THCOM รอตายหยังเขียด

ข่าวดีเมื่อกลางเดือนกันยายนของบริษัทเจ้าของใบอนุญาตประกบธุรกิจให้บริการเช่าช่องสัญญาณดาวเทียม บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) หรือ THCOM ถูกลืมหายไปหมดสิ้น เพราะข่าวร้ายเมื่อวันพุธหลังปิดตลาดที่ผ่านมา ไม่ใช่ร้ายธรรมดา แต่เป็นข่าวร้ายชนิด...ผีซ้ำด้ำพลอย ที่เปิดช่องให้ THCOM ตายหยังเขียด...ต้องเหยียดขาตายยยยย!!!


แฉทุกวันทันเกมหุ้น

ข่าวดีเมื่อกลางเดือนกันยายนของบริษัทเจ้าของใบอนุญาตประกบธุรกิจให้บริการเช่าช่องสัญญาณดาวเทียม บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) หรือ THCOM ถูกลืมหายไปหมดสิ้น เพราะข่าวร้ายเมื่อวันพุธหลังปิดตลาดที่ผ่านมา ไม่ใช่ร้ายธรรมดา แต่เป็นข่าวร้ายชนิด…ผีซ้ำด้ำพลอย ที่เปิดช่องให้ THCOM ตายหยังเขียด…ต้องเหยียดขาตายยยยย!!!

วันพุธที่ผ่านมา บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ INTUCH ที่เป็นบริษัทแม่ของ THCOM ได้แจ้งว่า เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2560 ได้รับหนังสือจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม แจ้งว่าดาวเทียมไทยคม 7 และดาวเทียมไทยคม 8 เป็นดาวเทียมภายใต้สัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ลงนามเมื่อวันที่ 11 ก.ย. 34 ระหว่างบริษัทและกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเดิม จะต้องปฏิบัติตามสัญญาดำเนินกิจการสื่อสารให้ครบถ้วนโดยด่วน อาทิ การโอนกรรมสิทธิ์และส่งมอบทรัพย์สิน การจัดสร้างดาวเทียมสำรอง การชำระเงินผลประโยชน์ตอบแทน และการประกันภัยทรัพย์สิน

หนังสือดังกล่าว เท่ากับยืนยันชัดเจนท่าทีของกระทรวงดังกล่าวว่า ต้องการให้ดาวเทียมไทยคม 7 และดาวเทียมไทยคม 8 กลับไปสู่กติกาสัญญาสัมปทาน ….ไม่ใช่สัญญาการรับใบอนุญาตจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) อีกต่อไป ปฏิบัติการย้อนศรจากนโยบาย 4.0….กลายเป็น 0.4 นอกจาก “ถ่มน้ำลายรดฟ้า” แล้ว ยังถือว่า….ถอยหลังลงคลองแสนแสบชนิดด้านๆ…หาใครที่ไหนเลียนแบบยากที่สุด

ถูกบีบไข่จนหน้าเขียวอย่างนี้ เปิดทางเลือกแบบอารยะให้กับ INTUCH ทางเดียวเท่านั้นคือ… ยื่นเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการเพื่อพิจารณาชี้ขาด โดยบริษัทได้ดำเนินการในวันที่ 25 ตุลาคม 2560 หมายเลขดำที่ 97/2560…ด้วยข้ออ้างว่า ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขและข้อกำหนดในสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารอย่างครบถ้วน ไม่ได้ดำเนินการใดๆ ขัดต่อสัญญาเลย พร้อมกันนั้น ในขณะที่ข้อพิพาทอยู่ระหว่างการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ บริษัทยังไม่มีหน้าที่ในการปฏิบัติตามกระทรวงดิจิทัลฯ จนกว่าจะมีการชี้ขาด …ขอซื้อเวลาทำใจอีกเฮือก

 วิบากกรรมล่าสุดของ THCOM นี้ ซ้ำเติมให้นักลงทุนเมินหมางหุ้นรุนแรงมากขึ้น เพราะมีความเสี่ยงจากนโยบายรัฐอันเป็นความไม่แน่นอนที่ควบคุมไม่ได้….เป็นปัจจัยเลวร้ายสุดๆๆ …ยิ่งกว่าความถดถอยในการทำกำไร เพราะการชะลอตัวของธุรกิจทีวีดาวเทียมในประเทศและต่างประเทศ ที่ทำให้การใช้งานช่องสัญญาณดาวเทียมบรอดแบนด์ลดฮวบ

ความไม่แน่นอนจากนโยบายรัฐที่เกิดขึ้นกับไทยคม 7 และไทยคม 8 ไม่ใช่ครั้งแรก และครั้งสุดท้าย เพราะก่อนหน้านี้ ยังมีเรื่องเก่าที่คาราคาซังเกี่ยวกับดาวเทียมดวงใหม่ (ไทยคม 9 และไทยคม 10) ที่ยังไม่มีข้อสรุปและรับอนุมัติจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม …ปล่อยให้ความเสียหายเกิดขึ้นทั้งในปัจจุบันและอนาคตเป็นรูปธรรม ความเสี่ยงที่ไม่ใช่ความผิดพลาดของผู้บริหาร….ไม่ทำให้หน่วยงานรัฐไทยกังวล เพราะมีข้ออ้างเสมอที่จะยกเป็นความผิดให้กับ “ผีทักษิณ” ที่ยังตามมาหลอกหลอนผู้กำหนดนโยบายดาวเทียมอยู่ตลอดหลายปีมานี้

เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซีอีโออย่างนายไพบูลย์ ภานุวัฒนวงศ์ ที่เป็นลูกหม้อเก่าแก่ของ THCOM ที่ได้ชื่อว่ารอบรู้ยิ่งในธุรกิจดาวเทียม อดรนทนไม่ไหว เปิดปฏิบัติการ “ละลายความเงียบ” จัดการแถลงข่าวเพื่อ “อ้อนวอนและขอความเมตตา” ว่า สัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศระหว่าง THCOM กับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นระยะเวลา 30 ปี จะสิ้นสุดปี 2564 แต่แผนการจัดส่งดาวเทียมไทยคม 9 เพื่อทดแทนดาวเทียมไทยคม 4 (เนื่องจากการสร้างดาวเทียมใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 ปี) จะต้องเริ่มสร้างช้าที่สุดในปี 2561 แต่ถูก “ตัดสายป่าน” โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมไปเรียบร้อยแล้ว

การตัดสายป่านเกิดขึ้นเมื่อ กระทรวงดิจิทัลฯ…ได้ถอนการจองวงโคจรของดาวเทียม 9 ไปเมื่อปลายปี 2558 และยังไม่ได้ดำเนินการจองวงโคจรดาวเทียมเพิ่มอีก ยิ่งกว่านั้นใบอนุญาตของดาวเทียมใหม่อย่างไทยคม 9 และไทยคม 10 (เพื่อมาทดแทน ดาวเทียมไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) และดาวเทียมไทยคม 5 ซึ่งจะหมดอายุการใช้งานใกล้เคียงกับสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศในปี 2564)…ยังถูกกระทรวงฯ ดำเนินการ “ไซด์เฮดล็อก” ด้วยเสียงแห่งความเงียบ

ผลลัพธ์ทันทีคือ ลูกค้ารายใหญ่ บริษัท ซอฟต์แบงก์ กรุ๊ป แห่งญี่ปุ่น ที่เคยแสดงเจตนาว่าจะเช่าใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมของไทยคม 9 มากถึง 30% ของช่องสัญญาณดาวเทียมไทยคม 9 หรือคิดเป็น 1.5 กิกะไบต์ และเรียกร้องให้สร้างดาวเทียมให้แล้วเสร็จภายในปี 2562…แจ้งขอยกเลิกแผนใช้งานดาวเทียมไทยคม 9 เมื่อเดือนเมษายน 2560….สูญเสียโอกาสและรายได้ในอนาคต ปีละไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านเยน หรือประมาณ 300 ล้านบาท การแถลงข่าวครั้งนั้น นายไพบูลย์ ถึงขั้นยื่นคำเสนอถึงขีดสุดว่ารัฐบาลและคสช.น่าจะใช้ ม.44 สร้าง “ดาวเทียมประชารัฐ” เพื่อแก้ปัญหาดาวเทียมของประเทศ ….ก็ไร้ปฏิกิริยาตอบรับ

ราคาหุ้น THCOM ล่าสุดที่เริ่มโรยตัวลงมาแถวแนวรับ 16.00 บาท หลังจากรีบาวด์จากจุดต่ำสุดของปีนี้ เพราะข่าวเรื่องวิศวกรรมการเงิน จากดีลซื้อหุ้นของ บริษัท ซีเอส ล็อกซอินโฟ จำกัด (มหาชน) หรือ CSL โดยบริษัทในกลุ่มเดียวกัน คือ แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC ภายใต้เงื่อนไข “แสดงเจตจำนงแบบมีเงื่อนไขและไม่ผูกพันในการทำคำเสนอซื้อ” จากผู้ถือหุ้นใหญ่สองราย ราคาเสนอซื้อต่ำกว่ากระดาน ที่ 7.80 บาทต่อหุ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อ THCOM ที่ถือใน CSL จำนวน 42.07% ผ่านบริษัท ดีทีวี เซอร์วิส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ….จึงถือว่ายังแพงเกินจริง เมื่อมองจากอนาคตที่สลัวมัวหม่น ธุรกิจที่ดำรงอยู่บนความไม่แน่นอนของภาครัฐที่ปากชู 4.0 แต่ทางปฏิบัติทำ 0.4 …เพราะแรง “ผีทักษิณ” ขึ้นสมอง…รอวันตายหยังเขียดอย่างเดียว

อนุญาโตฯ ที่ไหนเลย….จะหาญสู้ “ตุลาการภิวัตน์”

หุ หุ หุ

Back to top button