ใหญ่ให้ถึงที่สุด

คำถามที่ยังไม่สายเกินไปเกี่ยวกับการตัดสินใจของกลุ่มบริษัทในเครือเสี่ยเจริญ   สิริวัฒนภักดี ที่ตัดสินใจซื้อแฟรนไชส์ KFC ที่เหลืออยู่ในไทยทั้งหมดกว่า 240 สาขารวมถึงสาขาที่มีแผนที่จะทำการเปิดในอนาคตอีก 2 แห่ง จาก บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทเจ้าของแฟรนไชส์ด้านอาหาร “แดกด่วน” ในเครือ Pepsi Co. ของสหรัฐฯ ยังต้องการคำตอบอีกหลายด้าน ในหลากแง่มุม


พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล

คำถามที่ยังไม่สายเกินไปเกี่ยวกับการตัดสินใจของกลุ่มบริษัทในเครือเสี่ยเจริญ   สิริวัฒนภักดี ที่ตัดสินใจซื้อแฟรนไชส์ KFC ที่เหลืออยู่ในไทยทั้งหมดกว่า 240 สาขารวมถึงสาขาที่มีแผนที่จะทำการเปิดในอนาคตอีก 2 แห่ง จาก บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทเจ้าของแฟรนไชส์ด้านอาหาร “แดกด่วน” ในเครือ Pepsi Co. ของสหรัฐฯ ยังต้องการคำตอบอีกหลายด้าน ในหลากแง่มุม

วงเงินที่ทุ่มซื้อแฟรนไชส์ KFC ในประเทศไทยจำนวนดังกล่าว ที่ 11,300 ล้านบาท จากทั้งหมดกว่า 600 สาขา ถือเป็นกลุ่มแฟรนไชส์ที่ใหญ่สุด มากกว่ากลุ่มเดิมที่ซื้อไปก่อนหน้าคือ กลุ่ม CRG (เซนทรัล รีเทล กรุ๊ป) ในเครือเซ็นทรัลประมาณ 200 กว่าสาขา และอีกกว่า 100 สาขา เป็นของกลุ่ม RD ที่ก่อตั้งโดยอดีตผู้บริหารเคเอฟซีเดิม

เครือข่ายของเสี่ยเจริญที่ทุ่มเงินดังกล่าวซื้อไป ไม่ได้เป็นบรษัทไทยเอง แต่เป็นบริษัทในสิงคโปร์ ที่เป็นเครือข่ายใต้ร่มธงของ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือ ไทยเบฟ ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นสิงคโปร์

มองจากมุมธุรกิจล้วนๆ ดีลที่เกิดขึ้น ถือเป็นการทำธุรกรรมแบบ “วิน-วิน” กับทุกฝ่าย เพราะทางฝ่ายผู้ขายคือ กลุ่มบริษัท Yum Restaurant ประเทศไทย มีแผนขายสาขาที่ดำเนินงานเองทั้งหมด ผ่านการแต่งตั้งให้บริษัท ไพร้ซ วอเตอร์ เฮาส์ เป็นที่ปรึกษาการซื้อขาย เพื่อจะหันไปให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์

ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) ให้เหตุผลว่า ต้องการปรับกลยุทธ์มาสู่บทบาทของการเป็นผู้ให้บริการแฟรนไชส์ 100% โดยหลังขายกิจการแล้ว จะหยุดการลงทุนขยายสาขา เพื่อปล่อยให้เป็นหน้าที่ของทางแฟรนไชส์ โดยมุ่งเน้นการบริหาร พัฒนาแบรนด์และสนับสนุนแฟรนไชส์ เพื่อให้การขยายสาขา การตลาด การพัฒนาต่างๆ เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งแฟรนไชส์จะเป็นผู้ลงทุนสาขา ส่วนงบการตลาดนั้นจะมาจากการหักเปอร์เซ็นต์จากยอดขายของแต่ละรายเพื่อเข้ากองกลาง โดยมีทีมการตลาดของยัมฯ เป็นผู้ดูแลบริหาร ตั้งเป้าหมายให้มีร้าน KFC ในไทยครบ 800 สาขา ภายในปี 2563  วิษณุ โชลิตกุล, พลวัต

ก้าวย่างของ ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นไปตามสูตรของธุรกิจยุคบริการร่วมสมัยอย่างแท้จริง ที่เน้นการบริหารแฟรนไชส์ผ่านการสร้างแบรนด์มากกว่ารับผิดชอบกับการลงทุนในสินทรัพย์ที่จับต้องได้ในธุรกรรมค้าปลีกที่เน้นเครือข่ายกันอย่างจริงจังเต็มรูป ทำนองเดียวกันกับ บัตรเครดิตวีซ่า และมาสเตอร์

กลุ่มยัม เรสเทอรองตส์ถือว่าการขายแฟรนไชส์แบบ non-exclusive กับ 3 คู่แข่งสำคัญที่มีอำนาจการแข่งขันสูงทั้งหมด จะสร้างความเข้มข้นให้กับเครือข่ายแฟรนไชส์ต่อเนื่องในลักษณะ “แบ่งแยกแล้วปกครอง” ซึ่งนอกจากช่วยลดความเสี่ยงแล้วยังทำให้กำไรเพิ่มขึ้นในอนาคต

ยุทธศาสตร์เช่นนี้ ไม่ได้เป็นการทั่วไป เพราะในกรณีของแฟรนไชส์ร้านอาหารอีกแบบอย่าง Pizza Hut ในไทยทั้งหมด นั้นได้ขาย ให้กับกลุ่ม PH Capital ของ Thoresen Thai Agencies (TTA) ตระกูลมหากิจศิริรายเดียว

ทางด้านไทยเบฟ การรุกทางยุทธศาสตร์ธุรกิจด้านอาหารไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นการรุกคืบต่อเนื่อง เพราะต้องการสร้างเครือข่ายธุรกิจอาหารซึ่งมีมาร์จิ้นทางการตลาดสูง ในฐานะ “เครื่องหมุนเงินสด” เพื่อเพิ่มความสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ทั่วประเทศ เข้าใจในเทรนด์ และยังคงยืนอยู่แถวหน้าของวงการได้ ไม่ใช่แค่การขยายโอกาสสำหรับธุรกิจตามปกติ แต่มีส่วนร่วมในเครือข่ายสาขาของ KFC ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศไทย นอกเหนือจากการเรียนรู้ประสบการณ์ในด้านธุรกิจแฟรนไชส์ ที่จะทำให้อนาคตของกลุ่มไทยเบฟมีประสิทธิภาพ และยังรวมถึงการรุกเข้าสู่ธุรกิจร้านอาหารที่เข้าถึงไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค ด้วยธุรกิจร้านอาหารแบบฟาสต์ฟู้ด หลังจากที่กลุ่มนี้ทำการรุกเพื่อโตทางลัดมากว่า 10 ปีแล้ว

ที่ผ่านมา กลุ่มบริษัทไทยเบฟเวอเรจฯ มีธุรกิจร้านอาหารอยู่ในมือภายใต้แบรนด์ “โออิชิ” มาจากการซื้อกิจการ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด ต่อจาก ตัน ภาสกรนที ผู้ก่อตั้งเมื่อปี 2549 แล้วต่อยอดขยายสู่ธุรกิจอาหารหลากหลายแบรนด์ ประกอบด้วย ร้านโออิชิ แกรนด์, ร้านโออิชิ บุฟเฟต์, ร้านชาบูชิ และร้านโออิชิ ราเมน รวมทั้งยังมีธุรกิจอาหารพร้อมรับประทาน และธุรกิจเครื่องดื่ม ชาเขียวสำเร็จรูป เป็นต้น

การดำเนินการโตทางลัดด้วยการซื้อกิจการและแฟรนไชส์นี้ กลุ่มเสี่ยเจริญ และไทยเบฟ ได้รุกคืบต่อเนื่องเพื่อต่อเติมจิ๊กซอว์ให้ครบถ้วน ดังจะเห็นได้จากการทุ่มเงินเข้าซื้อกิจการ “เสริมสุข” จากกลุ่มเสริมสุขในไทยทั้งหมด เข้าซื้อ “F&N” ที่สิงคโปร์เพื่อครอบคลุมเครือข่ายโลจิสติกส์ธุรกิจอาหารทั้งหมดทั่วเอเชียแปซิฟิก มูลค่า 3.36 แสนล้านบาท

การลงทุนเช่นนี้ เรียกร้องต้องการเงินทุนมหาศาลและความสามารถในการบริหารจัดการสภาพคล่องและหนี้อย่างมีประสิทธิภาพสูงมาก ไม่ใช่จะทำได้ง่ายๆ  โดยมีปรัชญาหลักคือต้องทำให้ใหญ่ให้ได้ ตามสูตร “ไม่อยากตาย ต้องโต” อันเป็นแกนกลางของธุรกิจข้ามประเทศ

แม้จะมีคนที่มองโลกในแง่ร้ายและต่อต้านทุนนิยมแบบปลาใหญ่กินปลาเล็ก” พยายามสร้างภาพว่าการรุกคืบของกลุ่มทุนอย่างเสี่ยเจริญนี้ มีเป้าหมายเพื่อผูกขาดทางธุรกิจ แต่หากพิจารณามุมมองในระดับโลกแล้ว นี่เป็นเพียงแค่การเริ่มต้นสร้างเครือข่ายข้ามชาติที่ยังมีความเปราะบางและหมิ่นเหม่ไม่น้อยเพราะ มีคู่แข่งจำนวนมากที่พร้อมเสมอสำหรับการทดสอบความแข็งแกร่งของเครือข่ายใหม่ที่กำลังรุกคืบอย่างลองผิดลองถูก

การถอยร่นเชิงยุทธศาสตร์เพื่อสร้างกำไรมากขึ้นของยัม เรสเทอรองตส์ และการรุกคืบทางลัดของกลุ่มเสี่ยเจริญและไทยเบฟฯในอาเซียน ล้วนเป็น “ระยะเปลี่ยนผ่าน” ของทุนนิยมระดับภูมิภาคของเอเชียและของโลกที่น่าสนใจและลึกซึ้ง โดยมีเดิมพันในอนาคตที่ยาวไกลพอสมควร

ก้าวย่างของทุนนิยมภูมิภาคและของโลก จะยังคงดำเนินต่อไปในหลากรูปแบบ และเป็นกรณีศึกษาที่น่าติดตามทั้งสิ้น

Back to top button