“เมย์แบงก์ กิมเอ็ง” คาดเม็ดเงิน LTF/RMF หนุนดัชนีวิ่งแตะเป้า 1,712 จุด

"เมย์แบงก์ กิมเอ็ง" คาดเม็ดเงิน LTF/RMF ตัวชูโรง หนุนดัชนีวิ่งแตะเป้า 1,712 จุด กลยุทธ์แนะสลับมาสะสม Domestic Plays มากขึ้น เน้นกลุ่มค้าปลีกที่ได้ประโยชน์จากภาคการท่องเที่ยวกำลังเข้าสู่ช่วง High Season


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) (MBKET) คาดการณ์ภาพรวมการลงทุนในช่วงไตรมาส 4/60 ดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET Index) แกว่ง Sideway to Sideway Up ประเมินกรอบแนวต้านบริเวณ 1,700 จุด และแนวรับ 1,640 จุด ขณะที่คาดว่าเม็ดเงิน LTF/RMF จะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยผลักดันตลาดปรับตัวขึ้นเพิ่มเติมได้ในช่วงปลายปี

อย่างไรก็ตามประเมิน SET target 12 เดือนข้างหน้าที่ระดับ 1,712 จุด อิง PE Ratio ที่ระดับ 16 เท่า โดยกลยุทธ์การลงทุนแนะนำสลับมาสะสม Domestic Plays มากขึ้น โดยเน้นกลุ่มค้าปลีกที่ได้ประโยชน์จากภาคการท่องเที่ยวกำลังเข้าสู่ช่วง High Season (Touristic & consumption benefit) เช่น CPALL, BJC, HMPRO, ROBINS, CPN

ผสานกลุ่มที่ยังคงมี earning momentum เชิงบวกในช่วงครึ่งปีหลังของปี 60 เช่นกลุ่ม Finance (SAWAD, KTC), Petrochem (IVL, PTTGC), Healthcare (BDMS, BCH, RJH), Media (VGI, PLANB, MACO), Property (SPALI, LPN, WHA)

โดยดัชนีมีปัจจัยผลักดันจากภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว ส่งผลบวกต่อตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (EM) แนวโน้มดอกเบี้ยสหรัฐฯที่ไม่เร่งตัวขึ้นเร็ว ขณะที่เงินเฟ้อโดยรวมยังคงอยู่ในระดับต่ำ เป็นปัจจัยหนุนทิศทาง Fund Flow อยู่ในกลุ่มประเทศ EM ต่อเนื่อง

ขณะที่สัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่มีทิศทางที่ดีขึ้นในทุกภาคส่วน นำโดยภาคท่องเที่ยวไทยที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเร่งตัวขึ้น 4 เดือนติดต่อกัน สู่ระดับใกล้เคียงจุดสูงสุดในช่วงเดือน ม.ค.60 โดยหากพิจารณาเป็นรายประเทศจะพบว่าสัญญาณการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจีนฟื้นได้อย่างมีนัยสำคัญ ส่วนทางด้านทิศทางการส่งออกก็มี sentiment บวกเช่นเดียวกัน โดยพบว่ายอดการส่งออกเดือน ส.ค.สามารถขยายตัวได้ถึง 13.2% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน

ส่วนในแง่มุมการบริโภคก็เริ่มมีสัญญาณที่ดี นำโดยความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวขึ้นในเดือน ส.ค.เป็นเดือนแรก หลังจากหดตัว 3 เดือนติดต่อกัน โดยจากการลองสอบถามบริษัทจดทะเบียนหลายแห่งใน เชิงของ same store sale growth (%SSSG) ก็เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อยในช่วงไตรมาส 3 ดังนั้น จึงเป็นปัจจัยบวกเพิ่มเติมหนุนแนวโน้มเศรษฐกิจยังขยายตัวขึ้นได้ต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ทางด้านการลงทุนภาคเอกชน พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นในการทำธุรกิจสามารถปรับขึ้น 3 เดือน ติดต่อกัน เช่นเดียวกับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. ขยายตัวสูงสุดในรอบ 9 เดือน

ด้านความเสี่ยง ได้แก่ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐ เช่น นโยบายภาษี ซึ่งหากสามารถขับเคลื่อนได้ อาจส่งผลต่อ Fund Flow ไหลกลับ แต่อย่างไรก็ดีเม็ดเงินดังกล่าวก็คาดจะไม่มีนัยสำคัญมากนัก เนื่องจากเม็ดเงินที่ไหลเข้าจากต่างชาติในช่วงก่อนหน้าไม่ได้มีขนาดมากมายนัก  และแนวโน้มค่าเงินดอลลาร์ ที่อาจกลับมาแข็งค่า หลังช่วงที่ผ่านมาค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการพลิกกลับของค่าเงิน อาจกระทบต่อทิศทาง Fund Flow ได้บ้าง

Back to top button