กกพ.เตรียมปรับโครงสร้างอัตราค่าไฟใหม่ พร้อมเดินหน้าโรงไฟฟ้าขยะชุมชนภายใน 2 เดือน

กกพ.เตรียมปรับโครงสร้างอัตราค่าไฟใหม่ พร้อมเดินหน้าโรงไฟฟ้าขยะชุมชนภายใน 2 เดือน


นายพรเทพ ธัญญพงศ์ชัย ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เผยการดำเนินงานภายใต้แผนยุทธศาสตร์การกำกับกิจการพลังงาน ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2561-2564) กกพ.ได้เตรียมแผนงานสะท้อนยุทธ์ศาสตร์ทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ (1) การกำกับกิจการพลังงานเป็นเลิศ (2) ส่งเสริมการแข่งขันและก้าวทันนวัตกรรมพลังงาน (3) สื่อสารงานกำกับกิจการพลังงานให้เข้าถึง และ (4) องค์กรมีสมรรถนะสูง เป็นมืออาชีพ

ทั้งนี้ กกพ.อยู่ระหว่างการทบทวนและผลักดันการปรับปรุงโครงสร้างอัตราค่าบริการในกิจการไฟฟ้าใหม่ โดยคำนึงถึงต้นทุน เป็นธรรม โปร่งใส และรองรับกับรูปแบบกิจการพลังงานที่เปลี่ยนแปลงไป โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 6 เดือน โดยจะมีการศึกษาการคิดค่าไฟฟ้าที่แบ่งแยกในหลากหลายรูปแบบ เช่น ค่าไฟฟ้าบริเวณชุมชนรอบโรงไฟฟ้า ค่าไฟฟ้าในพื้นที่ห่างไกลด้อยโอกาส ค่าไฟฟ้ารายภาค ค่าไฟฟ้าที่มีการลงทุนสูง เป็นต้น เพื่อเป็นข้อมูลในการกำหนดโครงสร้างค่าไฟที่เหมาะสมสำหรับปี 61-63

“เราจะศึกษาดูว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะเก็บค่าไฟแตกต่างกัน ภาคอีสานมีโรงไฟฟ้ามากก็เก็บแบบหนึ่ง ภาคกลางมีธุรกิจ-โรงงานที่ใช้ไฟมากก็เก็บแบบหนึ่ง หรือบนเกาะที่ต้องต้องลงทุนลากสายเคเบิลไป เป็นไปได้หรือไม่ที่ภาคธุรกิจที่เป็นผู้ใช้ไฟรายใหญ่จะใช้ไฟในราคาสูงหน่อย แต่ชาวบ้านยังใช้อัตราปกติ หรือพื้นที่ห่างไกลบนเขาแม้จะเป็นภาระต้องลงทุนสูงเพื่อให้บริการแต่ก็ถือเป็นผู้ด้อยโอกาสที่คิดค่าไฟอย่างไร เราจะศึกษาทั้งหมด” นายพรเทพ กล่าว

รวมทั้งการเตรียมการกำหนดหลักเกณฑ์การกำหนดค่าไฟฟ้าเพื่อให้มีความหลากหลายและสอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้พลังงานที่เปลี่ยนไป เช่น การสนับสนุนการลดใช้พลังงานในช่วง Peak อัตราค่าไฟฟ้าตามมาตรการส่งเสริมการลดใช้ไฟฟ้า (Demand Response) การกำหนดค่าไฟฟ้าสำหรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ การกำหนดค่าไฟฟ้าสำหรับชุมชนรอบโรงไฟฟ้า รวมทั้งอัตราค่าเชื่อมต่อระบบโครงข่ายพลังงานทั้งภายในประเทศและภายนอกประเทศ

นอกจากนี้ยังจะเข้าไปกำกับดูแลรถยนต์ไฟฟ้าและระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้า โดยคาดว่าจะสามารถประกาศหลักเกณฑ์การกำกับดูแลตั้งแต่ต้นทางจนถึงสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าปลายทางได้ภายในปี 61

พร้อมกันนั้น สำนักงาน กกพ.จะมีการจัดตั้ง “ศูนย์วิเคราะห์และพยากรณ์ข้อมูลพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และข้อมูลเพื่อประกอบการกำกับกิจการพลังงาน”ภายในปี 63 เพื่อเป็นศูนย์กลางเครือข่ายด้านการพยากรณ์และการควบคุมระบบไฟฟ้า

สำหรับนโยบายการกำกับดูแล และจัดหาเชื้อเพลิงเพื่อการผลิตไฟฟ้า ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ ขณะนี้ได้ทยอยประกาศหลักเกณฑ์ และแนวทางการกำกับดูแลระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ เพื่อให้เกิดการแข่งขันกิจการก๊าซธรรมชาติอย่างต่อเนื่องทุกปี ในส่วนของการศึกษา หลักเกณฑ์ และกำหนดอัตราค่าบริการการขนส่งน้ำมันทางระบบท่อ ก็จะทยอยดำเนินการเช่นกันหลังจากมีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้วเสร็จ และคาดว่าจะสามารถกำกับอัตราค่าบริการขนส่งน้ำมันทางท่อได้ก่อนสิ้นสุดแผนยุทธศาสตร์ฯ ภายในปี 64

ด้านนายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า สำหรับการเปิดประมูลเพื่อรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนรูปแบบต่างๆ ขณะนี้ได้เร่งรัดการลงทุนให้เป็นไปตามสัญญาส่งผลให้สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ 7,375 เมกะวัตต์ รวมรับซื้อ 9,223 เมกะวัตต์ (ข้อมูล ณ เดือน ส.ค. 60) จากเป้าหมาย 16,778 เมกะวัตต์ ภายในปี 79 ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ.2558-2579 (AEDP 2015)

โดยจากนี้ กกพ.จะเร่งรัดการรับซื้อไฟฟ้าตามแผนงาน โดยคาดว่าจะสรุปผลการรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP Hybrid Firm ในช่วงวันที่ 14 ธ.ค.นี้ หลังจากเปิดให้ยื่นข้อเสนอแล้ว กำหนดจ่ายไฟฟ้าในปี 64 ส่วน VSPP Semi-firm คาดว่าจะออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าได้ในช่วงต้นปี 61 กำหนดจ่ายไฟฟ้าในปี 63-64 ขณะที่จะเดินหน้าโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขยะชุมชนทั้ง 78 เมกะวัตต์ โดยจะออกร่างประกาศภายใน 1-2 เดือนเพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นก่อนประกาศใช้ และคาดว่าจะออกประกาศมาตรการส่งเสริมโซลาร์รูฟท้อปเสรีภายในเดือน ต.ค.นี้

สำหรับการคิดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า จะมีการพิจารณาแผน PDP ฉบับที่มีการปรับปรุงใหม่ประกอบด้วย เนื่องจากคาดว่าจะมีการปรับสัดส่วนของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าแต่ละประเภทให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งคาดว่าทางสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) จะเสนอแผน PDP ฉบับปรุงปรุงใหม่เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)ในวันที่ 22 ก.ย.นี้

นอกจากนั้น สนพ.จะเสนอแผน Smart City ให้ กพช.พิจารณาในโอกาสดังกล่าวด้วย ซึ่ง กกพ.เห็นว่าการพัฒนาโครงการในรูปแบบ Micro Grid ควรจะกำหนดเป็นส่วนหนึ่งของแผนดังกล่าว เนื่องจากเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้า หลังจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้พัฒนาโครงการต้นแบบที่แม่ฮ่องสอน เพื่อแก้ไขปัญหากรณีที่การส่งไฟฟ้าจากเชียงใหม่เกิดปัญหาแทนการลงทุนขนาดใหญ่ โดยใช้การบริหารจัดการการผลิตไฟฟ้าด้วยเชื้อเพลิงประเภทต่างๆ ให้เหมาะสมกับการใช้งานในพื้นที่ เป็นโครงการที่สามารถขยายไปใช้รูปแบบเดียวกันในพื้นที่อื่นๆ ที่มีปัญหา เช่น ตามเกาะต่างๆ เป็นต้น

Back to top button