รสนา : ยุคนี้หนักกว่าแม้ว

รสนา โตสิตระกูล วิพากษ์ร่าง พ.ร.บ.ซูเปอร์บอร์ดรัฐวิสาหกิจ ที่สนช.เพิ่งรับหลักการด้วยมติเอกฉันท์ ว่าการก่อตั้งบรรษัทรัฐวิสาหกิจซึ่งเปิดช่องให้เอกชนถือหุ้นได้ จะเป็นกระบวนการแปรรูปอำพราง หนักข้อยิ่งกว่าการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในยุครัฐบาลทักษิณ


ทายท้าวิชามาร : ใบตองแห้ง

รสนา โตสิตระกูล วิพากษ์ร่าง พ.ร.บ.ซูเปอร์บอร์ดรัฐวิสาหกิจ ที่สนช.เพิ่งรับหลักการด้วยมติเอกฉันท์ ว่าการก่อตั้งบรรษัทรัฐวิสาหกิจซึ่งเปิดช่องให้เอกชนถือหุ้นได้ จะเป็นกระบวนการแปรรูปอำพราง หนักข้อยิ่งกว่าการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในยุครัฐบาลทักษิณ

เปล่า ไม่ใช่จะให้ท้ายรสนา ไม่ใช่จะชวนต่อต้านการแปรรูป เห็นด้วยเห็นต่างเอาไว้ก่อน แค่ชวนขำว่ารสนาเพิ่งรู้หรือ ที่ว่าๆ ทักษิณอำนาจนิยม ที่ต่อต้านการนำประเทศเข้าสุ่ทุนนิยมโลกาภิวัตน์ ยุคนี้หนักกว่า

นี่ไม่ใช่เรื่องแรกที่รัฐบาล คสช.มีแนวคิดเหมือนรัฐบาลทักษิณ อย่างที่คนชอบเอามาล้อ “ทักษิณคิด ประยุทธ์ทำ” ไม่ว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC หรือรถไฟความเร็วสูง เงินกู้ 2 ล้านล้าน ฯลฯ

ขาดแค่ทักษิณไม่ซื้อเรือดำน้ำ ประยุทธ์ไม่จำนำข้าว แต่อย่าบอกนะว่ารัฐบาลนี้ไม่เอาใจคนจน คลังเพิ่งแจกบัตรสวัสดิการให้ขึ้นรถเมล์ฟรีรถไฟฟ้าฟรี กบข.ก็มีมาตรการช่วยชาวนา “จำนำยุ้งฉาง” มีทั้งสินเชื่อชะลอการขายและเงินให้เปล่า ค่าเก็บข้าวขึ้นยุ้งฉาง ตันละ 1,500 บาท ค่าปรับปรุงคุณภาพข้าว 1,200 บาท กระทรวงเกษตรฯ ก็มีโครงการ 9101 ชุมชนละ 2.5 ล้านบาท ให้เอาเงินครึ่งหนึ่งไปซื้อวัตถุดิบ (เช่นขี้วัวขี้ไก่) อีกครึ่งหนึ่งจ้างชาวบ้านช่วยกันทำงาน (เช่นทำปุ๋ยอินทรีย์)

แหม่ ครม.สัญจร ทัวร์นกขมิ้น ก็มีเหมือนกัน เพียงแต่นายกฯ ที่มาจากการหาเสียงเลือกตั้ง คงไม่ยอมให้เกิดภาพ “ผักชีโรยหน้า” แบบราชการปักเสาพาดสายไฟฟ้าต่อท่อน้ำประปาต้อนรับนายกฯ ไปเยี่ยมผู้ยากไร้ แต่พอนายกฯ กลับปุ๊บก็รื้อปั๊บ

รัฐบาล คสช.กับรัฐบาลทักษิณมีแนวคิดเศรษฐกิจคล้ายกัน โดยเฉพาะเมื่อมองผ่านสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ แม้อาจไม่เหมือนกันเสียทุกอย่าง (เพราะยุคทักษิณยังมีคนเก่งกว่าสมคิดอีกมาก) แต่ก็เดินแนวเดียวกัน อย่างที่เสกสรรค์ ประเสริฐกุล บอกว่า “ความพยายามของชนชั้นนำภาครัฐที่จะสร้างสังคมตามแนวคิดอนุรักษนิยมคู่ขนานกับการเกี่ยวร้อยกับทุนนิยมโลก”

เคยสังเกตไหมว่า ทั้งสองรัฐบาลยังพยายามสร้างอำนาจเข้มแข็งเหมือนกัน ทักษิณสร้างอำนาจผ่านความนิยมจากการเลือกตั้ง แล้วพยายามทำให้อำนาจการเมืองเข้มแข็งเหนือรัฐราชการใช้คะแนนนิยมเสียงข้างมากกลบคนต่อต้าน ตัดสินใจดำเนินนโยบายต่างๆ ได้เฉียบพลัน ถ้าย้อนเวลาไปช่วงนั้นคงจำกันได้ ทักษิณก็ขายฝันอยู่ยาวนำประเทศยิ่งใหญ่

อำนาจ คสช.อยู่บนฐานความเป็นปึกแผ่นของกองทัพและพลังอนุรักษนิยม วางกลไกรัฐธรรมนูญให้เอื้อต่อการปกครองของรัฐราชการอย่างเข้มแข็ง มั่นคง ยั่งยืน ผนึกกำลังเทคโนแครตและภาคธุรกิจ ใช้ ม.44 ดำเนินนโยบายต่างๆ ได้โดยไม่มีคนค้าน ขายฝันอยู่ยาวนำประเทศก้าวกระโดดเช่นกัน

หนึ่งสร้างความเข้มแข็งของอำนาจจากเลือกตั้ง หนึ่งสร้างความเข้มแข็งของรัฐราชการ นั่นคือความต่างในความเหมือน

ขำๆ นะครับ ตอนที่ผ่านกฎหมายซูเปอร์บอร์ดรัฐวิสาหกิจ สนช.อภิปรายเป็นห่วงอนาคตฝ่ายการเมืองแทรกแซงได้ ไม่รู้เลยหรือว่าพวกตัวเองคือนักการเมืองจากแต่งตั้ง

ถามว่าอำนาจนี้จะผลักดันเศรษฐกิจก้าวกระโดดได้จริงไหม ปัญหาข้อแรก คือความไม่มีประสิทธิภาพของรัฐราชการ แถมยังพยายามจะสร้างความเข้มแข็ง เพิ่มอำนาจรัฐราชการ

ข้อสองคือความแตกแยกที่ไม่จบง่าย ภายใต้ความไม่ยุติธรรม คิดว่าเอาชนะ ทำลายล้าง ด้วย “กฎหมาย” แล้วจะทำให้คนยอมจำนน

ข้อนี้ยกตัวอย่าง บางคนอาจไม่ชอบรสนา เกลียดด้วยซ้ำ หรืออาจเห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ซูเปอร์บอร์ด แต่เมื่อเป็นรัฐบาลนี้ อยู่เฉยๆ หรือแอบเชียร์รสนาซะยังดีกว่า

Back to top button