ปตท.และ เซเว่นฯ

ผู้บริหารของ ปตท. ให้ข่าวอาจไม่ต่อสัญญากับ “เซเว่น  อีเลฟเว่น” เพียงไม่กี่ชั่วโมง


ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร

ผู้บริหารของ ปตท. ให้ข่าวอาจไม่ต่อสัญญากับ “เซเว่น  อีเลฟเว่น” เพียงไม่กี่ชั่วโมง

หลังจากนั้นมีแถลงการณ์ออกมาจากทั้ง 2 ฝ่าย คือ ปตท. และ CPALL

ต่างยืนยันใจความเดียวกันว่า ยังเป็น “พันธมิตร” ที่ดีต่อกัน และยังมีแผนที่จะเปิดเซเว่นฯ ในสถานีบริการน้ำมันใน ปตท.ต่อไปให้ครบ 1,700 แห่ง

ประโยคหลัง เสมือนมีนัยสำคัญ หรือตอกย้ำว่า ทั้ง 2 ฝ่ายยังรักกันดี

แต่ความเป็นจริงในโลกของธุรกิจ โลกของตลาดทุน ต่างก็รู้กันดีว่า ไม่มีมิตรแท้ และศัตรูถาวร

ทุกอย่างขึ้นอยู่กับ “ผลประโยชน์”

หากลงตัว ก็คบค้ากันต่อไปได้

หรือหากอีกฝ่ายมองเห็นทางว่า มีโอกาสที่ตนเองจะสร้างรายได้จำนวนมากกว่า

ความเป็นพันธมิตร ก็ถูกตัดขาดได้เช่นกัน

ส่วนตัวนั้น ไม่เชื่อว่า ปตท.โยนก้อนหินถามทาง

บริษัทที่ทำธุรกิจมีมูลค่าเป็นแสนล้านบาท ย่อมมีเครื่องมือทางการตลาดที่ทันสมัย มีวิธีการสำรวจตลาด และข้อมูลพฤติกรรมการซื้อของลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการอยู่ในมืออยู่แล้ว

รายได้จากธุรกิจน้ำมันเป็นอย่างไร

ธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมัน เช่น ร้านสะดวกซื้อ กาแฟ หรือสินค้าอื่นๆ ในปั๊มน้ำมัน ฯลฯ

เช่นเดียวกับเซเว่นฯ ก็ย่อมมีข้อมูลลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการร้านของตนเองในปั๊มน้ำมัน ปตท.ว่าแต่ละแห่งมีตัวเลขเป็นเท่าไหร่บ้าง

ปัจจุบันมีร้านเซเว่นฯ ในปั๊มน้ำมัน ปตท.ราวๆ 1,100 แห่ง

หรือคิดเป็น 13-14% ของจำนวนสาขาของเซเว่น อีเลฟเว่นทั้งหมดเกือบหมื่นแห่ง

ส่วนยอดขาย ไม่แน่ใจว่า หากนับเฉพาะร้านในปั๊มปตท. จะคิดเป็นเท่าไหร่ของยอดขายทั้งหมดของเซเว่นฯ

แต่ก็เคยมีตัวเลขรวมๆ ยอดขายทั้งหมดของเซเว่นฯจากเกือบหมื่นสาขาออกมาว่า เมื่อปี 2559 อยู่ราวๆ 8.1-8.3 หมื่นบาทต่อวันต่อสาขา

หากจำกันได้ ปตท.เมื่อครั้งเข้าไปซื้อปั๊มน้ำมันเจ็ท(JET)

ในเจ็ทนั้นมีร้านกาแฟชื่อดัง และคนเข้าไปอุดหนุนกันเยอะมากๆ นั่นคือ “บ้านใร่ กาแฟ”

แต่ปตท.ก็ยังกล้าที่จะสลัดบ้านใร่ฯ ออกไป แล้วเอา “คาเฟ่ อเมซอน” เข้ามาเสียบแทน

ปัจจุบันปั๊ม ปตท.มีกำไรหลักมาจากร้านกาแฟคาเฟ่ อเมซอน

รองลงมาเป็นร้าน “จิฟฟี่” ที่มียอดขายอยู่ที่ 2.5 ล้านบาทต่อเดือน และช่วงเดือน ม.ค.-มิ.ย.ปีนี้ มีกำไรเติบโตขึ้น 3% หรือมีสัดส่วนอยู่ที่ 23% ของกำไรขั้นต้น

นับวันรายได้จากธุรกิจนันออยล์ หรือที่ไม่ได้มาจากน้ำมันมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น

ปตท.เคยสนใจจะเข้าร่วมประมูลซื้อ “คาร์ฟูร์”

และผ่านการคัดเลือกในรอบแรกแล้ว

ทว่า ในที่สุด ดูเหมือนทางกระทรวงพลังงาน ออกมาค้านเรื่องนี้ เพราะมองว่า ไม่เกี่ยวกับ “ความมั่นคง” ทางพลังงาน(มีบางฝ่ายเดาไปว่า สงสัยจะเป็นคำสั่งทางการเมืองให้ ปตท. “ถอยออกไปซะ”)

ผ่านมาถึงวันนี้ ธุรกิจนันออยล์ คือตัวที่จะชี้วัดว่า องค์กรตนเองจะไปต่อได้หรือไม่

สโลแกน และนโยบายต่างๆ จึงต้องถูก “พังทลาย”

นั่นเพราะมันจะกลายเป็น “ข้อจำกัด” ในการสร้างการเติบโตทางธุรกิจ

ผู้บริหารของ ปตท. เคยให้สัมภาษณ์ว่า ธุรกิจ “รีเทล” มีอนาคตที่ดี และไม่มีอะไรที่จะดีกว่าธุรกิจรีเทล

ในปลายปี 2559 หุ้น “บางจากฯ”  หรือ BCP จับมือกับพันธมิตรจากเนเธอร์แลนด์ เพื่อเปิด SPAR เป็น “ซูเปอร์มาร์เก็ต” ในปั๊มน้ำมัน

BCP ตั้งเป้าหมายเปิดให้ได้ 300 สาขา ภายในปี 2563

พีทีจี เอ็นเนอร์ยี หรือ PTG ก็กำลังรุกเข้าสู่ธุรกิจนันออยล์อย่างหนัก

ล่าสุด เป็นพันธมิตร กับ “ออโต้แบคส์ เซเว่น”(AUTOBACS) ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนใน Tokyo Stock Exchange ประเทศญี่ปุ่น ร่วมลงทุนในบริษัท สยาม ออโต้ แบคส์ จำกัด เพื่อประกอบธุรกิจศูนย์บริการและซ่อมบำรุงสำหรับรถยนต์

ออโต้แบคส์ฯ มี “กลุ่มสหพัฒน์” เข้ามาถือหุ้นอยู่ด้วย

สำหรับ ปตท.แล้ว ณ ขณะนี้ ปตท. ก็คงประเมินตนเองว่ามีศักยภาพในการจะสร้างธุรกิจรีเทลขึ้นมาเองได้

และนั่นคือประเด็นที่ว่า ทำไมถึงยังรักษาแบรนด์ “จิฟฟี่”ไว้

และก็ไม่น่าจะใช่เรื่องยากอะไรที่ ปตท.จะสร้าง Brand Awareness ของแบรนด์ จิฟฟี่ จนนำไปสู่ความภักดีในตราสินค้า หรือ Brand Loyalty

มีการคาดเดากันว่า ก่อนหน้านี้น่าจะมีการคุยอะไรกันระหว่าง “ปตท.” กับ “เซเว่นฯ”

และเรื่องที่คุยกัน อาจมีเงื่อนไขเพิ่ม และทำให้แต่ละฝ่ายไม่ตอบรับของอีกฝ่าย

จึงเป็นที่มาของข่าวที่ปตท.เตรียมแยกทางเซเว่นฯ

แม้จะมีแถลงการณ์ออกมาจาก 2 ฝ่าย

แต่ผ่านมาถึงตอนนี้ ส่วนใหญ่ก็ยังเชื่อว่า ข่าวที่ได้มีการเผยแพร่ในครั้งแรก มีความเป็นไปได้มากกว่า

นักการตลาด และคนในวงการตลาดทุน ต่างเฝ้ามองเรื่องนี้

และแสดงความมั่นใจอย่างมากว่า

ปตท.จะทำธุรกิจรีเทลเอง อย่างเต็มตัว

Back to top button