4 หุ้นการบินเด้งรับผลดี2ต่อ ขยับปีกสู่ไฮซีซั่น-ม.44ตัดคู่แข่งบินตปท.

4 หุ้นสายการบินขยับปีกสู่ไฮซีซั่น พร้อมเด้งรับผลดี ม.44 ตัดคู่แข่งบินระหว่างประเทศ หลังออกกฏห้ามผู้ไม่ผ่านเกณฑ์ AOC บินยาวถึงปีหน้า


สืบเนื่องจากกรณีที่ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีมติเห็นชอบให้ออกคำสั่ง ม.44 มอบอำนาจของ คสช.ให้สถาบันการบินพลเรือนเป็นผู้พิจารณาไม่ให้บริษัทหรือองค์กรใดที่ประกอบการเดินอากาศจัดเที่ยวบินระหว่างประเทศ ในช่วง 1 ก.ย.60 – 31 ม.ค.61 เพื่อให้สอดรับกับที่ทางองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) จะเข้ามาตรวจประเมินเพื่อออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่ (AOC)

ทั้งนี้ ทาง ICAO มีกำหนดจะเข้ามาตรวจสอบเรื่องนี้ในประเทศไทยในช่วง 20-27 ก.ย. 60 เพราะฉะนั้น  ICAO ต้องการเห็นมาตรการที่เด็ดขาดเข้มข้นของประเทศไทย โดยหลังจากนั้นทางสถาบันการบินพลเรือน เชื่อมั่นว่าจะเร่งดำเนินการออก AOC ได้ทัน คือ ไม่เกิน 31 ม.ค.61 ซึ่งขณะนี้มีสายการบินเหลืออยู่เพียง 12 ราย ที่ยังไม่ผ่านเกณฑ์ดังกล่าวและถูกห้ามบินดังนี้ บริษัท เอ็มเจ็ท จำกัด ,บริษัท โอเรียนท์ ไทย แอร์ไลน์ จำกัด ,บริษัท ไทยเวียตเจ็ท แอร์ จอยท์ สต๊อค จำกัด ,บริษัท เค-ไมล์ แอร์ จำกัด ,บริษัท เจ็ทเอเชีย แอร์เวย์ จำกัด ,บริษัท เอซี เอวิเอชั่น จำกัด

อีกทั้งบริษัท สยามแลนด์ ฟลายอิ้ง จำกัด ,บริษัท เอเชีย แอทแลนติก แอร์ไลน์ส จำกัด ,บริษัท วีไอพี เจ็ทส์ จำกัด ,บริษัท เอช เอส เอวิเอชั่น จำกัด ,บริษัท แอ็ดวานซ์ เอวิเอชั่น จำกัด ,บริษัท สกาย วิว แอร์เวย์ จำกัด

 

สำหรับประเด็นดังกล่าวนั้น “ผู้สื่อข่าว” มองว่า เป็นปัจจัยบวกกับกลุ่มสายการบินที่ผ่านการตรวจสอบ Recertification และสามารถให้บริการได้ตามปกติ เนื่องจากนักท่องเที่ยวที่ต้องการบินระหว่างประเทศ จะไหลเข้ามาใช้บริการในบริษัทที่ยังสามารถบินระหว่างประเทศได้ตามปกติ ซึ่งเท่ากับว่าการแข่งขันระหว่างสายการบินจะมีน้อยลง

โดยบจ.ในกลุ่มสายการบินที่มีเที่ยวบินระหว่างประเทศมีทั้งสิ้น 9 ราย ได้แก่  บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ,บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA,บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด ในเครือ AAV ,บริษัท ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ จำกัด ในเครือ AAV ,บริษัท สายการบินนกสกู๊ต จำกัด ในเครือ NOK ,บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK,บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด ,บริษัท ไทย ไลอ้อน เมนทารี จำกัด ,บริษัท สบายดี แอร์เวย์ส จำกัด

อันดับที่ 1 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI โดยนักวิเคราะห์  บล.ฟิลลิป แนะนำ “ซื้อ” THAI ราคาเป้าหมาย 20.40 บาท/หุ้น โดยคาดว่าครึ่งปีหลังจะดีขึ้นกว่าครึ่งปีแรก หลังผ่านฤดูกาลต่ำสุดของปีในไตรมาส 2/60 ซึ่งครึ่งปีหลัง Cabin Factor ยังคงสูงต่อเนื่องจากครึ่งปีแรก โดย ก.ค.-ส.ค. อยู่ที่ราว 79-80% ซึ่งชดเชยรายได้/คน-กม. ที่ลดลงโดยคาดรายได้/คน-กม.ดีขึ้น หลังผ่านจุดต่ำสุดของปีในไตรมาส 2/60

อีกทั้งภาพรวมในไตรมาส 4/60 ที่เป็น high season ดีกว่าปีก่อน หากไม่มีรายการพิเศษคาดจะมีกำไรชดเชยในครึ่งปีแรกได้ อย่างไรก็ตาม รายการพิเศษในไตรมาส 2/60 ที่มากและรายได้/คน-กม. ที่ลดลงกว่าคาด จึงลดคาดการณ์กำไรลงเหลือ 1,309 ล้านบาท จากเดิม 4,414 ล้านบาท

ทั้งนี้ คาดการณ์กำไรปี 2561 โตต่อเนื่อง จาก Cabin Factor ที่คาดว่าจะสูงต่อเนื่อง รวมถึงราคาน้ำมันไม่น่าจะปรับขึ้นมากเหมือนในปี 2560 และรายได้/คน-กม. น่าจะฟื้นตัวในทางบวก กำไรน่าจะมีทิศทางที่ดีได้ต่อเนื่อง อีกทั้งไตรมาส 4/60 ไม่มีผลกระทบเช่น 2 ปีก่อน คาดกำไรที่ 2,189 ล้านบาท บนรายได้ที่คาดว่าจะโต 5.7% จากปีก่อน และรายการพิเศษลดลง

ปรับคำแนะนำเป็น “ซื้อ” ราคาพื้นฐานปี 2561 อยู่ที่ 20.40 บาท: การฟื้นตัวยังมีต่อเนื่องแม้จะช้ากว่าคาด จึงยังคงอิง P/BV ที่ 1.2 เท่า และปรับราคาพื้นฐานเป็นปี 2561 ที่ 20.40 บาท ราคาหุ้นลดลงรับผลขาดทุนไน 2Q60 ไปมากแล้ว ปรับคำแนะนำเป็น “ซื้อ” จาก “ทยอยซื้อ”

 

อันดับที่ 2 บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA โดยนักวิเคราะห์ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) แนะนำ “Neutral” BA ให้ราคาเป้าหมาย 18.60 บาท/หุ้น โดยมองว่าผลประกอบการของ BA ในครึ่งปีแรกออกมาอ่อนแอ โดยมีกำไรสุทธิแค่ 15 ล้านบาท ซึ่งลดลงอย่างมีนัยสำคัญจากปีก่อนจาก 1.4 พันล้านบาทใน ครึ่งปีแรกของปี 59 โดยผลการดำเนินงานของธุรกิจสายการบินในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ถูกกระทบจากการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นจาก LCCs ซึ่งส่งผลให้ราคาตั๋วเฉลี่ยลดลง 6% จากปีก่อน

ขณะที่ load factor ก็ลดลงเหลือแค่ 67.1% จาก  69.6% ในครึ่งปีแรก คาดว่า ผลประกอบการของ BA ในไตรมาส 3/60 จะฟื้นตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อน เนื่องจากเป็นช่วงฤดูท่องเที่ยวของเกาะสมุย

นอกจากนี้ยังคาดว่า ผลการดำเนินงานโดยรวมของ BA จะแข็งแกร่งขึ้นในครึ่งปีหลัง อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการที่อ่อนแออย่างมากในช่วงครึ่งปีแรกส่งผลให้ปรับลดประมาณการกำไรสุทธิปี 2560 ลง 74% เหลือ 490 ล้านบาท (-72% จากปีก่อน)  และปี 2561 ลง 69% เหลือ 643 ล้านบาท (+31% จากปีก่อน) โดยปรับลดราคาเป้าหมายของ BA ลงเหลือ 18.60 บาท (จากเดิม 22.00 บาท) ทั้งนี้ เรายังคงคำแนะนำถือ BA

 

อันดับที่ 3 บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV  โดยนักวิเคราะห์ ด้าน บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ปรับคำแนะนำจาก”ถือ”เป็น”ซื้อ”หุ้น AAV หลังทิศทางกำไรสุทธิในช่วงครึ่งหลังปีนี้จะกลับมาดีขึ้น จากผลบวกของจำนวนผู้โดยสารจีนที่กลับมาฟื้นตัว โดยในช่วงต้นเดือน ต.ค.ยังได้รับผลบวกจากช่วงวันหยุดยาววันชาติจีนหรือ Golden Week ที่ปัจจุบันมียอด Advance Booking แข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม ประเมินกำไรสุทธิปี 60 จะลดลงจาก 16% จากปีก่อน หลังกำไรสุทธิในครึ่งปีแรกลดลงค่อนข้างมาก แต่คาดกำไรสุทธิปี 61 จะกลับมาเติบโต 20%

นอกจากนี้ ในช่วงครึ่งปีหลัง AAV มีการเปิดเส้นทางบินใหม่เพิ่ม โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในภูมิภาคเอเชียใต้ ได้แก่ อินเดีย ที่คาดว่าจะเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงในอนาคต และมัลดีฟส์ที่คาดว่าจะได้รับการตอบรับที่ดี โดยคาดว่า AAV จะมีฐานลูกค้าเอเชียใต้เพิ่มขึ้นเป็น 3-5% ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า จากปีก่อนที่ 1% ซึ่งมองว่าจะเป็นข้อดีที่จะช่วยกระจายความเสี่ยงจากปัจจุบันที่สายการบินไทยแอร์เอเชียอิงกับจำนวนผู้โดยสารชาวจีนค่อนข้างมากราว 20% ของจำนวนผู้โดยสารรวม ขณะที่ปัจจุบันเส้นทางบินจีนเริ่มมีการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น

 

อันดับที่ 4 บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK นายพาที สารสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร NOK คาดว่าในปี 61 สายการบินนกแอร์จะกลับมามีกำไร จากปีนี้ที่ยังคงมีผลขาดทุนต่อเนื่องแต่จะลดลงกว่าปีก่อน ที่มีผลขาดทุนสุทธิ 2.8 พันล้านบาท เนื่องจากบริษัทได้ปรับลดต้นทุนการดำเนินงานลงไปมาก โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายเครื่องบิน ที่ปีนี้ได้ปลดออกจากฝูงบิน 4 ลำ เป็นเครื่องบินโบอื้ง 737-800 ทำให้บริษัทลดภาระค่าเช่า รวมทั้งเป็นเครื่องบินที่มีอายุมากแล้ว ขณะเดียวกันก็จะรับมอบเครื่องบินใหม่ในรุ่นเดียวกัน 1 ลำในปลายปี

นอกจากนี้ ราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งเงินบาทแข็งค่าทำให้ค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินสดุลดอลลาร์ลดลง ก็จะช่วยหนุนผลการดำเนินงานในปีนี้ด้วย ขณะที่ในด้านอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) ในปีนี้เชื่อว่าจะทำได้ตามเป้าที่ 85%  โดยปัจจุบันสายการบินนกแอร์มีส่วนแบ่งตลาดโลว์คอสแอร์ไลน์ ที่ 25%

“เราลดต้นทุนลงมาได้ 1 บาทกว่าๆ ต่อกิโลเมตร จาก 2 บาทกว่า ปีนี้เรายังขาดทุนอยู่แต่ก็จะลดลงจากปีก่อน แต่ปีหน้าเราทำกำไรได้”นายพาที กล่าว

นอกจากนี้สายการบินนกแอร์ยังได้เพิ่มเส้นทางต่างประเทศ โดยเฉพาะในจีน ที่ปัจจุบันสายการบินนกแอร์มีกว่า 50 เที่ยวบินที่บินไปจีน และในไตรมาส 4/60 เตรียมเปิดจุดบินใหม่อีก 3-4 เมืองรองในจีน และเพิ่มความถี่เที่ยวบิน รวมทั้งเพิ่มเส้นทางบินจากสนามบินอู่ตะเภาไปจีนหลายเที่ยวบิน ดังนั้น จะทำให้การใช้เครื่องบินเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ (Utilization)ได้มาก โดยคาดว่าในต้นปี 61 จะมี Utilization ที่ 11-12 ชั่วโมง/ลำ/วันจากปัจจุบันอยู่ที่ 8 ชั่วโมง/ลำ/วัน

ทั้งนี้ ในปี 61 บริษัทตั้งเป้าจะเพิ่มรายได้จากเส้นทางต่างประเทศเป็น 50% จากปีนี้มีสัดส่วน 30% ส่วนรายได้จากเส้นทางในประเทศจะลดลงเหลือ 50% จาก70% ในปีนี้

Back to top button