ความกระตือรือร้นที่ไม่สมเหตุสมผล

เมื่อดัชนีตลาดหุ้นเกือบทั่วโลกพากันทำนิวไฮ หรือ นิวไฮในรอบหลายปี ด้วยแรงซื้อที่คึกคักด้วยความมั่นใจเกินเหตุ คำนิยามเก่าแก่ของนายอลัน กรีนสแปนในอดีตก็โผล่มาทักทาย พร้อมกับคำเตือนสติเยี่ยง เจมินี่ คริกเก็ต มากขึ้น แม้ว่าหลายคนจะเพิกเฉยก็ตาม


พลวัตปี 2017:  วิษณุ โชลิตกุล

เมื่อดัชนีตลาดหุ้นเกือบทั่วโลกพากันทำนิวไฮ หรือ นิวไฮในรอบหลายปี ด้วยแรงซื้อที่คึกคักด้วยความมั่นใจเกินเหตุ คำนิยามเก่าแก่ของนายอลัน กรีนสแปนในอดีตก็โผล่มาทักทาย พร้อมกับคำเตือนสติเยี่ยง เจมินี่ คริกเก็ต มากขึ้น แม้ว่าหลายคนจะเพิกเฉยก็ตาม

คำว่า “ความกระตือรือร้นที่ไม่สมเหตุสมผล” หรือ irrational exuberance เป็นคำประดิษฐ์ขึ้นมาเมื่อปี ค.ศ.1996 ก่อนหน้าวิกฤตต้มยำกุ้ง 1 ปี และก่อนวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ 12 ปี

นายกรีนสแปน ในฐานะประธานเฟดฯ ต้องการส่งสัญญาณทางอ้อมให้ตลาดหุ้นเข้าใจว่าเกิดฟองสบู่ในการเก็งกำไรแล้ว แต่เนื่องจากกฎหมายของสหรัฐฯ มีข้อห้ามมิให้นายธนาคารกลางพูดถึงตลาดหุ้นโดยตรง จึงต้องหลบเลี่ยงโดยการประดิษฐ์ถ้อยคำใหม่

ครั้งนั้น ดัชนีดาวโจนส์วิ่งขึ้นไปที่ระดับ 6,860 จุด หรือบวกขึ้นไปจากกลางปี 1995 กว่า 80% ในเวลาแค่ 6 เดือน ส่งผลให้ นายโรเบิร์ต รูบิน รมว.คลัง และ นายกรีนสแปน มีความกังวลใจเกี่ยวกับตลาดหุ้นที่ดีดตัวสูงขึ้นรวดเร็ว

ตามกฎหมายแล้ว นายรูบิน (อดีตผู้บริหารวาณิชธนกิจชื่อดังโกลด์แมน แซคส์) รู้ดีว่า กระทรวงการคลัง ไม่สามารถพูดเรื่องทางลบเกี่ยวกับตลาดหุ้นหรือตักเตือนนักลงทุนได้ นายรูบินจึงได้เชิญผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลังและเฟดฯ มาประชุมร่วมกันที่กระทรวงการคลัง เพื่อวิเคราะห์ปัญหานั้นโดยนายกรีนสแปน และผู้เชี่ยวชาญของเฟดฯก็มากันหลายคน

บทสรุปของการวิเคราะห์เบื้องต้นจากการประชุมคือ การที่ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากบริษัทอเมริกันขยายกิจการไปยังตลาดต่างประเทศ เช่น รัสเซีย ยุโรปตะวันออก และลาตินอเมริกา แล้วส่งกำไรคืนมามากกว่าปกติ

หลังจากการประชุม นายกรีนสแปน ยังติดข้องใจกับข้อสรุป จึงกลับไปที่เฟดฯแล้วสั่งการให้ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมโดยให้ไปหาว่า บริษัทข้ามชาติอเมริกันจํานวนมากน้อยแค่ไหนที่ขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศ แล้วมีกำไรมากมายผิดปกติจนส่งเงินกลับประเทศ

ข้อมูลที่มีอยู่ ทำให้นายกรีนสแปนมองเห็นว่า ต้องหาทางลดความร้อนแรงของตลาดหุ้นลง เพื่อส่งสัญญาณว่า การวิ่งขึ้นของตลาดเข้าสู่ภาวะอันตราย ทั้งที่นายกรีนสแปนก็รู้ดีว่า เฟดฯ ไม่ได้มีความรับผิดชอบโดยตรงในเรื่องตลาดหุ้น และไม่มีความจำเป็นต้องออกไปพูดว่า ราคาหุ้นสูงเกินไปแล้ว หรือพูดว่า จะพยายามทําให้ราคาหุ้นลดลง

ความกังวลถึงภาวะฟองสบู่ของราคาหุ้น ทำให้นายกรีนสแปนรู้สึกถึงความจำเป็นเพื่อเตือนนักลงทุนว่าดัชนีตลาดหุ้นสูงเกินพื้นฐานไปแล้ว และธนาคารกลางกําลังจับตาดูอย่างขะมักเขม้น จึงได้ฉวยโอกาสใช้สถานการณ์ที่เข้ารับรางวัลจากสถาบันธุรกิจอเมริกันเพื่อจะกล่าวสุนทรพจน์

วลีทองของนายกรีนสแปนครั้งนั้น เป็นคำถามที่สะเทือนตลาดรุนแรงว่า “เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ความกระตือรือร้นที่ไม่สมเหตุสมผลได้ทำให้มูลค่าหุ้นถีบตัวสูงกว่าความเป็นจริง” ทำให้เช้าวันต่อมาที่ตลาดหุ้นโตเกียว ดัชนีนิกเกอิ ดำดิ่งลงอย่างฮวบฮาบ และวันต่อมาที่นิวยอร์ก ดัชนีดาวโจนส์ ร่วงลงรุนแรงในครึ่งชั่วโมงแรกของการซื้อขาย 145 จุด แต่ก็สามารถตีกลับมาได้ โดยปิดลดลงเพียง 55 จุด

นายกรีนสแปนถูกรัฐสภากล่าวหาว่า พยายาม “ชี้นำตลาด” อย่างเกินเลย ต้องไปให้การต่อคณะกรรมาธิการการเงินวุฒิสภา และแก้ข้อกล่าวหาของคณะกรรมาธิการการเงินสภาผู้แทนราษฎร แต่คำนิยามที่ประดิษฐ์ครั้งนั้น ได้กลายเป็น “ลายเซ็น” ของเขาตลอดมา

ผู้สื่อข่าวมักใช้โอกาส “ถามนำ” นายกรีนสแปนเสมอ ยามเมื่อราคาหุ้นพุ่งยาวนานเป็นภาวะกระทิงว่า สภาพที่เกิดขึ้น สามารถเรียกได้ว่าเป็นเพราะความกระตือรือร้นที่ไม่สมเหตสมผลหรือไม่  โดยคำตอบก็เป็นตามสูตรทำนองว่า “แล้วพวกคุณจะรู้เมื่อความจริงปรากฏ” ซึ่งมักจะทำให้ตลาดอ่อนไหวอยู่เรื่อยๆ

ก่อนลงจากตำแหน่งประธานเฟดฯ นายกรีนสแปน ได้ลดทอนความขลังของตนเองลงไปอย่างชัดเจน เพราะคาดเดาอนาคตผิดอยู่เรื่อยๆ เริ่มมีเสียงวิจารณ์มากขึ้นว่า เฟดฯดำเนินนโยบายการเงิน ภายใต้สภาวการณ์ที่ขาดความแน่นอน ด้วยการตั้งกรอบภาวะเงินเฟ้อ ที่ขัดแย้งกับโลกแห่งความเป็นจริง จนทำให้นโยบายการเงินที่กำหนดเอาไว้ กลายเป็นนโยบายที่ไม่เหมาะสมกับสภาวการณ์ และเป็นนโยบายการเงินที่สวนทางกับการบริหารความเสี่ยง ที่โน้มนำไปสู่การสร้างปัญหา “เจตนาดี ประสงค์ร้าย” หรือ Moral Hazard ได้ง่ายขึ้น

ความผิดพลาดที่ร้ายแรงของนายกรีนสแปนยุคหลัง เกิดจากการใช้นโยบายการเงิน ที่เอนเอียงไปในทางผ่อนคลาย ด้วยการกดดอกเบี้ยให้ต่ำเกินเป็นเวลายาวนาน เท่ากับอุดหนุนไม่ให้ราคาสินทรัพย์เสี่ยง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาหุ้น) ปรับตัวลดลง เปิดช่องให้การเข้ามาเก็งกำไรในตลาดทุนมากเกินไป เพราะมีความเชื่อผิดฟังได้ว่า ธนาคารกลางสหรัฐจะปกป้องการลงทุนของพวกตน เนื่องจากขนาดของตลาดที่ใหญ่นั้น “ใหญ่เกินไปที่จะถูกปล่อยให้พัง” หรือ too big to be failed

ผลลัพธ์ของวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ทำให้เสียงวิจารณ์ว่า นายกรีนสแปน ไม่ยอมตำหนิตัวเองที่เป็นผู้ทำให้เกิดบรรยากาศ “ความกระตือรือร้นที่ไร้เหตุผล” หรือ irrational exuberance เสียเอง เป็นการ “ถ่มน้ำลายรดฟ้า” ไม่น่าให้อภัย

บทเรียนของนายกรีนสแปนในอดีต สะท้อนถึงขีดจำกัดของมนุษย์ที่เป็นปัจเจกบุคคลในการคาดเดาสถานการณ์ล่วงหน้าในอนาคตว่ายากที่จะยึดถือเป็นสัจธรรมได้

หลายปีมานี้ นิตยสาร The Economist ได้ส่งแบบสอบถามถึงบรรดา นักเศรษฐศาสตร์ นายธนาคารกลาง และผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน ที่เข้าร่วมการประชุมประจำปีของเฟดฯที่เมือง Jackson Hole มาโดยตลอด ได้พบว่าการคาดการณ์ของผู้เชี่ยวชาญระดับ “เซียนเรียกพี่” ทั้งหลายส่วนใหญ่ จะผิดพลาดทุกครั้ง 

ปีนี้ และยามนี้ หากมีคำถามที่ทุกคนอยากรู้คือ ราคาหุ้นที่วิ่งบวกแรงทั่วโลกจะร่วงลงเมื่อใด และน่ากลัวแค่ไหน คำตอบน่าจะออกมาทำนองว่า “ไม่น่าจะร่วงลงอีก” หรือไม่ก็ “ร่วงเพื่อขึ้นต่อไปหาแนวต้านใหม่

ด้วยประสบการณ์ที่ผ่านมา คำถามที่ตามมาจึงน่าจะเป็นว่า ปรากฏการณ์หุ้นขาขึ้นยามนี้ เป็นความกระตือรือร้นที่ไม่สมเหตุสมผล ได้หรือยัง

คงไม่ถึงกับต้องไปถามนายกรีนสแปน เพราะอาจจะได้คำตอบเชยๆ ซ้ำซากว่า “แล้วพวกคุณจะรู้เมื่อความจริงปรากฏ” 

Back to top button