พาราสาวะถี

วันนี้ขอต่อกันในประเด็นจากการเฟซบุ๊คไลฟ์ของ ปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์คณะนิติราษฎร์เนื่องในโอกาสครบรอบ 1 ปีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2560 จากที่เมื่อวานนี้ว่ากันถึงเรื่องรัฐธรรมนูญคู่ จบที่มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ทุกประเด็น คำถามก็คือใหญ่กว่าอย่างไร


อรชุน

วันนี้ขอต่อกันในประเด็นจากการเฟซบุ๊คไลฟ์ของ ปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์คณะนิติราษฎร์เนื่องในโอกาสครบรอบ 1 ปีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2560 จากที่เมื่อวานนี้ว่ากันถึงเรื่องรัฐธรรมนูญคู่ จบที่มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ทุกประเด็น คำถามก็คือใหญ่กว่าอย่างไร

มาตรา 44 ใหญ่กว่ามาตราอื่นๆ ในรัฐธรรมนูญ 2560 คือรัฐธรรมนูญ 2560 จะเขียนอะไรมาก็ตามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เสรีภาพ หลักนิติรัฐ นิติธรรม สิทธิเสรีภาพเขียนอะไรต่างๆสากกะเบือยันเรือรบ หัวหน้า คสช.ใช้มาตรา 44 มาเว้นรัฐธรรมนูญ 2560 ได้ทั้งหมด เพราะคำสั่งหัวหน้าคสช.ตามมาตรา 44 เขากำหนดให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ชอบด้วยกฎหมายและเป็นที่สุด

หมายความว่าคำสั่งหัวหน้าคสช.ในเรื่องใดๆก็ตามถูกเสมอ ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญเสมอ เกิดมีบุคคลไปโต้แย้งว่าคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ใช้ตามมาตรา 44 และประกอบรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 265 วรรค 2 ขัดกับรัฐธรรมนูญ กระทบสิทธิเสรีภาพ คำตอบที่ท่านจะได้รับคือมันไม่ขัด เพราะรัฐธรรมนูญบอกไว้แล้วว่ามันชอบด้วยรัฐธรรมนูญเสมอ

ภาวะนี้ทำให้มาตรา 44 ใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ทั้งฉบับ รัฐธรรมนูญคู่ก็คือรัฐธรรมนูญ 2560 ก็ใช้ไป แต่คุณจะมีความไม่แน่นอนเสมอ หัวหน้าคสช.จะใช้มาตรา 44 เว้นรัฐธรรมนูญ 2560 ทั้งฉบับก็ทำได้ ในทางปฏิบัติจะเกิดอะไรขึ้น สถานการณ์อะไรที่สามารถเกิดได้ แต่จะเกิดหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

เช่น กระบวนการเลือกตั้ง โรดแมปถูกเลื่อนได้เสมอ สิทธิเสรีภาพที่ถูกรับรองในรัฐธรรมนูญ 2560 ถูกละเมิดได้เสมอ ความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ 2560 จึงไม่มีจริงเพราะมาตรา 44 ใหญ่กว่าตัวรัฐธรรมนูญ 2560 ในทางนิติปรัชญา กฎหมายมหาชน ปรัชญาการเมือง องค์กรที่มีอำนาจสูงสุดขนาดยกเว้นรัฐธรรมนูญชี้ผิดถูกรัฐธรรมนูญได้ เราเรียกว่า องค์อธิปัตย์ เราจึงมีรัฐธรรมนูญพร้อมกัน 2 ฉบับ

ข้อกังวลของปิยบุตรคือ รัฐธรรมนูญคู่ในอนาคตจะนำมาสู่รัฐบาลคู่ ถ้ามีการเลือกตั้งตามโรดแมปในปีหน้า มีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง เราจะมีรัฐบาลที่เป็นกลไกที่คสช.ครอบงำไว้ และ Constitutionalize ฝังไว้อยู่ในรัฐธรรมนูญ 2560 จะมี 2 รัฐบาลคู่ขนานกัน รัฐบาลตัวหลังจะฝังเข้าไปผ่านกระบวนการ เช่น หมวด 16 เรื่องการปฏิรูปประเทศที่บังคับรัฐบาลชุดต่อไปทำตามแผนการปฏิรูปประเทศที่คสช.และพรรคพวกทิ้งเอาไว้ รัฐบาลชุดต่อไปไม่สามารถทำอย่างอื่นได้ ต้องเดินตามแนวนี้เป็นหลักถ้าไม่ทำก็จะมีโทษ

อันที่สอง วุฒิสภาชุดแรก บทเฉพาะกาลให้หัวหน้าคสช.มีบทบาทเลือกส.ว.ชุดแรก แล้วส.ว.มีอำนาจเต็มไปหมด ทั้งเลือกนายกรัฐมนตรี เลือกผู้ดำรงตำแหน่งศาล ผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระ กลไกต่อไปคือองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญที่จะตรวจสอบรัฐบาลเลือกตั้ง แล้วที่มาก็คือ จะให้เซตซีโร่องค์กรอิสระ แล้วการเลือกใหม่จะเกิดขึ้นโดยส.ว.ชุดใหม่ที่คสช.เป็นคนเลือก

เพราะฉะนั้นการปฏิรูปประเทศที่เขียนในรัฐธรรมนูญหมวด 16 ส.ว.ชุดแรก องค์กรอิสระ จะเสมือนเป็นรัฐบาลอีกชุดหนึ่งคู่ขนานไปกับรัฐบาลเลือกตั้ง เป็นรัฐบาลคู่ขนานที่คสช.วางเอาไว้แล้วจะเดินคู่กับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไปตลอดเวลา นั่นจึงนำมาซึ่งคำถามต่อไปว่า จะทำอย่างไรเพื่อไปจากสถานการณ์เหล่านี้

ปิยบุตรบอกอย่างตรงไปตรงมาว่า ต้องเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 ให้ได้ ทั้งนี้ กระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ตามที่เขียนไว้ในมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญ 2560 แก้ได้ยากมากๆ ในทางปฏิบัติแก้ไม่ได้เลย วิธีการต้องกลับไปสู่อำนาจปฐมสถาปนารัฐธรรมนูญ นั่นคือ กลับไปหาประชาชนให้ได้เพื่อทำรัฐธรรมนูญใหม่

แล้วเราจะกลับไปได้อย่างไร เราจะบอกว่ายกเลิกอย่างไร พูดว่ายกเลิกเฉยๆคงไม่ได้ ต้องอาศัยการรณรงค์ทางการเมือง อาศัยทางปฏิบัติเพื่อให้เห็นสภาพปัญหาของรัฐธรรมนูญ 2560 ว่ามีปัญหาอย่างไร จัดอภิปรายรณรงค์ ทดสอบว่ารัฐธรรมนูญ 2560 มีปัญหา ต้องทำให้เห็นว่าที่เขาเขียนในรัฐธรรมนูญ 2560 เอาเข้าจริงมันไม่เป็นอย่างนั้น เหมือนหมวดสิทธิเสรีภาพ พอเจอประกาศคำสั่งคสช.เมื่อไหร่ รัฐธรรมนูญ 2560 ก็จะเล็กกว่าทันที

ทั้งนี้ ต้องลองส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบว่าคำสั่งคสช.ชอบรัฐธรรมนูญหรือไม่ ในเมื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญเปิดช่องให้เข้าชื่อ 50,000 คนก็ทดสอบขอเข้าชื่อ รณรงค์อย่างกว้างขวางว่าทำไมเราต้องแก้ สุดท้าย เราต้องอยู่กับความเป็นจริง ทราบว่าทำแบบนี้ก็ไม่สำเร็จหรอก แต่จะได้ชี้ให้สังคมเห็นว่า มีผู้คนจำนวนหนึ่งเห็นว่ารัฐธรรมนูญมีปัญหา รวมทั้งเสนอให้ฝ่ายการเมืองชูธงว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้

ความเห็นของปิยบุตรที่ท้าทายคือ แล้วทำไปเพื่ออะไร ทำในสิ่งที่ทำไม่ได้ทำไม คำตอบก็คือ ทำเพื่อให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญ 2560 เป็นทางตัน พอถึงสถานการณ์นี้ ในเมื่อรัฐธรรมนูญออกแบบไปสู่ทางตัน ก็จะย้อนไปสู่รากฐานคือประชาชนผู้สถาปนาอำนาจรัฐธรรมนูญว่าต้องเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 และสร้างรัฐธรรมนูญใหม่แทนที่

โดยอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญติดตัวมนุษย์ในการตัดสินใจออกแบบสังคมตามที่เขาปรารถนา เป็นสิทธิตามธรรมชาติ ไม่มีสิ่งใดหยุดยั้งได้ เมื่อไปต่อไม่ได้ต้องยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 ให้ประชาชนเป็นผู้สถาปนารัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง นั่นคือบทสรุปของอาจารย์คณะนิติราษฎร์รายนี้ แน่นอนว่า ถ้ามองโลกแห่งความเป็นจริง หากเกิดความเคลื่อนไหวเช่นนั้นจริง ก็จะมีพวกที่เสียงดังกว่าและกลไกที่อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดวางเอาไว้ ออกมาขับเคลื่อนบิดเบือนเพื่อให้อีกฝ่ายไร้ความชอบธรรมโดยทันที

สิ่งที่หวังกันลึกๆของผู้ที่ต้องการประชาธิปไตยอย่างแท้จริงหนีไม่พ้นว่า หลังการเลือกตั้ง(หากเป็นไปตามโรดแมปและเกิดขึ้นจริง) หวังว่าจะเกิดปัญหาในการบริหารบ้านเมือง เกิดอุปสรรคในการที่นำพาประเทศเดินไปข้างหน้า และภาวะเศรษฐกิจ ปากท้องของประชาชนย่ำแย่ และทั้งหมดจะมีผู้ชี้ให้เห็นว่าเป็นผลพวงจากการติดหล่มอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ถ้าเป็นเช่นนั้นได้ อำนาจของประชาชนที่จะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงก็จะทรงพลังในทันที แต่คนจำนวนไม่น้อยเชื่อว่ามันน่าจะเป็นแค่ความฝันเสียมากกว่า

Back to top button