กลยุทธ์ฝ่าวิกฤติต้นทุน

โจทย์หลักที่เป็นหนึ่งในอุปสรรคต่อการทำธุรกิจ นั่นคือเรื่อง “ต้นทุน” โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตจัดว่าเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบต้นทุนค่อนข้างสูง ทั้งเรื่องต้นทุนการผลิตและต้นทุนโลจิสติกส์ แต่ภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นกลยุทธ์การบริหารจัดการต้นทุนจึงเข้ามามีบทบาทสูงที่จะทำให้ผู้ประกอบการมีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้นได้ เบื้องต้นมี 5 กลยุทธ์ที่น่าสนใจคือ..


พลวัตปี 2017 : สุภชัย ปกป้อง (แทน)

โจทย์หลักที่เป็นหนึ่งในอุปสรรคต่อการทำธุรกิจ นั่นคือเรื่อง “ต้นทุน” โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตจัดว่าเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบต้นทุนค่อนข้างสูง ทั้งเรื่องต้นทุนการผลิตและต้นทุนโลจิสติกส์ แต่ภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นกลยุทธ์การบริหารจัดการต้นทุนจึงเข้ามามีบทบาทสูงที่จะทำให้ผู้ประกอบการมีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้นได้ เบื้องต้นมี 5 กลยุทธ์ที่น่าสนใจคือ..

การควบคุมต้นทุนเงินจากอัตราดอกเบี้ย นับว่าเป็นปัจจัยสภาพแวดล้อมภายนอกที่ธุรกิจไม่สามารถควบคุมได้ จึงต้องมีกลยุทธ์การควบคุมการจัดการทางการเงิน เนื่องจากการเงินเป็นหัวใจหลักของการทำธุรกิจ หากมีต้นทุนทุกอย่างเพิ่มขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญสำหรับกิจการคือ เงินสด (Cash Flow) ต้องมีการบริหารจัดการทางการเงิน (Cash Management) กับเจ้าหนี้และลูกหนี้ โดยเฉพาะปัญหาลูกค้าหนี้การค้า ไม่สามารถเรียกเก็บเงินจากลูกค้าของตนเองได้ ตามกำหนดระยะเวลา จะเกิดปัญหาทางการเงินได้

การหาแหล่งวัตถุดิบใหม่ที่ถูกลงและการใช้วัตถุดิบอื่นทดแทน เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้น เกิดจากสินค้าโภคภัณฑ์หลักของโลก มีการปรับราคาสูงขึ้นอย่างรุนแรง ดังนั้นผู้ประกอบการควรฉกฉวยสิทธิประโยชน์ จากเงื่อนไขข้อตกลง จากประชาคมอาเซียน (AEC) ให้มากที่สุด ด้วยแสวงหาแหล่งวัตถุดิบจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม ที่ถูกกว่าวัตถุดิบภายในประเทศ และการใช้วัตถุดิบชนิดอื่นทดแทน

การบริหารต้นทุนด้านแรงงาน ต้นทุนทางด้านแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้น เกิดจากนโยบายของรัฐบาลในการขึ้นค่าแรงงาน โดยต้องกลับมาทบทวนในเรื่องประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน/คนงาน บางครั้งจำเป็นต้องมีการปลดพนักงานออก หากพนักงานกลุ่มนั้นเป็นแรงงานที่ไม่มีคุณภาพ ขณะเดียวกันต้องเพิ่มประสิทธิภาพคนงานเพื่อลดค่าแรงต่อการผลิตสินค้าหนึ่งชิ้นให้น้อยลงด้วย หากไม่มีงบประมาณเพียงพอ ควรใช้บริการฝ่ายทรัพยากรมนุษย์จัดฝึกอบรมเป็นการภายใน (In-house Training)

การบริหารต้นทุนพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นอันเนื่องมาจากราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงนโยบายปล่อยลอยตัวราคาก๊าซ LPG ของภาครัฐ โดยต้องทำการสำรวจดูว่าจะสามารถลดต้นทุนในส่วนไหนได้บ้าง แต่จะต้องไม่เป็นการลดคุณภาพของสินค้าหรือบริการ เช่น กระบวนการผลิตจะสามารถลดส่วนไหนได้ นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เปลี่ยนวิธีการทำงานใหม่ ลดพลังงาน ลดขั้นตอนการผลิต ลดค่าแรงและลดวัตถุดิบ

รวมทั้งในการผลิตผลิตภัณฑ์ 1 ชนิด หากรู้ถึงต้นทุนที่แท้จริงก่อนว่าเป็นเท่าใด จะสามารถมองเห็นถึงการลดต้นทุนในแต่ละขั้นตอนหรือแต่ละกระบวนการได้ เช่น พยายามรวมเที่ยวในการจัดส่งสินค้าให้ลูกค้าแต่ละรายที่อยู่ในเส้นทางเดียวกัน และการปรับเปลี่ยนวิธีการขนส่งสินค้า เช่น เดิมใช้พนักงานขับรถตระเวนส่งสินค้าตามสถานที่ต่างๆ ก็เปลี่ยนมาเป็นการส่งสินค้าให้กับศูนย์กระจายสินค้าเพียงจุดเดียว (ของคู่ค้า) แล้วให้ไปกระจายสินค้าเอง เพื่อลดต้นทุนการขนส่ง

รวมถึงการพิจารณาใช้วิธีการจัดจ้างจากภายนอก (Outsource) ด้วย หรือลงทุนซื้อเครื่องจักรเพื่อลดขั้นตอนในการทำงานและเพิ่มกำลังการผลิต ถึงแม้ว่าจะใช้เงินลงทุนซื้อเครื่องจักรสูง แต่ก็คุ้มค่ากับเงินที่ลงทุนไป เพราะว่าจะสามารถช่วยลดต้นทุนด้านคน เวลา เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และต้นทุนการผลิต นอกจากนี้เป็นการเพิ่มขีดความสามารถทางด้านการแข่งขันอีกด้วย

การบริหารต้นทุนด้านการตลาด นับว่าเป็นต้นทุนที่ผู้ประกอบการสามารถลดได้ง่ายมากในยุคดิจิทัลโดยต้องทำการตลาดต้นทุนต่ำสามารถลดต้นทุนอีกทางหนึ่ง โดยใช้เครื่องมือออนไลน์ต่างๆ ประเภท Social Media เช่น Facebook  Twitter Blog เป็นต้น หรือการทำตลาด แบบ Below the line ที่ใช้งบประมาณไม่มาก เช่น การจัดกิจกรรมตามเทศกาล (Event) พร้อมกับศึกษาสภาพโดยรวมของตลาด พฤติกรรมผู้บริโภค รวมถึงการวิจัยและพัฒนาเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ พัฒนาตลาด ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มหรือสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าอย่างต่อเนื่องและครบวงจร เพื่อกำหนดตัวสินค้าหรือบริการตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ได้ตรงจุดยิ่งขึ้น

นี่อาจเป็นเพียงกลยุทธ์เบื้องต้นในการบริหารจัดการต้นทุน แต่ว่าธุรกิจปัจจุบันมีความหลากหลายยิ่งขึ้น ดังนั้นกลยุทธ์การบริหารจัดการต้นทุนจึงต้องมีความหลากหลายเพิ่มขึ้นอีกเช่นกัน ที่สำคัญผู้บริหารเป็นผู้มีบทบาทอย่างยิ่งในการที่จะรู้เท่าทันต่อการเปลี่ยน เพื่อกำหนดกลยุทธ์ต่างๆ ด้วย

Back to top button