พาราสาวะถี

เวลานี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ระหว่างการเดินสายขายฝันทั้งบนเวทีเอเปค ที่เวียดนาม แล้วต่อด้วยประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนและเวทีอื่นที่เกี่ยวข้องที่ฟิลิปปินส์ จังหวะนี้ได้มีโอกาสพบปะและสัมผัสมือกับ โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐอเมริกาอีกกระทอก ก็ไม่รู้ว่าพี่เบิ้มได้ทวงถามเรื่องโรดแมปเลือกตั้งซ้ำอีกรอบหรือเปล่า


อรชุน

เวลานี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ระหว่างการเดินสายขายฝันทั้งบนเวทีเอเปค ที่เวียดนาม แล้วต่อด้วยประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนและเวทีอื่นที่เกี่ยวข้องที่ฟิลิปปินส์ จังหวะนี้ได้มีโอกาสพบปะและสัมผัสมือกับ โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐอเมริกาอีกกระทอก ก็ไม่รู้ว่าพี่เบิ้มได้ทวงถามเรื่องโรดแมปเลือกตั้งซ้ำอีกรอบหรือเปล่า

อย่างที่เข้าใจกัน เวทีทางการทูตทุกคนรู้จักรักษามารยาท มีเป้าประสงค์เดียวคือ บรรลุวัตถุประสงค์ที่แต่ละประเทศวางเอาไว้ โดยใช้ภาษาดอกไม้ในการพูดจา ดังนั้น จึงอย่าไปหวังอะไรมากกับโอกาสที่ได้รับหรือคำหวานที่ได้รับการสรรเสริญ เยินยอ เพราะเมื่อทุกคนหันหลังเดินทางกลับประเทศใครประเทศมันไปแล้ว หลังจากนั้นนั่นแหละ จึงจะได้เห็นว่าท่าทีของแต่ละประเทศกับแต่ละเรื่องว่าเป็นอย่างไร

ประเทศไทยในฐานะที่มีรัฐบาลจากการรัฐประหาร ตัวผู้นำและบริวารย่อมรู้ดีในสถานะและการยอมรับจากนานาประเทศ ยิ่งล่าสุด มีคำถามของท่านผู้นำ 6 ข้อ ก็ไม่รู้ว่าต่างชาติจะมองเรื่องนี้อย่างไร แม้จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในปีหน้า ทว่ากลับเกิดคำถามตัวโตตามมา จะมีการตั้งพรรคหรือสนับสนุนพรรคการเมือง เพื่อปูทางให้คณะรัฐประหารกลับมาสู่ตำแหน่งบริหารบ้านเมืองอีกครั้งหลังเลือกตั้ง

ประเด็นเรื่องความชอบธรรม ที่จะอ้างว่ารัฐธรรมนูญเปิดช่องให้มีนายกรัฐมนตรีคนนอกได้ และคนที่จะเข้ามาเป็นผู้นำก็มาจากการเลือกของที่ประชุมรัฐสภา ถ้าเป็นประเภทหลับหูหลับตาเชียร์หรือพวกไม่สนใจอะไรบนโลกใบนี้ก็คงเห็นว่านั่นเป็นที่มาอันสง่างามแล้ว แต่พอมองไปถึงเสียงที่จะสนับสนุน โดยมีส.ว.ลากตั้งถึง 250 เสียงคอยยกมือหนุน ถามว่านี่คือการก้าวเข้าสู่ตำแหน่งที่งดงามเช่นนั้นหรือ

เสียงวิจารณ์ที่ดังกระหึ่มต่อเนื่องเวลานี้ ไม่ว่าจะนักวิชาการ นักการเมืองหรือคนที่เคยถูกมองว่าเป็นพวกเดียวกับคณะรัฐประหาร ล้วนแล้วแต่เป็นไปในเชิงลบทั้งสิ้น ไม่น่าเชื่อว่า แม้กระทั่ง อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่ปกติจะสงวนท่าที ไม่แสดงความเห็นในเชิงพาดพิงหรือให้ร้ายฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด แต่กับ 6 คำถาม ดูท่าจะทำให้เสี่ยหนูหมดความอดทน

ข้อความที่โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวของอนุทินนั้น อธิบายความไม่พอใจต่อสิ่งที่หัวหน้าคณะรัฐประหารได้แสดงออกมาอย่างเด่นชัดที่สุด คำถามที่ตั้งมานั้นไม่ส่งผลอะไรเลย เพราะคนเชลียร์นายก็จะอวย ส่วนคนเกลียดเผด็จการก็จะด่า อยากจะทำสิ่งใดก็ทำไปเลยหากมั่นใจว่าทำแล้วเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม หากผลออกมาเป็นอีกอย่าง ไม่เป็นไปตามคาด ก็ขอให้กล้าแอ่นอกรับผิดชอบ ไม่ต้องไปโทษใครก็แค่นั้น

เป็นการตัดพ้อต่อว่าอย่างตรงไปตรงมาชนิดที่บรรดาผู้ติดตามความเคลื่อนไหวของหัวหน้าพรรคการเมืองที่ถูกมองว่าแทงกั๊กเพื่อหวังผลอย่างหนึ่งอย่างใด ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น ไม่เพียงเท่านั้น อนุทินยังมองไปถึงประเด็น ที่ผู้มีอำนาจชอบดูแคลนนักการเมืองตลอดเวลาด้วยว่า ใครจะดูแคลนอีกฝ่ายหนึ่ง ต้องพึงมั่นใจว่าฝั่งของตนเองต้องไม่ได้ทำในสิ่งที่ตนได้พูดดูแคลนอีกฝ่ายไว้ด้วย
ในสังคมใหญ่ที่เรียกว่าประเทศ คนในสังคมต้องอยู่ด้วยการให้เกียรติกัน ไม่ต้องเคารพนับถือกันหรอก แต่ต้องให้เกียรติกัน หากคสช. ดูถูกและแสดงความรังเกียจฝั่งการเมือง ก็ต้องพร้อมที่จะรับได้ว่า ฝั่งการเมืองและวิญญูชนทั่วไปก็ดูแคลน ดูถูก และรังเกียจคนทุกคนที่ไม่ได้เข้ามาตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยเช่นกัน

นี่คงเป็นบทพิสูจน์ที่ว่า คนเรานั้นความอดทนมันมีจำกัด ยิ่งเห็นได้ชัดว่านับวันยิ่งถูกรุกไล่ไม่ให้มีที่ยืนในสังคม วันหนึ่งก็จำเป็นที่จะต้องออกมาปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และปกป้องสถานะที่ตัวเองเป็นอย่างเช่นนักการเมือง เพราะแม้ด้านหนึ่งจะเป็นนักธุรกิจ แต่งานด้านการเมืองอนุทินก็ตั้งใจที่จะทำงานอย่างเต็มที่ โดยมีเป้าหมายใหญ่ที่นักการเมืองหลายคนใฝ่ฝันอยู่เหมือนกัน

ขณะที่ความเห็นทางวิชาการ สิริพรรณ นกสวน สวัสดี จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ก็วิเคราะห์ได้อย่างน่าสนใจ นี่ไม่ใช่เป็นการตั้งคำถาม แต่เป็นการแสดงท่าที และจุดยืนต่อปรากฏการณ์ทางการเมือง รวมทั้ง ภาพในอนาคตมากกว่า และต้องถามกลับไปที่พลเอกประยุทธ์ว่า สนับสนุนพรรคการเมืองใด และหากสนับสนุนพรรคการเมืองนั้น การเมืองไทยจะเปลี่ยนไปอย่างไร และต้องการเห็นการเมืองไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

ส่วนเรื่องสิทธิในการสนับสนุนพรรคการเมืองของคสช.นั้น ตามหลักมาตรฐานสากล รัฐบาลทั่วไปที่มาจากการเลือกตั้งจะได้สิทธิพิเศษในการควบคุมกลไกทางการเมืองอยู่แล้ว แต่รัฐบาลคสช. ไม่ใช่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่เข้ามาเป็นกรรมการเพื่อยุติความขัดแย้ง และให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ดังนั้น ไม่ว่ารัฐบาลจะสนับสนุนพรรคการเมืองใด หรือ จะไม่ลงเลือกตั้งแล้วกลับเข้ามา ก็จะผิดหลักสากลของความเป็นกลางทางการเมือง

ดังนั้น ที่พลเอกประยุทธ์ถามว่าเป็นสิทธิ์ที่คสช.จะสนับสนุนพรรคการเมืองหรือไม่ เรื่องนี้อาจสนับสนุนได้ในฐานะส่วนตัวแต่ไม่ใช่ในฐานะนายกฯ ขณะเดียวกันการตั้งพรรคทหารหรือพรรคที่ทหารสนับสนุนจะประสบความสำเร็จหรือไม่นั้น ยังเป็นเครื่องหมายคำถาม แต่สิริพรรณมองว่ามองว่าโอกาสพรรคการเมืองที่สนับสนุนพรรคทหารจะได้เกิน 30 ที่นั่งเป็นไปได้ยาก แต่ด้วยเงื่อนไขพรรคขนาดกลางและขนาดเล็กมีเยอะ ก็อยากที่จะเข้าไปร่วมรัฐบาล มากกว่าการเป็นพรรคการเมืองใหญ่ด้วยซ้ำ

แต่ทางออกที่ดีขณะนี้คือ ให้พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ร่วมมือกัน เชื่อว่า 2 พรรคนี้ จะได้คะแนนเสียงรวมกัน ประมาณร้อยละ 70 จะสามารถถ่วงคะแนนเสียงในสภาฯ ต่อการเลือกนายกฯ ซึ่งเป็นการป้องกันเสียงจากส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้ง เข้ามามีบทบาทในการสรรหาผู้นำประเทศได้ เป็นข้อเสนอทางวิชาการที่สวยงาม แต่มีความเป็นไปได้ยากยิ่งในทางการเมือง เพราะอะไรคงไม่ต้องอธิบาย แต่ถ้ามันเกิดขึ้นได้จริงต้องถือว่านี่คืออภินิหาร และน่าจะเป็นนิมิตหมายอันดีของการเมืองประเทศไทย

Back to top button