GFPTผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วใน1Q58แนะซื้อมีแผนย้ายจากกลุ่มธุรกิจเกษตรสู่กลุ่มอาหาร

GFPTกำไรสุทธิ ไตรมาส1/58 ลดลง 49%เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนและ 41%เทียบไตรมาสก่อนหน้า โบรฯกมองผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาส1/58 และจะดีขึ้นเป็นลำดับในไตรมาส 2-ไตรมาส3/58 พร้อมเล็งย้ายจากกลุ่มธุรกิจเกษตรสู่กลุ่มอาหารแนะซื้อราคาพื้นฐาน 14 บาท


บล.ดีบีเอสฯ ระบุในบทวิเคราะห์วันนี้ (14พ.ค.58) ว่าบริษัท จีเอฟพีที จำกัด (มหาชน) หรือ GFPT รายงานกำไรสุทธิ ไตรมาส1/58 เท่ากับ 218 ล้านบาท ลดลง 49%เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนและ 41%เทียบไตรมาสก่อนหน้าโดยการหดตัว เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนมาจาก 1) ปริมาณส่งออกไก่แปรรูปลดลง 20%เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน

เนื่องจากผู้นำเข้าชะลอการสั่งซื้อมาตั้งแต่ปลายปี 57 เพราะประเมินว่าไก่ส่งออกของไทยจะอยู่ในภาวะ Oversupply, 2) ปริมาณขายอาหารกุ้งหดตัว 4% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน

เนื่องจากผลกระทบจากโรคระบาด EMS ยังไม่สิ้นสุด, 3) ราคาชิ้นส่วนไก่ (By Products) ในประเทศลดลง 14%เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน, 4) ราคาวัตถุดิบข้าวโพดเพิ่มขึ้น ซึ่งบางส่วนได้รับการชดเชยจากปริมาณขายไก่เป็นให้กับ GFN เพิ่ม 10%เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนและปริมาณส่งออกไก่ทางอ้อมเพิ่มขึ้น 21%เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนแต่ก็ไม่ได้ทั้งหมด ยังผลให้ยอดขายไตรมาสนี้ลดลง 4%เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนและอัตรากำไรขั้นหดตัวเป็น 12.0% จาก 14.5% ใน ไตรมาส1/57 ส่วนการลดลง เทียบไตรมาสก่อนหน้าเป็นผลจากยอดขายที่ต่ำลง 14%เทียบไตรมาสก่อนหน้าและอัตรากำไรขั้นต้นอ่อนลงจาก 13.6% ในไตรมาส4/57

ด้านส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมลดลงเหลือเพียง 12 ล้านบาทในไตรมาสนี้ โดยเป็นส่วนแบ่งกำไรของ McKey 25.9 ล้านบาทและส่วนแบ่งผลขาดทุนจาก GFN (GFPT ถือหุ้น 49%) 14.2 ล้านบาท ซึ่งผลประกอบการที่แย่ลงของ GFN โดยหลักมาจากรายได้ส่งออกลดลง และราคาขายชิ้นส่วนไก่ในประเทศลดลง 

ผ่านจุดต่ำสุดของปีนี้ไปแล้ว โดยผลประกอบการจะกระเตื้องขึ้นในไตรมาส2/58และเติบโตดีขึ้นต่อในครึ่งหลังปี58เนื่องจาก

1) ราคาไก่ในประเทศดีขึ้น จากราคาหน้าฟาร์มเฉลี่ย 36 บาท/กก.ใน ไตรมาส1/58 เพิ่มเป็น 38-39 บาท/กก.ในปัจจุบัน โดยราคาชิ้นส่วนไก่ในประเทศก็เพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกัน

2) ราคากากถั่วเหลืองที่ใช้ใน 2Q-ไตรมาส3/58 ลดลงต่อเนื่อง ขณะที่ต้นทุนข้าวโพดขยับขึ้นเล็กน้อยแต่โดยสุทธิแล้วต้นทุนวัตถุดิบหลักลดลง

3) ปริมาณส่งออกไก่เพิ่มขึ้น เพราะผู้นำเข้าเริ่มสั่งซื้อหลังภาวะ Oversupply ไม่ได้มากอย่างที่ประเมินไว้ เพราะการเกิดโรคระบาดหวัดนกในสหรัฐและยุโรปทำให้ไทยไม่ได้นำเข้าปู่ย่าพันธุ์มาตั้งแต่ต้นปี 58 ในเบื้องต้นคาดว่าปริมาณส่งออกไก่ในไตรมาส2/58จะเพิ่มเป็น 1,500-1,600 ตัน/เดือนจากเฉลี่ย 1,300 ตัน/เดือนใน ไตรมาส1/58

4) ผลประกอบการของบริษัทร่วม GFN ดีขึ้นเป็นระดับคุ้มทุนถึงกำไรเล็กน้อย ซึ่งเป็นผลจากปริมาณส่งออกเพิ่มเป็น 1,700-1,800 ตัน/เดือน จาก 1,500 ตัน/เดือนใน ไตรมาส1/58 และราคาชิ้นส่วนไก่ในประเทศดีขึ้น

ผลกระทบจากการปิดสาขาแมคโดนัลด์ 250 แห่งในญี่ปุ่นจำกัด เนื่องจากทางแมคโดนัลด์ยังคงซื้อสินค้าจาก McKey เป็นจำนวนมากอยู่เพราะเป็นคู่ค้าหลัก โดยจะมีการลดสัดส่วนซื้อจากรายอื่นมากกว่า ดังนั้นผลกระทบต่อ McKey จากกรณีนี้จึงไม่เกิน 5%  

ความกังวลเรื่องไก่ขาดแคลนในปี 59 ผ่อนคลายลง เพราะนำเข้าปู่ย่าพันธุ์จากสหรัฐและยุโรปไม่ได้ผ่อนคลายลง เนื่องจากทางการไทยกำลังพิจารณาให้นำเข้าปู่ย่าพันธุ์จากอังกฤษได้ตั้งแต่มิ.ย.58 และอาจตามมาด้วยอนุญาตให้นำเข้าจากเนเธอร์แลนด์ตามมาด้วย (แต่คาดว่าจะยังไม่ให้นำเข้าจากสหรัฐไปถึงสิ้นปี 58) ซึ่งทำให้ปัญหาขาดแคลนปู่ย่าพันธุ์จะผ่อนคลายและไม่กระทบต่อการส่งออกในปี 59

บริษัทกำลังพิจารณาย้ายจากกลุ่มธุรกิจเกษตรสู่กลุ่มอาหาร ซึ่งคาดว่าจะเป็นผลดีในด้าน Valuation เพราะ P/E เฉลี่ยของหุ้นกลุ่มอาหารสูงกว่ากลุ่มธุรกิจเกษตรอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้หุ้น GFPT มีโอกาสที่จะซื้อขายบน P/E ที่สูงขึ้นตามกลุ่ม

แนะนำซื้อ โดยให้ราคาพื้นฐาน 14 บาท โดยปรับขึ้นไปอิงกับ P/E ปี 58 ที่ 13 เท่า (เดิม 12 เท่า) สะท้อนการที่บริษัทจะย้ายไปซื้อขายในกลุ่มอาหาร ซึ่งมีโอกาสที่จะ Rating บน P/E ที่สูงขึ้น โดยในปัจจุบัน P/E เฉลี่ยกลุ่มอาหารสูงกว่ากลุ่มธุรกิจเกษตรประมาณ 25%   ในด้านผลคาดการณ์ประกอบการ เรามีการปรับลดประมาณการส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วม GFN ลงจากคาดการณ์เดิม สะท้อนผลประกอบการของบริษัทที่แย่กว่าคาดในไตรมาส1/58 ทำให้คาดการณ์กำไรสุทธิทั้งปี 58-59 ลดลงจากเดิม 7% และ 6% ตามลำดับ

Back to top button