มนุษย์เศรษฐกิจ

ความในใจของนายวิชัย วชิรพงศ์ หรือ เสี่ยยักษ์ นักลงทุนรายใหญ่ ในเฟซบุ๊ค "พ่อสอนลูกลงทุน" เกี่ยวกับการลงทุนในบริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งแม้จะไม่เอ่ยชื่อ ก็เป็นที่เข้าใจได้ว่าหมายถึงบริษัทเวนดิ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ VDC ที่มีปัญหาต้องเพิ่มทุนกันอุตลุดและหาเงินมาใช้หนี้อดีตบริษัทแม่อย่าง บริษัท เอเจ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ AJA กว่า 700 ล้านบาท อ่านแล้วได้อารมณ์แบบดิบๆ ว่าน่าเห็นใจยิ่งนัก


พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล

ความในใจของนายวิชัย วชิรพงศ์ หรือ เสี่ยยักษ์ นักลงทุนรายใหญ่ ในเฟซบุ๊ค “พ่อสอนลูกลงทุน” เกี่ยวกับการลงทุนในบริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งแม้จะไม่เอ่ยชื่อ ก็เป็นที่เข้าใจได้ว่าหมายถึงบริษัทเวนดิ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ VDC ที่มีปัญหาต้องเพิ่มทุนกันอุตลุดและหาเงินมาใช้หนี้อดีตบริษัทแม่อย่าง บริษัท เอเจ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ AJA กว่า 700 ล้านบาท อ่านแล้วได้อารมณ์แบบดิบๆ ว่าน่าเห็นใจยิ่งนัก

นายวิชัยเริ่มต้นว่า “….ขอเนื้อที่ระบายความในใจ สักหน่อยนะครับลูก…ถนนไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ตลอดเส้นทาง …..ในชีวิตจริง หนทางที่จะประสบความสำเร็จเต็มไปด้วยอุปสรรค ….”

จากนั้นนายวิชัยก็ร่ายยาวว่า ได้ไปลงทุนในบริษัทหนึ่ง เรื่องราว story ดีมาก ทีมงานก็ย้ายทีมมาทั้งชุด โอกาสจะสำเร็จสูง แต่พอทำจริงๆ ทีมงาน ทำไม่ได้ตามที่คุยไว้ สินค้าไม่มีคุณภาพ สู้คู่แข่งไม่ได้เลย ตนเอง (ป๊า) เลยส่งน้อง ที่เป็นหุ้นส่วนด้วย เข้าไปช่วยบริหาร ทำไปได้สักปีหนึ่ง ป๊าได้ให้นโยบายไปว่า “สินค้าต้องเดินด้วยคุณภาพ” สินค้าเริ่มนิ่ง ตีตื้นขึ้นมาได้ ธุรกิจเริ่มมีกำไร เริ่มเห็นชัยชนะ  เติบโตเร็วเกินไป จนหลังบ้านตามไม่ทัน (ทาง บัญชียังใช้ระบบ manual คือใช้คนลงบัญชี) ทำให้ปิดงบไม่ทัน ……

ประเด็นของการลงทุนตีบตันมากขึ้นอยู่ที่ว่า ….มีปัญหาที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น เงินกู้ที่กู้มา เป็นตั๋ว B/E ซึ่งเป็นเงินกู้ระยะสั้น (แต่เอามาลงทุนในระยะยาว) เจ้าหนี้ไม่ยอมให้กู้ต่อ ทีนี้ละซิ หมุนอะไรไม่เท่ากับหมุนเงิน ปัญหาเริ่มใหญ่ขึ้น เพราะปัญหาเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยวอีกแล้ว ปัญหาเลยยิ่งใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ

ชีวิตซึ่งผกผันจากแค่เจตนาเดิมที่มีฐานะเป็นนักลงทุน แต่ต้องตกกระไดพลอยโจน จากเดิมที่เคยถือหุ้นอยู่แค่ 10% ในฐานะนักลงทุน ไม่ได้มีส่วนในการบริหารใดๆ แต่เพราะปัญหาบริษัทขาดสภาพคล่อง เลยต้องตัดสินใจซื้อหุ้นเพิ่มทุน มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมา ว่าจะไม่อยากเหนื่อยอีกแล้ว แต่ถ้าไม่ยื่นมือเข้าไป บริษัทก็ล้ม เละ เจ๊ง กลายเป็นเศษเหล็ก การบริหารงานมันยากมากๆ โดยเฉพาะบริษัทที่เพิ่งเริ่มต้นใหม่ๆ

บทสรุปของเสี่ยยักษ์จากการ “ติดกระดุมเม็ดแรกผิด” คือ….เหนื่อยใจ เพราะต้องเข้ามาช่วยแก้ปัญหามาได้ 4 เดือน ต้องถือหุ้นเพิ่มเป็น 30% ใส่เงินเข้าไปเพื่อได้ไปชำระหนี้ (แม้เชื่อว่าธุรกิจนี้ดี มีโอกาสชนะสูง) แต่สิ่งที่เสียไปคือเวลา และโอกาส….ชีวิตจริงมันไม่ใช่ง่ายๆ ที่จะชนะ ไม่ว่าจะทำอะไรๆ อย่าคิดว่าง่ายๆ โดยเด็ดขาด ต้องใส่ใจเข้าไป โดยเฉพาะบริษัทเรายังเล็กๆ

ความในใจดังกล่าว เรียกคะแนนสงสารได้จากสาวกของเสี่ยยักษ์ที่ออกมาปลอบให้กำลังใจบนเครือข่ายออนไลน์กันอึงมี่ตลอดวานนี้

วานนี้เช่นกัน ดร.อมร มีมะโน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AJA เจ้าของฉายา “พระเอกตัวจริง” ก็ทำการเปิดหน้ามาแถลงว่า การที่ AJA สละสิทธิการจองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนในแผนปรับโครงสร้างหนี้และโครงสร้างทุนของบริษัท เวนดิ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (VDC) ซึ่งเคยเป็นบริษัทย่อย เป็นส่วนหนึ่งของแผนการลดภาระหนี้ผูกพันของ VDC ที่มีกับ AJA รวม 707.35 ล้านบาท ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา ที่จะถึงกำหนดชำระในไตรมาสที่ 4/60

การชำระเงินจะเริ่มตั้งแต่งวดแรก ภายในวันที่ 2 ตุลาคม 2560 VDC จำนวน 347.70 ล้านบาท ภายในวันที่ 12 ตุลาคม 2560 จะนำเงินค่าหุ้นชำระหนี้จำนวน 136.30 ล้านบาท ส่วนที่เหลือ 141.04 ล้านบาท จะเป็นการทำสัญญากู้ยืมเงินกำหนดชำระภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2561 จะชำระหนี้สิน และภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2561 จะชำระหนี้ Debit Notes รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 46.43 ล้านบาท โดย AJA ลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทฯ ใน VDC จะลดลงจากเดิม 60.08% ลดลงเหลือ 17.67%

สุ้มเสียงของดร.อมรนั้น แม้จะดูราบเรียบไร้อารมณ์ แต่ก็ยังแสดงอาการโล่งอกอย่างชัดเจนว่า การที่ AJA ได้รับชำระก้อนใหญ่ๆ ทำให้ธุรกิจของ AJA ยังสามารถดำเนินการได้ตามปกติ และสามารถจะทุ่มเททำงานเพื่อสร้างผลประกอบการให้พลิกฟื้นขึ้นมาได้โดยเร็ว เพราะปัจจัยพื้นฐานของบริษัทกลับมาแข็งแรงได้ดังเดิม โดยเฉพาะสถานะทางการเงินที่เข้มแข็งขึ้น

ท่าทีต่างอารมณ์ของเสี่ยยักษ์ และ ดร.อมรเช่นนี้ ไม่ได้มีการกล่าวร้ายป้ายสีกันและกันเลย แต่เป็นการบอกเล่าความจริงที่ต่างมุมมอง 

คนหนึ่งมองจากมุมของฐานะผู้ที่ยอมรับว่าต้องเผชิญกับ “มะนาวหวาน” จากความยากลำบากเพราะโมเดลธุรกิจที่ไม่เกิดผลดังคาด แต่อีกคนหนึ่งมองจากเงื่อนไขของผู้บริหารบริษัทมหาชนจดทะเบียนที่ต้องก้าวเดินไปข้างหน้าพร้อมกับหาทางสร้างข่าวดีรองรับอนาคตที่ย่างกรายเข้ามาพร้อมกับความคาดหวังของนักลงทุนและผู้ถือหุ้นอื่นๆ

ดังที่ทราบกันดีว่า AJA แม้จะเป็นบริษัทที่ยังมีฐานะการเงินแข็งแกร่ง แต่ธุรกิจหลักของกิจการกำลังถูกท้าทายให้สั่นคลอนรุนแรงจากเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทำให้ธุรกิจขายเครื่องใช้ไฟฟ้าของบริษัทกลายเป็นธุรกิจตะวันตกดินในอัตราเร่ง จำต้องหาทางเร่งสร้างแหล่งรายได้ใหม่

พันธมิตรร่วมทุนระหว่างเสี่ยยักษ์ และดร.อมร เป็น “การแต่งงานเพื่อผลประโยชน์” หรือ a marriage of convenience เมื่อไปด้วยกันต่อไม่ได้ การแยกทางอย่างอารยะที่ทั้งคู่กระทำ จึงเป็นวิถีอารยะของ “มนุษย์เศรษฐกิจ” ในโลกทุนนิยมตามปกติ และพึงเรียนรู้ด้วยกันอย่างลองผิดลองถูก

สอดรับกับทฤษฎี “หงส์ดำ” ของนัสซิม ทาเล็บ เหมาะเจาะ

Back to top button