หมดยุคอัซซูรี่

กว่า 60 ปีของตำนานแห่งความยิ่งใหญ่ของทีมชาติฟุตบอลอิตาลีที่เคยเข้ารอบสุดท้ายมาทุกครั้ง เคยครองแชมป์โลก 4 สมัย เข้าชิงชนะเลิศถึง 6 ครั้ง ได้ที่สาม 1 ครั้ง และที่ 4 อีก 1 ครั้ง ก็มาถึงจุดจบแห่งยุคสมัยเสียที เพราะทีมที่มีฉายาอัซซูรี่ (Gli Azzurri) ตกรอบคัดเลือกไปแล้วเรียบร้อยเมื่อคืนวานซืน หลังจากเสมอในรอบเพลย์ออฟ 0-0 กับสวีเดน และให้สวีเดนผ่านเข้ารอบไปด้วยประตุรวม 1-0


พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล

กว่า 60 ปีของตำนานแห่งความยิ่งใหญ่ของทีมชาติฟุตบอลอิตาลีที่เคยเข้ารอบสุดท้ายมาทุกครั้ง เคยครองแชมป์โลก 4 สมัย เข้าชิงชนะเลิศถึง 6 ครั้ง ได้ที่สาม 1 ครั้ง และที่ 4 อีก 1 ครั้ง ก็มาถึงจุดจบแห่งยุคสมัยเสียที เพราะทีมที่มีฉายาอัซซูรี่ (Gli Azzurri) ตกรอบคัดเลือกไปแล้วเรียบร้อยเมื่อคืนวานซืน หลังจากเสมอในรอบเพลย์ออฟ 0-0 กับสวีเดน และให้สวีเดนผ่านเข้ารอบไปด้วยประตุรวม 1-0

การตกรอบของอิตาลี นอกจากจะทำให้แฟนของทีมทั่วโลกเหงาไปถนัดเพราะขาดสีสัน และเปิดโอกาสให้กับคู่แข่งชาติอื่นที่เคยทัดเทียมกันสบายขึ้นแล้ว ยังอาจถือได้ว่านี้คือ การเปลี่ยนยุคสมัยของวงการฟุตบอลอย่างแท้จริง เพราะฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายที่รัสเซียในกลางปีหน้านี้ อดีตมหาอำนาจลูกหนังโลกอย่าง ฮอลแลนด์ ก็พลอยตกรอบไปด้วย โดยที่ทีมจากชาติเล็กอย่าง โครเอเชีย หรือ ไอร์แลนด์ หรือสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเข้ารอบมา ไม่น่าจะสร้างสีสันทดแทนได้เลย

ทีมฟุตบอลอิตาลี ได้ชื่อว่ามีความสำคัญกับทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลโลกมาตลอด เพราะสไตล์ของทีมที่ชื่อว่าแพ้ยาก แม้ว่าจะถูกค่อนขอดว่าเป็นบอลชอบอุดตามหลักการ “คาเตนัชโช่” ซึ่งเป็นอัตลักษณ์เฉพาะตัวที่หลายคนชื่นชอบ และการมีเกมรุกที่หลากหลาย แต่ที่สำคัญ นอกจากทีมเวิร์กที่ดูสนุกแล้ว นักเตะอิตาเลียนในอดีตยังหล่อเฟี้ยวอีก (ซึ่งหลังสุดนี้น่าจะเป็นเหตุผลหลักของแฟนบอลสาว)

การตกต่ำของทีมฟุตบอลระดับชาติของอิตาลี ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นแต่เกิดมานานแล้ว เพียงแต่ไม่มีใครตั้งข้อสังเกตมากนัก เพราะยังมีปัจจัยเสริมอื่นๆ เข้ามาหล่อเลี้ยงให้ดูดีต่อไป แต่ปัจจัยที่โดดเด่นที่ยากจะปฏิเสธคือ คุณภาพของนักเตะทีมชาติอิตาลีในปัจจุบัน หากไม่นับจันลุยจี บุฟฟอน รักษาประตูที่อายุย่าง 40 ปีและประกาศลาทีมไปเมื่อวานนี้แล้ว แทบจะหานักเตะระดับ “เวิลด์คลาส” ได้น้อยมาก อย่างดีที่สุดก็แค่ “แถวสอง” เท่านั้น

เหตุปัจจัยรากฐานที่ทำให้ทีมชาติอิตาลีตกต่ำ มาจากลีกฟุตบอลภายในของอิตาลีเองโดยเฉพาะ กัลโช่ เซเรีย อา ที่เคยรุ่งเรืองระดับหัวแถวของโลก ไม่สามารถผลิตนักเตะอิตาลีชั้นนำที่โดดเด่นขึ้นมาทดแทนรุ่นเก่าอย่าง ฟรังโก้ บาเรซี่ เปาโล มัลดินี่ โรแบร์โต้ บักโจ้ หรือ เดล ปิเอโร ฟรานเชสโก ต็อตติ ฟาบิโอ คันนาวาโร เปาโล รอสซี่ และ ฟิลิปโป อินซากี้ ได้เลย

นับแต่นักเตะระดับอัจฉริยะคนสุดท้ายของอิตาลีอย่าง อันเดร ปีร์โล ประกาศอำลาสนามหลังจากทู่ซี้เล่นจนอายุเกือบ 40 ปี ทีมชาติอิตาลีหาทายาทมาทดแทนไม่ได้เลย

3 ทศวรรษก่อน กัลโช่ เซเรีย อา เป็นลีกลูกหนังหมายเลขหนึ่งของโลกและยุโรป โดยเฉพาะยุคทองช่วง 1988-2005 ทีมสโมสรชั้นนำจากอิตาลี สามารถทะลุเข้าไปถึงรอบชิงชนะเลิศรายการสโมสรยุโรปทั้งถ้วยเล็กและถ้วยใหญ่แบบผลัดกันต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีนักเตะดีกรี “บัลลงดอร์” หรือ “ฟีฟ่า อะวอร์ด” มากมาย

ยุคทองดังกล่าวผ่านพ้นไปแล้ว เพราะปรากฏการณ์นับแต่ปี 2015 ทำให้มองเห็นชัดว่า กัลโช่ เซเรีย อา กลายเป็นเพียงซากปรักหักพังแห่งวงการฟุตบอล เพราะได้รับการจัดอันดับให้เป็นเพียงลีก อันดับ 4-5 ของยุโรป (หากรวมเอา ลีกแชมเปี้ยนชิพ ของอังกฤษมานับด้วย) แถมในกลุ่มท็อปแร้งกิ้ง 20 อันดับทีมสโมสร ก็มีเพียง ยูเวนตุส ทีมเดียวเท่านั้นที่อยู่ในอันดับ 17

ความตกต่ำถึงขนาดที่ กัลโช่ ต้องเสียโควตาทีมในบอลถ้วยยุโรปต่างๆ ให้กับ บุนเดสลีกา ของเยอรมนี ยิ่งตอกย้ำเข้าไปอีกว่าเลวร้ายแค่ไหน

การถดถอยของผลงานภายในสนามไม่ได้เกิดขึ้นอย่างโดดเดี่ยว เพราะฟุตบอลในฐานะธุรกิจกีฬาขนาดใหญ่ ที่ด้านหนึ่งมีลักษณะสอดรับกระแสโลกาภิวัตน์ พร้อมกับเป็นแหล่งหลอมความรู้สึกชาตินิยมและท้องถิ่นนิยมที่เข้มข้น โดยมีวงเงินหมุนเวียนมหาศาลในแต่ละปี ทำให้มีคุณค่ามากกว่ากีฬาและธุรกิจ แต่มันได้ซ่านซึมกลายเป็นวัฒนธรรมที่สำคัญ และบางครั้งอาจจะเป็นกึ่งศาสนาเสียด้วยซ้ำ

นักสัญวิทยาบางคน เปรียบเทียบว่า ฟุตบอลในฐานะศาสนาของคนอิตาเลียน มีสนามขนาดใหญ่เป็นโบสถ์ช่วงสุดสัปดาห์ เสียงเชียร์คือเพลงสรรเสริญพระเจ้า นักเตะที่แข่งขันในสนามเป็นเทพที่มีชีวิต โดยบรรดาสาวกทีมใหญ่จะรู้สึกเสมือนได้ร่วมครองโลกในกำมือ ขณะที่สาวกของทีมที่เล็กก็เปรียบตนเป็นนักสู้เพื่อเสรีภาพ หรือผู้ที่ถูกกดขี่ แต่นั่นยังไม่เพียงพอรักษาความยิ่งใหญ่จอมปลอมเอาไว้ได้

มีผู้พยายามให้รายละเอียดของปัจจัยที่ทำให้ฟุตบอลลีกอิตาลีปัจจุบันตกต่ำ ได้แก่

  • วิกฤตเศรษฐกิจในยุโรปใต้ ทำให้ชาติในกลุ่ม PIIGS อย่าง โปรตุเกส, ไอร์แลนด์, อิตาลี, กรีซ และสเปน มีคนว่างงานมาก เงินค่าตั๋วปีที่เป็นรายได้รับล่วงหน้าก็ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ส่วนกลุ่มธุรกิจและการเงินที่เคยเป็นผู้อุปถัมภ์รายสำคัญของทีมลดการใช้จ่ายลง โดยเฉพาะเงินที่เคยให้ทีมขนาดกลางและเล็ก
  • การบริหารจัดการทีมที่ล้มเหลว ทำให้หลายสโมสรขาดสภาพคล่องทางการเงิน ดังภาพรวมของเซเรีย อา ทั้งหมด 20 ทีม มีหนี้สินรวมมากถึง5 พันล้านยูโร และขาดทุนกันถ้วนหน้า (ไม่กี่ทีมเท่านั้นที่กำไร และยังเช่าใช้สนามของเทศบาลของแต่ละเมืองอยู่ มีเพียง ยูเวนตุส ทีมเดียวที่มีสนามเป็นของตนเอง) ทำให้ต้องหาทางออกขายนักเตะตัวเก่งมาใช้หนี้ หรือหาทุนใหม่เข้ามาเทกโอเวอร์แบกรับหนี้แทน หากทำไม่ได้ก็ผิดกฎ FFP ที่อาจถูกตัดแต้ม หรือ ตัดสิทธิ์การเข้าร่วมแข่งถ้วยยุโรป ไปจนถึงถูกสั่งล้มละลายดังกรณีทีมปาร์ม่า
  • ฐานะการเงินที่ย่ำแย่ ทำให้ลีกอิตาลีไม่สามารถดึงดูดนักเตะระดับเวิลด์คลาสมาร่วมทีม (ไม่นับพวกเหลือแต่ชื่อ ที่ได้มาแบบฟรีๆ หรือถูกมาก เป็นส่วนใหญ่) และยังต้องเผชิญกับโรค “เลือดไหลไม่หยุด (เฮโมฟีเลีย” เพราะนักเตะอิตาเลียนที่มีแววเก่ง ต่างพาเหรดย้ายไปค้าแข้งต่างแดนมากขึ้น เกิดความไม่ต่อเนื่อง จนทำให้ทีมชาติอิตาลีอ่อนลง
  • กรณีล้มบอลหลายต่อหลายครั้งที่เป็นปัญหาเรื้อรังยาวนานโดยกลุ่มมาเฟียทรงอิทธิพล และผู้บริหารหลายสโมสรสมคบคิดกัน ทำให้แฟนบอลจำนวนไม่น้อย เริ่มเสื่อมศรัทธาต่อเกมลูกหนังในลีกนี้
  • ฮูลิแกน ลุกลามเป็นปัญหาใหญ่ของวงการฟุตบอลอิตาลี มีปัญหาแฟนบอลตีกันบ่อยครั้ง ทำให้คนเลือกไม่หอบลูกหลานไปดูบอลนอกบ้าน ขนาดที่ดาร์บี้ แมตช์ บางนัดก็ยังมีคนเข้าชมโหรงเหรง

การตกรอบคัดเลือกฟุตบอลโลกที่ถือเป็นจุดต่ำสุด จะทำให้เกิดแรงกระตุ้นปฏิรูปวงการฟุตบอลอิตาลีเพื่อกลับมาได้อีกครั้ง หรือ จะทำให้หมดกำลังใจทำนอง “ไปไม่กลับ หลับไม่ตื่น” เป็นปรากฏการณ์ที่ต้องติดตาม

Back to top button