CYBER พร้อมลุยโรงไฟฟ้าในพม่า-เปลี่ยนชื่อใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับธุรกิจ

CYBER พร้อมลุยโรงไฟฟ้าในพม่า หลังที่ประชุมผู้ถือหุ้นอนุมัติการซื้อหุ้นบริษัท อันดามันเพาเวอร์ แอนด์ ยูทิลิตี้ จำกัด (APU) เปลี่ยนชื่อใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับธุรกิจ


นายนพพล มิลินทางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไซเบอร์แพลนเน็ต อินเตอร์แอคทีฟ จำกัด (มหาชน) หรือ CYBER เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าในเมียนมาร์ เฟสแรก 6-20MW หลังที่ประชุมผู้ถือหุ้นอนุมัติการซื้อหุ้นบริษัท อันดามันเพาเวอร์ แอนด์ ยูทิลิตี้ จำกัด (APU)

โดยหลังจากที่ผู้ถือหุ้นของบริษัท อนุมัติให้ซื้อหุ้น APU จำนวน 1 ล้านหุ้น พาร์หุ้นละ 100 บาท และหุ้นสามัญที่ Andaman Power จะเพิ่มทุนอีกจำนวน 2,400,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 100 บาท มีมูลค่าเงินลงทุนเป็นจำนวน 340 ล้านบาท จากกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมของ Andaman Power จำนวน 10 ราย

อย่างไรก็ดี บริษัทพร้อมที่จะดำเนินธุรกิจผลิตและขายไฟฟ้า เพราะปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซธรรมชาติ กำลังผลิต 6-20 เมกะวัตต์ (เฟส 1) ที่อำเภอกันบก จังหวัดทวาย รัฐทะนินทายี ประเทศเมียนมาร์ ตามสัญญาให้เช่าเครื่องจักรผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติและการซื้อไฟฟ้า (Agreement for Rental of Gas Engines and Power Purchase) ระหว่างหน่วยงานราชการรัฐทะนินทายี (Tanintharyi Regional Government:TRG) และ Andaman Power

ขณะที่ Andaman Power เดิมชื่อ บริษัท ทวายเพาเวอร์ แอนด์ ยูติลิตี้ จำกัด ก่อตั้งเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.55  ปัจจุบันมีทุนจดทะเบียน และชำระแล้ว 100 ล้านบาท และกำลังจะเพิ่มทุนอีก 250 ล้านบาท ภายในเดือนพ.ค.58  เป็นทุนจดทะเบียน 350 ล้านบาท และทุนชำระแล้ว 340 ล้านบาท

นอกจากนี้ Andaman Power ยังได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงระหว่างกรมพลังงานไฟฟ้ากระทรวงการไฟฟ้า ประเทศเมียนมาร์ ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซธรรมชาติ กำลังการผลิตประมาณ 150-200 เมกะวัตต์ (Memorandum of Agreement :MOA)  ซึ่งคาดว่าจะได้รับสัญญาสัมปทานขายไฟฟ้ากำลังการผลิตประมาณ 150 – 200 เมกะวัตต์ (เฟส 2) หากประสบความสำเร็จในการดำเนินโครงการขายไฟฟ้าเฟสแรก 

ทั้งนี้ คาดว่าประโยชน์ที่จะได้รับหลังจากที่ผู้ถือหุ้นอนุมัติให้ซื้อหุ้น Andaman Power คือทำให้มีธุรกิจหลักเพิ่มที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน ซึ่งปัจจุบัน Andaman Power อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซธรรมชาติและเมื่อเริ่มผลิตกระแสไฟฟ้าได้ก็จะส่งผลให้บริษัทจะมีรายได้และมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น

รวมถึงยังเป็นการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนในธุรกิจการผลิตไฟฟ้า ซึ่งมีรายได้และกระแสเงินสดที่มั่นคง จากเดิมที่บริษัทมีเพียงธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ จะมีรายได้ที่ผันผวนตามช่วงระยะเวลาการก่อสร้างและการขายโครงการ แต่หลังจากที่เข้ามาลงทุนในธุรกิจพลังงานแล้วคาดว่าผลประกอบการของบริษัทในปีนี้น่าจะดีขึ้น

ขณะเดียวกันยังมีความเป็นไปได้ที่ Andaman Power จะได้รับสัญญาสัมปทานขายไฟฟ้า (PPA) กับรัฐบาลเมียนมาร์ ระยะเวลา 30 ปี ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซธรรมชาติ (เฟส 2) กำลังการผลิตประมาณ 150 – 200 เมกะวัตต์ หากประสบความสำเร็จในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซธรรมชาติ (เฟส 1) กำลังการผลิต 6 – 20 เมกะวัตต์ เป็นระยะเวลา 2 ปี

นอกจากนี้บริษัทเตรียมเปลี่ยนชื่อ CYBER เป็น”ยูไนเต็ด เพาเวอร์ ออฟ เอเชีย” ชื่อย่อหลักทรัพย์ “UPA”และเตรียมดำเนินการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อบริษัทใหม่เป็นบมจ.ยูไนเต็ด เพาเวอร์ ออฟ เอเชีย ต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เพื่อให้สอดคล้องกับธุรกิจและการลงทุนในอนาคต ภายหลังจากที่ได้รับการอนุมัติจากผู้ถือหุ้นเรียบร้อยแล้ว

Back to top button