ครม.เห็นชอบเว้นการเก็บภาษีซ้อนระหว่างไทย-กัมพูชา หวังสร้างบรรยากาศการค้า-ลงทุน

ครม.เห็นชอบข้อตกลงเว้นการเก็บภาษีซ้อนระหว่างไทย-กัมพูชา หวังสร้างบรรยากาศการค้า-ลงทุน


นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างความตกลงระหว่างรัฐบาลไทย-กัมพูชาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน และการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีที่เก็บจากเงินได้ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

โดยมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศรับไปดำเนินการตามแบบพิธีทางการทูตและกฎหมายภายใน เพื่อให้ความตกลงดังกล่าวมีผลบังคับใช้ต่อไป สำหรับสาระสำคัญของความตกลงดังกล่าว คือ 1.ขอบข่ายของความตกลง ใช้กับผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยหรือกัมพูชา หรือทั้งสองประเทศ และจะใช้บังคับกับภาษีที่เก็บจากฐานเงินได้

2.วิธีขจัดภาษีซ้อน ประเทศคู่สัญญาจะยอมให้ผู้มีถิ่นที่อยู่ของตน นำภาษีที่เสียไว้แล้วในอีกประเทศหนึ่งมาหักออกจากภาษีที่ต้องชำระในประเทศตนเท่าจำนวนภาษีที่ได้ชำระไว้จริง แต่ต้องไม่เกินกว่าจำนวนภาษีที่คำนวณได้ในประเทศตน

นอกจากนี้ในกรณีที่ได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีตามกฎหมายส่งเสริมการลงทุนของประเทศคู่สัญญา โดยให้นำจำนวนภาษีที่ได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนไปถือเป็นเครดิตภาษีได้ด้วย โดยให้มีผลใช้บังคับเป็นเวลา 10 ปี นับแต่ความตกลงมีผลใช้บังคับ

3.การเก็บภาษีจากกำไรธุรกิจ ประเทศที่มีการจ่ายเงินได้จะเก็บภาษีจากวิสาหกิจที่ดำเนินธุรกิจผ่านสถานประกอบการถาวรในประเทศที่มีการจ่ายเงินได้นั้น

4.การเก็บภาษีจากการขนส่งระหว่างประเทศ ให้ยกเว้นเฉพาะภาษีเงินได้สำหรับการขนส่งทางอากาศยานระหว่างประเทศ สำหรับภาษีเงินได้จากการขนส่งทางเรือและทางบก (รวมรถไฟ) ให้จัดเก็บภาษีตามกฎหมายภายในของแต่ละประเทศ โดยลดภาษีให้กึ่งหนึ่ง

5.การเก็บภาษีจากทรัพย์สิน กรณีเงินปันผล ดอกเบี้ย ค่าสิทธิ และค่าธรรมเนียมการบริการทางเทคนิค จะมีการจำกัดอัตราภาษีในประเทศผู้จ่ายเงินได้ โดยไม่ให้เก็บเกินกว่าอัตราภาษีตามที่ความตกลงกำหนดไว้, กรณีค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ และผลได้จากการจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ของสถานประกอบการถาวร และหุ้นที่มีทรัพย์สินส่วนใหญ่เป็นอสังหาริมทรัพย์ ให้ประเทศที่ทรัพย์สินนั้นตั้งอยู่ยังคงมีสิทธิเก็บภาษีได้

6.การเก็บภาษีเงินได้ การเก็บภาษีจากเงินเดือน ค่าจ้าง หรือค่าตอบแทนจากการจ้างแรงงาน การให้บริการส่วนบุคคลที่เป็นอิสระ การให้บริการส่วนบุคคลที่ไม่เป็นอิสระ นักแสดง นักเรียน และผู้ฝึกงาน หากมีการให้บริการในประเทศใดให้ประเทศนั้นมีสิทธิเก็บภาษีได้ แต่อาจได้รับยกเว้นภาษีตามเงื่อนไขที่ความตกลงกำหนดไว้

7.การเริ่มใช้ความตกลง ความตกลงมีผลใช้บังคับเมื่อประเทศคู่สัญญาได้แจ้งโดยวิธีทางการทูต สำหรับประเทศไทยกรณีภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย จะใช้บังคับกับเงินได้ที่ได้รับหรือหลังจากวันแรกของเดือนมกราคมถัดจากปีซึ่งความตกลงมีผลใช้บังคับ

ขณะที่ภาษีเงินได้อื่นๆ จะมีผลใช้บังคับสำหรับภาษีที่เรียกเก็บในปีภาษี หรือรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มต้นในหรือหลังจากวันแรกของเดือนมกราคมถัดจากกปีที่ความตกลงมีผลใช้บังคับ

8.การเลิกใช้ความตกลง ประเทศคู่สัญญาสามารถแจ้งการเลิกใช้ด้วยวิธีทางการทูต ภายหลังที่ความตกลงนี้มีผลใช้บังคับมาแล้ว 5 ปี โดยแจ้งภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ และจะมีผลเลิกใช้กับเงินได้ที่เกิดขึ้นในปีภาษีถัดไป

“ประโยชน์ที่จะได้รับจากความตกลงนี้จะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันและเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจ ส่งเสริมให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุน เทคโนโลยี เสริมสร้างบรรยากาศทางการค้าและการลงทุน ช่วยเพิ่มความมั่นใจให้นักลงทุน และส่งเสริมการประกอบกิจการขนส่งระหว่างประเทศ

ขณะเดียวกันยังเป็นการส่งเสริมความร่วมมือในการป้องกันการหลบเลี่ยงภาษีระหว่างประเทศ และตรวจสอบธุรกรรมที่เข้าข่ายการหลบเลี่ยงภาษีระหว่างสองประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น…ท่านนายกฯ จะเดินทางไปกัมพูชาปลายสัปดาห์นี้ ซึ่งก็จะได้มีการเจรจาในเรื่องดังกล่าวกับรัฐบาลกัมพูชาด้วย” นายกอบศักดิ์ กล่าว

โดยปัจจุบันนักธุรกิจไทยเข้าไปลงทุนทำธุรกิจในประเทศกัมพูชาหลายด้าน ทั้งท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร สิ่งทอ ธนาคารพาณิชย์ และท่าเรือ เป็นต้น ซึ่งกัมพูชาถือเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายที่ไทยจะเข้าไปขยายการลงทุน เนื่องจากเป็นประเทศที่ไม่ค่อยมีปัญหาด้านการกีดกันการค้าหรือจำกัดการลงทุนของต่างชาติ

ขณะเดียวกันยังมีความสะดวกในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนที่ใช้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นหลักในการทำธุรกิจ รวมถึงยังเปิดกว้างกรณีการถือหุ้นของนักลงทุนต่างชาติที่สามารถเข้าไปถือหุ้นบริษัทในกัมพูชาได้ไม่จำกัดสัดส่วน

อนึ่ง ประเทศไทยได้มีการจัดทำอนุสัญญาหรือความตกลงเพื่อการยกเว้นภาษีซ้อนกับต่างประเทศมาตั้งแต่ปี 2507 ปัจจุบันมีความตกลงที่มีผลใช้บังคับอยู่ 60 ฉบับ และในส่วนของอาเซียนนั้น ไทยได้มีความตกลงดังกล่าวแล้วกับ 8 ประเทศ ซึ่งกัมพูชาเป็นประเทศที่ 9 และบรูไนจะเป็นประเทศที่ 10 ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการเจรจา

Back to top button