กันยาอาถรรพ์

ดัชนีตลาดหุ้นไทยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมายังคงแกร่งเกินคาด สามารถปิดบวกท้ายตลาดได้ แม้จะเล็ก


พลวัตปี 2017 :วิษณุ โชลิตกุล

 

ดัชนีตลาดหุ้นไทยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมายังคงแกร่งเกินคาด สามารถปิดบวกท้ายตลาดได้ แม้จะเล็กน้อย แต่ยังสามารถรักษาโมเมนตัมขาขึ้นต่อไป ที่จุดสูงสุงในรอบ 23 ปี เอาไว้ได้

ปรากฏการณ์เพิ่มเติมที่โดดเด่นเมื่อวันศุกร์อีกอย่างของตลาดหุ้นไทยที่ต้องกล่าวถึง กล่าวแม้จะเผชิญแรงขายในช่วงเปิดตลาดวันศุกร์ เพราะข่าวร้ายเกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธข้ามเกาะฮอกไกโดไปได้แล้ว จนทำให้ดัชนีตลาดอนุพันธ์ติดลบจากแรงขายต่างชาติ แต่หุ้นเข้าเทรดวันแรกอย่าง ICN กลับสร้างปรากฏการณ์ใหม่ ทำสถิติเปิดตัวเกือบชนเพดาน 200% จากราคาจอง กลายเป็นหุ้นวันแรกที่เปิดตัวสูงสุดของปีนี้ ดีใจกันทั่วหน้า สำหรับคนที่เกี่ยวข้อง

ข่าวดีท่วมตลาดระยะสั้นอย่างนี้ ทำให้นักวิเคราะห์ และนักลงทุนจำนวนไม่น้อย พากันลืมคำพูดเก่าๆ ที่มักจะมาในเดือนกันยายนทุกๆ ปีว่าเป็นเดือนอาถรรพ์ ที่หุ้นจะต้องตกแรง ก่อนที่จะซึมยาวเดือนตุลาคม เพื่อจะกลับมาซื้อในเดือนพฤศจิกายน

กันยาอาถรรพ์ เป็นคำพูดจากนักลงทุนในวอลล์สตรีทของตลาดหุ้นนิวยอร์ก จนถือกันว่า เป็นเดือนอาถรรพ์เดือนหนึ่งของสหรัฐฯ ซึ่งมักเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน และส่งผลกระทบโดยตรงต่อตลาดหุ้น

โดยเฉพาะนับแต่เหตุการณ์ 11 กันยายน 2544 เป็นต้นมา ที่มีการโจมตีอาคารเวิลด์เทรดในนิวยอร์ก แล้วย้ำอีกครั้งใน วันที่ 15 กันยายน 2551 อันเป็นวันหายนะของ เลห์แมน บราเธอร์ส วาณิชธนกิจ 1 ใน 5 เสือวอลล์สตรีท ที่แผ่คลื่นวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ส่งผลกระทบลูกโซ่ไปทั่วโลกหุ้นร่วงระเนระนาด และแปรสภาพเป็นวิกฤตการเงินโลกในเวลาอันรวดเร็วลุกลามมาถึงปัจจุบัน

มีคนพยายามแอบอ้างสถิติมาชี้ให้เห็นว่า ใน 50 ปีมานี้ ชี้ว่า กันยายนเป็นเดือนที่ตลาดหุ้นตกบ่อยที่สุด โดยนับจากปี พ.ศ. 2502

แม้จะมีข้อยกเว้นให้มีเสียงโต้แย้งว่า อาจจะมีข้อยกเว้น เพราะบางปี ดัชนีดาวโจนส์ และดัชนีของตลาดหุ้นนิวยอร์กก็ขึ้นได้ แต่ไม่บ่อยเท่าตก ดังนั้นกันยาอาถรรพ์ จึงเป็นแค่ “ความเป็นไปได้” มากกว่า “ข้อเท็จจริง” แต่ข้ออ้างที่ยกตัวเลขมากว่า สถิติในการพุ่งทะยานในเดือนกันยายน มีเพียง 34% เท่านั้น ก็ยังทำให้คำบอกเล่าของปรากฏการณ์ยังคงถูกนำมาอ้างอิงกันอยู่เรื่อยๆ

ปัจจุบัน มีคำอธิบายใหม่ว่า กันยาอาถรรพ์มีรากฐานปกติจากการที่เป็นเดือนสุดท้ายของปีงบการเงิน ตามมาตรฐานการจัดทำบัญชีของกลุ่มบริษัทจัดการกองทุนรวมในสหรัฐฯ ที่ต้องคำนวณการไถ่ถอนหน่วยลงทุน หรือเอาเงินปันผลไปจ่ายนักลงทุนที่ถือหน่วย ดังนั้นจึงเป็นเรื่องปกติที่จะมีการขายหุ้นกลุ่มที่ถือขาดทุนอยู่ออกไปก่อน และจะรอจนถึงสิ้นตุลาคม เพื่อซื้อหุ้นหรือธุรกรรมต่างๆ ในโพสิชั่นที่ขายออกไปกลับมา

นักยุทธศาสตร์การลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ หลายคนเห็นพ้องด้วยว่า การปรับพอร์ตของบรรดาผู้จัดการกองทุน โดยไม่เกี่ยวข้องกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ หรือของตลาด ดังกรณีหลายครั้ง มีการปรับตัวลงรุนแรงของดัชนีตลาดนิวยอร์ก ทั้งที่มีรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่เป็นบวกชัดเจน (ไม่นับการฉวยโอกาสขายทิ้งเมื่อรายงานตัวเลขเลวร้ายกว่าคาด)

คำถามคือ ปรากฏการณ์ในตลาดหุ้นนิวยอร์ก สามารถนำมาปรับใช้ทั่วไปกับตลาดหุ้นอื่นๆ มากน้อยแค่ไหน

คำตอบเริ่มเปลี่ยนไปเพราะปัจจุบัน ตลาดหุ้นทั่วโลกมีปัจจัยภายในแตกต่างกันจนกระทั่งอิทธิพลของดาวโจนส์ที่เคยครอบงำนักลงทุนทั่วโลกลดลงชัดเจน จากการที่มีตลาดเกิดใหม่เติบโตมาขึ้นมาถ่วงดุล

ที่สำคัญ โครงสร้างของนักลงทุนในตลาดนิวยอร์กก็แตกต่างจากที่อื่นๆ (ยกเว้นตลาดโตเกียว) เพราะสัดส่วน 75% ของหุ้นในตลาดนิวยอร์กอยู่ในมือของกองทุนรวมและในจำนวนนั้นมีกองทุนบริหารความเสี่ยง หรือเฮดจ์ฟันด์บางกองทุนรวมอยู่ด้วย (นักลงทุนอเมริกันลงทุนทางอ้อมมากกว่าลงทุนทางตรง) ในขณะที่ตลาดเกิดใหม่ส่วนใหญ่ มีนักลงทุนรายย่อยมากกว่า 50% ดังนั้นพฤติกรรมของตลาดย่อมแปรเปลี่ยนกันไป

ปีนี้ และยามนี้ กันยาอาถรรพ์ถูกลบเลือนลงไปชั่วขณะจากนักลงทุนในตลาดหุ้นไทย จากขาขึ้นทำนิวไฮของดาวโจนส์ และ SET พร้อมกัน แต่ถ้าจะบอกว่า ท่ามกลางบรรยากาศเชิงบวกนี้ ไม่ได้หมายความว่าความเสี่ยงจากภาวะขาลงจะไม่เกิดขึ้นมาอีก

โดยเฉพาะในยามที่การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยที่เปราะบางเพราะ “ฝนตกไม่ทั่วฟ้า” จากมาตรการรัฐ “อุ้มคนรวย (อ้างว่า) เพื่อช่วยคนจน” ยังคงดำรงอยู่ และยังต้องเผชิญปัจจัยความไม่แน่นอนในหลายๆ ด้านอีกยาวนาน

แล้วก็โปรดอย่าลืมว่า วันนี้ยังไม่จบสิ้นเดือนกันยายนเลย อะไรก็สามารถเกิดขึ้นได้ สอดคล้องภาษิต “สงครามยังไม่จบ อย่างเพิ่งนับศพทหาร”

Back to top button