เกมทึ้งซากแพะครั้งใหม่

เมื่อวานนี้ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประกาศยุทธศาสตร์ทางทหารครั้งใหม่ในอัฟกานิสถาน ที่ตรงข้ามกับตอนหาเสียงหลายเดือนก่อน ในลักษณะ “ถ่มน้ำลายรดฟ้า” ชัดเจน ด้วยการระบุว่า  นอกจากจะไม่เร่งถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน เพราะจะเกิดสุญญากาศขึ้น ซึ่งจะเปิดทางให้กลุ่มก่อการร้ายมีพลังมากขึ้น แต่จะเพิ่มทหารเข้าไปประจำการ แม้จะไม่ได้ระบุตัวเลขที่แน่ชัด แต่แย้มว่า ขึ้นอยู่กับสถานการณ์เป็นสำคัญ มากกว่าการกำหนดกรอบเวลาล่ว


พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล

เมื่อวานนี้ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประกาศยุทธศาสตร์ทางทหารครั้งใหม่ในอัฟกานิสถาน ที่ตรงข้ามกับตอนหาเสียงหลายเดือนก่อน ในลักษณะ “ถ่มน้ำลายรดฟ้า” ชัดเจน ด้วยการระบุว่า  นอกจากจะไม่เร่งถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน เพราะจะเกิดสุญญากาศขึ้น ซึ่งจะเปิดทางให้กลุ่มก่อการร้ายมีพลังมากขึ้น แต่จะเพิ่มทหารเข้าไปประจำการ แม้จะไม่ได้ระบุตัวเลขที่แน่ชัด แต่แย้มว่า ขึ้นอยู่กับสถานการณ์เป็นสำคัญ มากกว่าการกำหนดกรอบเวลาล่วงหน้า

นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า เร็วๆ วันนี้ สหรัฐฯจะเพิ่มทหารไปประจำการในอัฟกานิสถานอีก 4,000 คน ตามที่พลเอก จอห์น นิโคลสัน ผู้บัญชาการกองทัพสหรัฐฯ ในอัฟกานิสถานเสนอแนะ สมทบกับจำนวนประจำการปัจจุบัน 8,400 คน หลังจากลดลงจากช่วงสูงสุด 100,000 คน ในช่วง บารัค โอบามา ตามข้อตกลงของการประชุมสุดยอดผู้นำนาโต้ในลิสบอน พ.ศ. 2553

คำถามคือ ยุทธศาสตร์ใหม่ของทรัมป์ที่เพิ่งประกาศนี้ เป็นการย้อนรอย “สงครามที่ไม่มีวันชนะ” ที่ทรัมป์เคยเรียกว่า “กิจกรรมสูญเปล่า” หรือไม่

ความจริงแล้ว แนวคิดกลับเข้าไปในอัฟกานิสถานครั้งใหม่ ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่มีมาตั้งแต่ต้นปี โดยเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดนัลด์ ทรัมป์ ได้หารือทางโทรศัพท์กับประธานาธิบดีอัชราฟ กานี ของอัฟกานิสถาน ในประเด็นด้านความร่วมมือในการต่อสู้กับกลุ่มก่อการร้าย และการกระชับความสัมพันธ์ โดยแสดงจุดยืนสนับสนุนรัฐบาลของกานีอย่างเต็มที่ในการต่อสู้กับกลุ่มก่อการร้าย สอดรับกับเสียงเรียกร้องของผู้บัญชาการกองทัพสหรัฐฯในอัฟกานิสถานให้ส่งทหารมาประจำการในอัฟกานิสถานเพิ่มขึ้น เพื่อรับมือกับกลุ่มก่อการร้ายตอลิบาน หลังจากอัฟกานิสถานเผชิญกับปัญหาความไม่สงบจากการสู้รบกับกลุ่มก่อการร้าย ซึ่งยืดเยื้อมานานกว่า 15 ปี

บทบาทของกองทัพสหรัฐฯในอัฟกานิสถาน ที่เจอสภาพความล้มเหลวไม่ต่างกับสหภาพโซเวียตยุคก่อนหน้านั้นที่พยายามเขาไปมีอิทธิพลและจัดระเบียบความขัดแย้งในเขตยุทธศาสตร์สำคัญของเอเชียกลาง เพราะภูมิรัฐศาสตร์ของประเทศนี้ติดพันกับหลายประเทศอย่างมาก ทั้งอิหร่าน รัสเซีย จีน ปากีสถานและอินเดีย

สหรัฐฯในยุคของจอร์จ บุช ผู้ลูกอ้างเหตุสร้างสงครามอัฟกานิสถาน พ.ศ. 2544 หลังจากเหตุการณ์อัล-กออิดะห์ โจมตีนิวยอร์ก ทำวินาศกรรม 11 กันยายนโดย กองทัพสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย เครือจักรภพ และพันธมิตรฝ่ายเหนือ เริ่มปฏิบัติการเสรีภาพยั่งยืน (Operation Enduring Freedom) โดยมีเป้าหมายแถลงไว้ว่า เพื่อทำลายองค์การก่อการร้ายอัล-กออิดะฮ์และยุติการใช้อัฟกานิสถานเป็นฐานปฏิบัติการ ทำการโค่นระบอบตอลิบาน ลงจากอำนาจ และสร้างรัฐประชาธิปไตย

การเข้ายึดครองทำได้อย่างง่ายดายภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ ระดับผู้นำอาวุโสของตอลิบานหลบหนีไปยังประเทศปากีสถานเพื่อนบ้านเป็นจำนวนมาก สาธารณรัฐอิสลามปากีสถานถูกจัดตั้งขึ้น และมีการจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวภายใต้ฮาร์มิด คาร์ไซ โดยที่กองกำลัง นาโต้รับช่วงบัญชาการ ISAF ที่ประกอบด้วยทหารจาก 42 ประเทศ โดยมีสมาชิกนาโต้เป็นแกนหลักของกำลัง

นโยบายที่อ้างว่า จะไม่แบ่งแยกระหว่างองค์การก่อการร้าย และชาติหรือรัฐบาลที่ให้ที่พักพิงแก่องค์การเหล่านี้ยืดเยื้อต่อมา โดยไม่ประสบความสำเร็จในการทลายล้างให้สิ้นซาก จนกระทั่งถึงจุดที่มีการตัดสินใจว่า ภารกิจสู้รบในอัฟกานิสถานจะต้องลดขนาดลง และส่งมอบหน้าที่ความรับผิดชอบไปให้กับกองกำลังความมั่นคงอัฟกันแทน

วันนี้ ทรัมป์ กำลังคิดจะกลับย้อนรอยสิ่งที่บุช เคยกระทำมาอีกครั้ง ท่ามกลางคำถามว่า ความสูญเปล่าที่เขาเคยพูดถึง จะย้อนกลับมาอีกครั้งหรือไม่

คำตอบไม่ชัดเจนอีกต่อไป เพราะอดีตจากการเข้าแทรกแซงในอัฟกานิสถาน ที่ล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่าของชาติมหาอำนาจในอดีต ล้วนบอกให้รู้ว่า ปฏิบัติการแทรกแซงใดล้วนแล้วแต่ไม่ต่างกับเกม “ทึ้งซากแพะตาย” ที่ไร้ประโยชน์ของชนเผ่าอัฟกันที่เลื่องลือแต่อย่างใด

คำถามคือ อัฟกานิสถานจะเป็น “สงครามเวียดนาม” ของทรัมป์อีกครั้งหรือไม่ ยังต้องรอการพิสูจน์ ดังที่รัดยาร์ด คิปลิง แห่งอังกฤษเคยกล่าวเอาไว้ในอดีตว่า “ทุกคนที่เข้ายุ่งเกี่ยวในดินแดนนี้ ล้วนถูกฉีกกระชากเป็นเสี่ยงๆ จากสิ่งที่ถูกคาดหวังให้กระทำ ที่ไปด้วยกันไม่ได้กับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงเป็นรูปธรรม

คิปลิง จะถูกหรือผิด วันนี้ยังไม่มีใครรู้ เพราะอนาคตยังไม่ชัดเจน

Back to top button