ได้เวลา”ทิ้งกาก เอาแก่น”

ดัชนี SET ของตลาดหลักทรัพย์ไทยกลับเปราะบางอีกครั้ง เมื่อหลุดแนวรับจิตวิทยา 1,700 จุด เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เสียงร้องเรียกหาเหยื่อที่เคยโหยหวนของบรรดาเหล่านางไซเรนแห่งตลาดหุ้น ถูกกลบด้วยเสียงโกลาหลของบรรดาเหยื่อที่พากันตัดขาดทุนเอาชีวิตรอดกันจ้าละหวั่นอย่างสยดสยองแทน


พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล

ดัชนี SET ของตลาดหลักทรัพย์ไทยกลับเปราะบางอีกครั้ง เมื่อหลุดแนวรับจิตวิทยา 1,700 จุด เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เสียงร้องเรียกหาเหยื่อที่เคยโหยหวนของบรรดาเหล่านางไซเรนแห่งตลาดหุ้น ถูกกลบด้วยเสียงโกลาหลของบรรดาเหยื่อที่พากันตัดขาดทุนเอาชีวิตรอดกันจ้าละหวั่นอย่างสยดสยองแทน

ตามตำรากรีกโบราณเรื่องเทพปกรณัม เล่ากันว่า บทขับร้องบทเพลงด้วยน้ำเสียงที่หวานไพเราะจับใจของนางอัปสรไซเรน ที่ทำให้ผู้ได้ฟังเคลิบเคลิ้มลืมสิ้นทุกสิ่ง ลืมตัว ลืมบ้านเกิดเมืองนอน ลืมภาระหน้าที่ รู้อย่างเดียวว่าจะต้องไปหาผู้ที่ขับขานนั้นให้ได้ แล้วก็จะโดดลงจากเรือ ว่ายน้ำไปหานางไซเรน แล้วก็ถูกจับกิน หรือไม่ก็ว่ายน้ำไปแล้วก็หลงใหลได้ปลื้มกับเสียงนั้น ไม่เป็นอันกินอันนอนจนขาดใจตาย หากเกิดผลตรงกันข้าม เหล่านางอัปสรเองต้องสังเวยจนถึงแก่ชีวิตหากมีผู้ใดรอดชีวิตมาได้หลังฟังบทเพลงของนาง ดังกรณี โอดิสซุส ที่รอดไปและก่อสุสานให้นางตรงบริเวณที่ต่อมากลายเป็นเมืองเนเปิลส์ในปัจจุบัน

จากนี้ไป เสียง “เชียร์แขก” ของนักวิเคราะห์ หรือนางอัปสรไซเรนร่วมสมัย ที่เคยพากันโหมประโคมให้นักลงทุนเชื่อกันว่า ดัชนี SET สิ้นปีนี้จะเกิน 1,700 จุด และสิ้นปี 2561 จะเกินกว่า 1,900 จุด คงจะเปลี่ยนไปจากเดิมพอสมควร เว้นแต่จะอ้อมๆ แอ้มๆ บอกว่า “ลงเพื่อขึ้น” ท่าจะมีคนเชื่อน้อยลง

เหตุผลอยู่ที่ว่า สถานการณ์ที่ยังไม่ชัดเจนว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยที่ร่วงลึกมาใต้ 1,700 จุดนั้น เป็นภาวะลดความร้อนแรง (market retracement)  ไม่เกิน 3% หรือปรับฐาน (market correction) ไม่เกิน 10% หรือเป็นการปรับเป็นขาลง (market crash) เกิน 30%

ภายใต้สถานการณ์ที่ไม่ชัดเจนอย่างนี้ ส่งผลให้ตลาดหันกลับไปรำลึกถึงคำนิยามเก่าแก่ของนายอลัน กรีนสแปน อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ว่าด้วย “ความกระตือรือร้นที่ไม่สมเหตุสมผล” หรือ irrational exuberance ที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาเมื่อปี ค.ศ. 1996 ก่อนหน้าวิกฤตต้มยำกุ้ง 1 ปี และก่อนวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ 12 ปี

ขอฉายหนังซ้ำเล่าเรื่องของ นายกรีนสแปน ในฐานะประธานเฟด ที่ครั้งนั้นต้องการส่งสัญญาณทางอ้อมให้ตลาดหุ้นเข้าใจว่าเกิดฟองสบู่ในการเก็งกำไรแล้ว ดัชนีดาวโจนส์วิ่งขึ้นไปที่ระดับ 6,860 จุด หรือบวกขึ้นไปจากกลางปี 1995 กว่า 80% ในเวลาแค่สามเดือน ส่งผลให้มีความกังวลใจเกี่ยวกับตลาดหุ้นที่ราคาดีดตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

ตามกฎหมายแล้ว รัฐมนตรีคลัง และประธานเฟดไม่สามารถพูดเรื่องทางลบเกี่ยวกับตลาดหุ้นหรือตักเตือนนักลงทุนได้ แต่ความจำเป็นที่ต้องหาทางลดความร้อนแรงของตลาดหุ้นลง เพื่อส่งสัญญาณเตือนนักลงทุนว่าดัชนีตลาดหุ้นสูงเกินพื้นฐานไปแล้ว และธนาคารกลางกำลังจับตาดูอยู่อย่างขะมักเขม้นให้ตลาดคิดถึงผลกระทบของความร้อนแรงเกินขนาดที่จะมีต่อระบบเศรษฐกิจและการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน ได้กลายมาเป็นคำถามที่สะเทือนตลาดรุนแรงว่า “เราจะรู้ได้อย่างไรว่าความกระตือรือร้นที่ไม่สมเหตุสมผลได้ทำให้มูลค่าหุ้นถีบตัวสูงกว่าความเป็นจริง”

แม้ว่าในปัจจุบัน อิทธิพลของนิยามของนายกรีนสแปนจะเลอะเลือนไปกับกาลเวลา ผสมกับความผิดพลาดที่ร้ายแรงของนายกรีนสแปนยุคหลัง จากการใช้นโยบายการเงินที่เอนเอียงไปในทางผ่อนคลาย ด้วยการกดดอกเบี้ยให้ต่ำเกิน เปิดช่องให้กับวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ แต่คำดังกล่าวก็ยังไม่ถึงกับเสื่อมมนต์ขลังเสียทีเดียว

ยามนี้ เมื่อมีความสงสัยเกิดขึ้นว่า ราคาหุ้นที่วิ่งบวกแรงทั่วโลกจะร่วงลงเมื่อใด และน่ากลัวแค่ไหน คำตอบในท่วงทำนองว่า “ไม่น่าจะร่วงลงอีก” หรือไม่ก็ “ร่วงเพื่อขึ้นต่อไปหาแนวต้านใหม่” เริ่มถูกตั้งคำถามมากขึ้นเรื่อยๆ คำถามเก่าของนายกรีนสแปนว่าด้วย “ปรากฏการณ์หุ้นขาขึ้นยามนี้ เป็นความกระตือรือร้นที่ไม่สมเหตุสมผล ได้หรือยัง” ก็ย้อนกลับมาใหม่

แม้คำตอบยังไม่ชัดเจนถึงขั้นที่ต้องย้อนไปถามนายกรีนสแปน เพื่อจะได้รับคำตอบเชยๆ ซ้ำซากว่า “แล้วพวกคุณจะรู้เมื่อความจริงปรากฏ” แต่ก็เป็นการเตือนสตินักลงทุนที่ถนัดโหนกระแสได้ดีว่า ควรจะเชื่อ “ขาเชียร์” มากแค่ไหน และควรจะย้อนกลับมาสู่ความสมเหตุสมผลในระดับใด เพื่อที่จะไม่ต้องเกิดอาการสูญเสียความมั่นใจจนพลาดโอกาสในการลงทุนไป

คำตอบอยู่ที่การเพิ่มความสามารถในการกรองข้อมูลของนักลงทุนเองว่าจะสามารถสลัดทิ้งมายาคติแบบที่เคยเกิดในรูป “ทิ้งกาก เอาแก่น” ได้มากน้อยแค่ไหน

ไม่ใช่ยิ่งสับสน ยิ่งเกิดปรากฏการณ์ “ทิ้งแก่น คว้ากาก” เพิ่มพูนขึ้น

Back to top button