พาราสาวะถี

หมายกำหนดการพระราชพิธีถวายพระเพลิง พระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช บรมนาถบพิตร วันพุธที่ 25 ตุลาคม เวลา 17.30 น. พระราชพิธีพระราชกุศลออกพระเมรุมาศ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท วันพฤหัสบดีที่ 26 ตุลาคม เวลา 07.00 น. พระราชพิธีเชิญพระบรมศพออกพระเมรุมาศ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง เวลา 17.30 น. พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ เวลา 22.00 น. พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ(จริง)


อรชุน

หมายกำหนดการพระราชพิธีถวายพระเพลิง พระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช บรมนาถบพิตร วันพุธที่ 25 ตุลาคม เวลา 17.30 น. พระราชพิธีพระราชกุศลออกพระเมรุมาศ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท วันพฤหัสบดีที่ 26 ตุลาคม เวลา 07.00 น. พระราชพิธีเชิญพระบรมศพออกพระเมรุมาศ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง เวลา 17.30 น. พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ เวลา 22.00 น. พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ(จริง)

วันศุกร์ที่ 27 ตุลาคม เวลา 08.00 น.พระราชพิธีเก็บพระบรมอัฐิ ณ พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวงและเชิญพระบรมอัฐิสู่พระบรมมหาราชวัง วันเสาร์ที่ 28 ตุลาคม เวลา 17.30 น. พระราชพิธีพระราชกุศลพระบรมอัฐิ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท วันอาทิตย์ที่ 29 ตุลาคม เวลา 10.30 น. พระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลและเชิญพระโกศพระบรมอัฐิ ขึ้นประดิษฐาน ณ พระวิมานพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เวลา 17.30 น. พระราชพิธีเชิญพระบรมราชสรีรางคารไปบรรจุ ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร และวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร

ห้วงตลอดระยะเวลาสัปดาห์นี้คนไทยทั้งประเทศต่างร่วมจิตตั้งใจส่งเสด็จพระมหากษัตริย์ผู้เป็นพ่อแห่งแผ่นดินสู่สวรรคาลัย ภาพประวัติศาสตร์ที่ถูกจารึกไว้และขจรไกลไปทั่วโลก ทั้งพระราชพิธีที่ยิ่งใหญ่สมพระเกียรติยศและคลื่นพสกนิกรไทยที่ต่างแสดงความจงรักภักดีกันทั้งแผ่นดิน เป็นความงดงามยิ่งใหญ่ที่ผู้คนไม่ใช่เฉพาะคนไทยเท่านั้นที่ได้แสดงออก นั่นหมายถึงความเป็นราชาเหนือราชันที่ยากจะมีใครเสมอเหมือน

เสร็จสิ้นพระราชพิธีสำคัญโจทย์ของบ้านเมืองที่รอให้แก้ไขยังเป็นเรื่องใหญ่สำหรับ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ถ้าไม่มองงานของรัฐบาลที่สื่อรอตั้งคำถามอยู่เพียบ โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนตัวรัฐมนตรี ที่ช่วงโค้งสุดท้าย บิ๊กตู่อาจต้องเขย่ากันอีกกระทอกแม้จะดูว่าไม่น่าจะมีความหมายกับห้วงระยะเวลาที่เหลืออีกปีกว่าๆ

แต่หากจับสัญญาณจากการหน้าแหกกรณี มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก เจ้าของเฟซบุ๊กปฏิเสธที่จะเดินทางมาเยือนประเทศไทย ทั้งๆที่ตั้งโพเดียมแถลงข่าวเสียดิบดี นี่ย่อมจะมองเห็นคนซึ่งจะต้องรับผิดชอบต่อการชงเรื่องที่ไม่ได้รับการยืนยันร้อยเปอร์เซ็นต์ทำให้ท่านผู้นำเสียหน้า แม้จะรู้ทั้งรู้เหตุผลของการแคนเซิลของเจ้าพ่อเฟซบุ๊กนั้นมาจากอะไร

เรื่องนี้ พิชัย นริพทะพันธุ์ ตั้งข้อสังเกตว่า คงต้องถามไปยัง สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯหลังจากหายป่วยว่า มีปัญหาในการติดต่อสื่อสารอย่างไร ซึ่งเป็นการเสียเครดิตอย่างมาก ไม่แน่ใจว่ามีการยืนยันกันแต่แรกหรือไม่ เพราะเฟซบุ๊ก ที่เป็นบริษัทเทคโนโลยีสมัยใหม่ คงจะไม่อยากมีภาพที่ไปสนับสนุนแนวทางที่ไม่น่าจะใช่ทิศทางของคนรุ่นใหม่

อีกทั้ง หลายนโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซิงเกิลเกตเวย์ และการควบคุมข้อมูลในเฟซบุ๊ก ยังเป็นแนวทางที่ตรงข้ามกับแนวทางของเฟซบุ๊กที่ปกป้องและส่งเสริมให้ผู้ใช้มีเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการแสดงความคิดเห็น จึงไม่น่าแปลกใจที่เฟซบุ๊กได้ปฏิเสธการมาเยือนในครั้งนี้ และหากจำกันได้ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่สมคิดเสียเครดิต

โดยพิชัยยกเอากรณีของ แจ๊ค หม่า ผู้ก่อตั้งอาลีบาบา ที่มาเยือนไทยหลายหน ขณะที่สมคิดก็ไปเยือนจีน แต่สุดท้ายแจ๊ค หม่า กลับไปเลือกประเทศมาเลเซีย เป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าในภูมิภาค โดยบอกว่า ตัดสินใจทันทีหลังจากที่พบกับผู้นำประเทศมาเลเซียเพียง 10 นาทีเท่านั้น ในขณะที่ไทยเจรจาอยู่หลายครั้ง แม้ต่อมารัฐบาลจะแถลงแก้เก้อว่าอาลีบาบาจะลงทุนในประเทศไทยมากกว่าที่ลงทุนในมาเลเซีย แต่ไม่ปรากฏว่าแจ๊ค หม่า มีการแถลงเรื่องนี้มีแต่รัฐบาลไทยแถลงเอง

แน่นอนว่าในฐานะอดีตรัฐมนตรีในรัฐบาลยิ่งลักษณ์มองว่า เรื่องนี้เป็นการเสียเครดิตซ้ำซ้อน และเป็นการเสียโอกาสของประเทศไทยอย่างมาก หากไทยมีการปกครองที่เป็นที่ยอมรับ คงจะไม่เสียโอกาสเช่นนี้ ดังนั้น การกลับสู่ระบอบการปกครองที่เป็นที่ยอมรับโดยเร็ว จึงเป็นความจำเป็นเร่งด่วน ที่จะทำให้ประเทศไทยก้าวหน้าต่อไปได้ แม้จะเป็นแผ่นเสียงตกร่องแต่หนทางที่พิชัยว่าก็เป็นสิ่งที่ถูกต้องเช่นกัน

ขณะเดียวกันเมื่อมองไปยังภาพของงานด้านเศรษฐกิจ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือบัตรคนจน สร้างความคึกคักอย่างเป็นพิเศษแก่ผู้มีรายได้น้อย ที่พากันไปรูดปรี๊ดแต่ก็ยังติดขัดปัญหา เครื่องรูดบัตรและร้านค้าไม่เพียงพอ พร้อมด้วยเรื่องหยุมหยิมในทางปฏิบัติ ซึ่งหากบริหารจัดการไม่ดีมีโอกาสที่จะกลายเป็นของเสียย้อนกลับมาสาดเข้าใส่ผู้มีอำนาจได้

นี่ยังไม่นับรวมข้อกังขาต่อการใช้งบประมาณเรื่องต่างๆ อาทิ การสร้างห้องน้ำและร้านค้าที่อุทยานราชภักดิ์ การจัดซื้อเครื่องตรวจจับความเร็วของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย เหล่านี้จะเป็นสิ่งกวนใจที่เมื่อถูกตั้งคำถาม ย่อมนำมาซึ่งอาการหงุดหงิด โมโหและกลายเป็นคนเสียงดังของท่านผู้นำในทันทีทันใด

สิ่งที่น่าสนใจประการต่อมาคือ การปลดล็อคให้พรรคการเมืองทำกิจกรรม เนื่องจากกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมืองมีผลบังคับใช้แล้ว และท่านผู้นำก็ประกาศเรื่องวันเลือกตั้งไว้ชัดเจน ดังนั้น หากไม่มีวาระซ่อนเร้นก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้พรรคการเมืองได้ดำเนินการในเรื่องที่จำเป็นได้ ยิ่งลากยาวออกไปประเด็นในการที่จะอธิบายถึงการบังคับใช้กฎหมายเบ็ดเสร็จเด็ดขาดย่อมเหลือน้อยลง

ส่วนภาคการเมืองหลัง พิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ออกมาเรียกร้องให้ 2 พรรคการเมืองใหญ่ประกาศจุดยืนไม่เอานายกฯคนนอกก่อนเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยโดย อำนวย คลังผา ก็พูดถึงความเป็นไปได้ที่สองพรรคคู่แค้นจะจับมือกันว่ามีโอกาส แต่ สาธิต ปิตุเตชะ ก็ออกมาปฏิเสธทันควัน โดยอ้างแนวทางทางการเมืองที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

แค่เท่านี้ก็คงพอจะเห็นอะไรบางอย่างแล้วในทางการเมือง จะให้ดีก็อย่างที่พิเชษฐเรียกร้อง คือ ให้ทั้งสองพรรคประกาศเจตนารมณ์ไม่เอาคนนอกมาเป็นนายกฯ เชื่อว่าพรรคนายใหญ่คงไร้ปัญหา แต่พรรคเก่าแก่จะกล้าอย่างนั้นหรือไม่ คงต้องยอมรับความจริงกันว่า อุปสรรคสำคัญประการหนึ่งของการพัฒนาการเมืองให้ก้าวพ้นอำนาจนอกระบบไปไม่ได้ เพราะยังมีพวกอีแอบที่เฝ้าแต่จะรอรับอานิสงส์ของอำนาจนอกระบบที่ตัวเองคุ้นเคยมาตั้งแต่แรกนั่นเอง

Back to top button