้ว ท่าทีของกกต.เองก็เป็นที่เคลือบแคลงของสังคมไม่น้อย เมื่อเลือกที่จะสยบยอมต่ออำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเสียแล้ว ก็อย่าไปหวังว่าจะได้รับการปฏิบัติที่เป็นไปในแนวทางของประชาธิปไตย

กล่าวสำหรับร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติครบ 1 ปีเมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา ปิยบุตร แสงกนกกุล นักวิชาการคณะนิติราษฎร์ได้เฟซบุ๊คไลฟ์พูดถึงวาระโอกาสดังกล่าว มีการตั้งคำถามว่า กระบวนการประชามติให้ความเห็นชอบรัฐธรรมนูญ เป็นประชามติในความหมายตามมาตรฐานประชาธิปไตยหรือไม่ ภาวะรัฐธรรมนูญคู่ของรัฐธรรมนูญ 2560 และ เราจะออกจากสถานการณ์เช่นนี้ได้อย่างไร

สาเหตุที่เราลงประชามติเพื่อต้องการทำให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญเกิดขึ้นจากการตัดสินใจของประชาชนซึ่งเป็นผู้ทรงอำนาจสถาปนาก่อตั้งรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง หรือที่เรียกว่า Pouvoir Constituant วิธีการแสดงออกว่าประชาชนเป็นผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญอย่างแท้จริงให้เห็นเด่นชัดที่สุดก็คือผ่านกระบวนการออกเสียงประชามติ

แต่ถ้าพิจารณากระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญ 2560 ทั้งหมด อย่างที่รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 เขียนกระบวนการเอาไว้ แม้เขาจะให้ทำประชามติ แต่สุดท้ายแล้วจะมีองค์กรอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง เข้ามาขัดขวางได้อีก ในทางกระบวนการที่เกิดขึ้น เราจะเห็นว่าในการออกเสียงประชามติ ประชาชนไม่ได้มีอิสระ เสรีภาพในการออกเสียงอย่างแท้จริง

ทั้งที่ประชาชนต้องมีอิสระ มีเสรีภาพในการตัดสินใจว่าจะเอาหรือไม่เอา แต่ปรากฏว่าคสช.คุมเข้มมาก เราทำประชามติในช่วงที่มีคำสั่งคสช. มีอำนาจคสช. มีคำสั่งประกาศห้ามชุมนุมทางการเมือง มีการใช้กำลังทางทหารควบคุมกิจกรรมของประชาชนหลายๆอย่างของฝ่ายที่จะไม่รับรัฐธรรมนูญ ในทางปฏิบัติองค์กรที่ทำหน้าที่จัดให้มีการออกเสียงประชามติอย่างกกต.ที่ทำเรื่องรณรงค์ แต่ก็ทำอย่างไม่เท่ากัน

กล่าวคือ กกต.รณรงค์ในลักษณะชี้นำไปทางโหวตเยสมากกว่าโหวตโน ตามเอกสารที่กกต.แจกมาตามบ้าน จะพูดถึงข้อดีของรัฐธรรมนูญ แต่ไม่เห็นเอกสารของฝ่ายไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ กฎหมายประชามติที่ใช้ควบคุมก็มีโทษในอัตราที่สูง และใช้เป็นเครื่องมือจับกุมบุคคลจำนวนมากที่ออกมารณรงค์โหวตโน ไม่มีการดีเบตถกเถียงอย่างเปิดเผยหรือกว้างขวางโดยไร้ข้อจำกัดเกี่ยวกับการรณรงค์ในครั้งนี้ว่าจะโหวตเยสหรือโหวตโน

กระบวนการที่เราเรียกว่าประชามตินั้น เอาเข้าจริงแล้วไม่ใช่ประชามติในความหมายแบบประชาธิปไตยทางตรงที่จะทำให้ประชาชนเป็นผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ และในทางความเป็นจริงหลังผ่านประชามติแล้วก็ยังมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และประชาชนไม่ได้มีอิสระในการตัดสินใจอย่างแท้จริง เพราะกระบวนการนั้นไม่ใช่กระบวนการที่เปิด ไม่ได้ให้ประชาชนมีอิสระ เสรีภาพแท้จริง

มีการใช้ทหารเข้าควบคุม ประชาชนจึงถูกเรียกออกมาสร้างความชอบธรรมบางอย่างในการทำรัฐธรรมนูญ แต่เอาเข้าจริงไม่ใช่ประชาชนเป็นคนทำรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง สิ่งสำคัญมากไปกว่านั้นก็คือ เรื่องรัฐธรรมนูญคู่ เพราะหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 รัฐธรรมนูญฉบับนี้มี 279 มาตรา แต่ปรากฏว่าถ้าดูมาตรา 265 วรรค 2 เขียนว่า

วรรคแรกให้คสช.ยังคงอยู่ต่อไปจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งเข้าสู่ตำแหน่ง วรรคที่ 2 ให้หัวหน้าคสช. มีอำนาจต่อไป อำนาจใดๆที่หัวหน้าคสช. มีตามรัฐธรรมนูญ 2557 ให้หัวหน้า คสช.มีอำนาจเหล่านี้ต่อตามรัฐธรรมนูญ 2560 เขียนแบบนี้คืออะไร เขียนแล้วดูเหมือนไม่มีอะไร คสช.มารักษาช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่การเลือกตั้ง

แต่เอาเข้าจริงมาตรา 265 พูดตรงไปตรงมาสั้นๆง่ายๆคือ เขียนให้รัฐธรรมนูญ 2560 มีมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ 2557 ใช้ต่อนั่นเอง รัฐธรรมนูญฉบับนี้มี 279 มาตราบวกมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 เข้าไป ประเด็นนี้มีคนเคยทักท้วงในช่วงรณรงค์ประชามติไว้ แต่เสียงเห็นด้วยหรือสนับสนุนนั้นแผ่วเบาเหลือเกิน จนกระทั่ง ณ วันนี้หลายคนเพิ่งทราบเพิ่งเห็นว่ามาตรา 44 ยังใช้ต่อไป

เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 265 หากอ่านผิวเผินจะไม่ตะขิดตะขวงใจ เพราะเขาไม่ได้เขียนตรงๆ แต่เขียนไว้ว่าให้หัวหน้าคสช.มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ 2557 ต่อ เราจึงเห็นหัวหน้าคสช.ใช้มาตรา 44 อยู่จนถึงปัจจุบัน เพราะฉะนั้นตอนนี้จึงเป็นรัฐธรรมนูญคู่คือมีรัฐธรรมนูญ 2560 จำนวน 279 มาตรา บวกมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ 2557 มีคู่กัน 2 อัน คำถามคือเมื่อคู่กันแล้วอะไรใหญ่กว่าใคร คำตอบก็คือมาตรา 44 ใหญ่กว่ามาตราอื่นๆในรัฐธรรมนูญ 2560 ส่วนจะใหญ่ขนาดไหนเดี๋ยวพรุ่งนี้จะมาว่ากันให้จบก็แล้วกัน

Back to top button