THCOM ร่วงหนัก 6% กังวลข้อพิพาทดาวเทียมไทยคม 7-8 กลับไปใช้ระบบสัมปทาน

THCOM ร่วงหนัก 6% กังวลข้อพิพาทดาวเทียมไทยคม 7-8 กลับไปใช้ระบบสัมปทาน โดย ณ เวลา 11.26 น. ราคาอยู่ที่ 14.90 บาท ลบ 1.10 บาท หรือ 6.88% สูงสุดที่ 15.50 บาท ต่ำสุดที่ 14.60 บาท มูลค่าซื้อขายที่ 203.38 ล้านบาท 


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราคาหุ้น บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน)หรือ THCOM ณ เวลา 11.26 น. ราคาอยู่ที่ 14.90 บาท ลบ 1.10 บาท หรือ 6.88% สูงสุดที่ 15.50 บาท ต่ำสุดที่ 14.60 บาท มูลค่าซื้อขายที่ 203.38 ล้านบาท ขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยโดยรวมบวก 0.62%

ทั้งนี้ ปัจจัยที่คาดว่าส่งผลให้ราคาหุ้น THCOM ปรับตัวลงแรงในวันนี้ เป็นผลมาจากกรณีกระทรวงดิจิทัลฯ แจ้งให้ดาวเทียมไทยคม 7 และดาวคมไทยคม 8 ดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารฯ ให้ครบถ้วนอาทิ การโอนกรรมสิทธิ์และส่งมอบทรัพย์สิน การจัดสร้างดาวเทียมสำรอง การชำระเงินผลประโยชน์ตอบแทน และการประกันภัยทรัพย์สิน

โดยกรณีดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า ดาวเทียมไทยคม 7 และดาวคมไทยคม 8 จะต้องกลับไปสู่กติกาสัมปทาน ไม่ใช่สัญญาการรับใบอนุญาตจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ

ด้าน นักวิเคราะห์ บล.โกลเบล็ก ระบุในบทวิเคราะห์ว่า การเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการน่าจะสร้างความชัดเจนต่อประเด็นดังกล่าวได้ แต่มองเป็นประเด็นกดดันต่อ THCOM คือเพิ่ม Downside ขึ้นอีก แม้อาจมีการสะท้อนไปบางส่วนแล้วก็ตาม โดยนับตั้งแต่วันที่กระทรวงดิจิทัลฯ มีการส่งหนังสือฉบับดังกล่าว เมื่อวันที่ 5 ต.ค.60 ราคาหุ้น THCOM ปรับตัวลดลงแล้วราว 7.5%

อนึ่ง เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 60 บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ INTUCH ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) หรือ THCOM เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 5 ต.ค.60 บริษัทได้รับหนังสือจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม แจ้งว่าดาวเทียมไทยคม 7 และดาวเทียมไทยคม 8 เป็นดาวเทียมภายใต้สัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ

โดยลงนามเมื่อวันที่ 11 ก.ย.34 ระหว่าง บริษัทและกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเดิม โดย INTUCH ได้จัดตั้ง THCOM ขึ้นมาเพื่อดำเนินงานตามสัญญาดังกล่าว โดยหนังสือจากกระทรวงดิจิทัลฯ ระบุให้ปฏิบัติตามสัญญาดำเนินกิจการสื่อสารให้ครบถ้วนโดยด่วน อาทิ การโอนกรรมสิทธิ์และส่งมอบทรัพย์สิน การจัดสร้างดาวเทียมสำรอง การชำระเงินผลประโยชน์ตอบแทน และการประกันภัยทรัพย์สิน

ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท เมื่อวันที่ 18 ต.ค.60 ได้พิจารณาและหารือกับที่ปรึกษากฎหมายแล้วมีความเห็นว่าดาวเทียมทั้ง 2 ดวงไม่ใช่ดาวเทียมภายใต้สัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสาร แต่เป็นการดำเนินการภายใต้กรอบของการรับใบอนุญาตจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

อีกทั้งบริษัทได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขและข้อกำหนดในสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารอย่างครบถ้วน โดยไม่ได้ดำเนินการใด ๆ ขัดต่อสัญญา ซึ่งแตกต่างจากความเห็นของกระทรวงดิจิทัลฯ

ดังนั้น ที่ประชุมจึงมีมติให้บริษัทยื่นเสนอข้อพิพาทดังกล่าวต่ออนุญาโตตุลาการเพื่อพิจารณาชี้ขาดข้อพิพาทที่เกิดขึ้น โดยบริษัทได้ดำเนินการยื่นข้อโต้แย้งต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการในวันที่ 25 ต.ค.60 เป็นข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 97/2560

อนึ่ง บริษัทชี้แจงว่าในขณะที่ข้อพิพาททอยู่ระหว่างการพิจารณาของอนุญาโตตุการ บริษัทยังไม่มีหน้าที่ในการปฏิบัติตามที่กระทรวงดิจิทัลฯ ได้กล่าวอ้างจนกว่าจะมีการชี้ขาด

Back to top button