นายธนาคารกลางกับโกหกสีขาว

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จัดการประชุมเสวนาที่สำนักงานในเมืองแฟรงก์เฟิร์ต เยอรมนี โดยมีประเด็นสำคัญคือ จะร่วมกันหาฉันทามติและกระบวนการ “โกหก” ให้แนบเนียนต่อสาธารณะและสื่ออย่างไรดี หลังจากหมดยุค “เงินราคาถูก” (easy money) ในอนาคตหลายปีข้างหน้า


พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จัดการประชุมเสวนาที่สำนักงานในเมืองแฟรงก์เฟิร์ต เยอรมนี โดยมีประเด็นสำคัญคือ จะร่วมกันหาฉันทามติและกระบวนการ “โกหก” ให้แนบเนียนต่อสาธารณะและสื่ออย่างไรดี หลังจากหมดยุค “เงินราคาถูก” (easy money) ในอนาคตหลายปีข้างหน้า

หัวข้อหลักที่เขียนไว้สวยหรู “ความท้าทายด้านการสื่อสารสำหรับประสิทธิผลเชิงนโยบาย ความน่าเชื่อถือ และชื่อเสียง (Communication challenges for policy effectiveness, accountability and reputation)” มีสาระสำคัญสั้นมาก คือการหาทางถอดสลักระเบิดเวลาเพื่อ “ลงจากหลังเสือ” หลังจากที่ทำการสร้างเงื่อนไขเอาไว้ซับซ้อน แก้ยิ่งกว่าปมกอร์เดียน ในตำนานกรีกโบราณ

ผู้ที่เข้ามาร่วมวงเสวนามีนักการธนาคารกลางสำคัญของโลกทั้งนั้น นำโดยหัวแถว ได้แก่ นางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟด นายมาริโอ ดรากี ประธาน ECB นายมาร์ค คาร์นีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) และนายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ)

คนเหล่านี้คือผู้ทรงอิทธิพลที่อยู่เบื้องหลังนโยบายการเงินที่อัดฉีดเศรษฐกิจที่พังทลายหลังวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์จนเข้าข่าย “กับดักสภาพคล่อง” ด้วยการพิมพ์ธนบัตรออกมาแต่ละเดือนจำนวนมหาศาลเป็นเวลายาวนานเกือบ 10 ปีแล้ว จนกระทั่งยอดพิมพ์ธนบัตรที่ออกมาท่วมโลกมากกว่า 11 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้วยมาตรการ QE ที่รู้จักกันดี

สภาพคล่องของทุนที่ล้นเกิน จากการที่ปริมาณเงินซึ่งชาติหลักของโลก (สหรัฐฯ ยูโรโซน และญี่ปุ่น) ได้พิมพ์ออกมาในช่วงที่ผ่านมาจนท่วมตลาด ไม่สามารถแปรสภาพเป็นกระบวนการการผลิตสินค้าและบริการซ้ำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนใหม่ๆ ต่อเนื่อง จนเกิดการจ้างงานหรือกำลังซื้อใหม่ ให้เศรษฐกิจเป็นขาขึ้นอย่างยั่งยืน แต่กลับจมปลักกับภาวะเงินเฟ้อติดลบ หรือเงินฝืดเรื้อรังที่แก้ไขในลักษณะ “ลิงแก้แห” ไม่จบสิ้น

ความล้มเหลวจากการแปลงสภาพให้ทุนในรูปเงินสดสภาพคล่องเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจภาคการผลิตและบริการอื่นๆ ทำให้ทุนล้นเกินกลายสภาพเป็นทุนสัมภเวสีที่เที่ยวเร่ร่อนไปมาในตลาดเก็งกำไร 4 แหล่ง (ตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ ตลาดอัตราแลกเปลี่ยน และตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ล่วงหน้า) ทั่วโลกภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ นั่นคือตลาดปริวรรตเงินตรา ตลาดตราสารหนี้ ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ และตลาดหุ้น ซึ่งล้วนเชื่อมโยงกันต่อเนื่อง

ผลสะเทือนที่เป็นระเบิดเวลาล่วงหน้าจากมาตรการ QE ที่ยุโรปและญี่ปุ่นพิมพ์เงินออกมามหาศาลต่อปีในปัจจุบัน ซ้ำเติมกับผลตกค้างที่เฟดเคยกระทำมา 6 ปี (ที่แม้เลิกไปแล้ว แต่ปริมาณเงินยังอยู่) รวมถึงการพังทลายของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (โดยเฉพาะน้ำมัน และทองคำ) เปิดทางให้ทุนสัมภเวสีต้องเร่ร่อนไปตระเวนเก็งกำไรไปยังตลาดทั่วโลก เข้าข่าย “ยักษ์นอกตะเกียง” ที่เหนือการควบคุมของหน่วยงานกำกับดูแลที่สามารถสร้างผลสะเทือนให้ตลาดปั่นป่วนได้เสมอ

ในมุมตลาดเก็งกำไรเป็นผลดีมากกว่าร้าย เพราะเงินท่วมโลกเปรียบเสมือนสารสเตียรอยด์ที่กระตุ้นแรง ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นวิ่งเป็นขาขึ้นยาวนานเกินพื้นฐานเข้าสู่ภาวะใกล้ฟองสบู่ไปทุกขณะ เพราะมีกรอบจำกัดขาลงมากกว่าระดับปกติ และเคลื่อนไหวเกินจริง ไม่สอดรับกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศต่างๆ แต่ในระยะยาวก็อาจเป็นผลให้ตลาดพังได้

เกือบ 1 ทศวรรษมานี้ บรรดาธนาคารกลางก้าวเข้ามามีบทบาททดใช้มาตรการทางการเงินอย่างเกินขนาด หลังจากที่วิกฤตทางเศรษฐกิจทำให้รัฐบาลชาติต่างๆ ก่อหนี้สาธารณะมากล้นพ้น จนเกิดขีดจำกัดในการใช้มาตรการทางการคลังมากระตุ้นเศรษฐกิจ จนมีแนวโน้มว่าจะกลายเป็นการ “เสพติดนโยบาย” ที่แม้จะสำนึกได้ แต่ก็ดูเหมือนจะสายมากเกิน

สำนึกที่ว่าการใช้มาตรการทางการเงินดังกล่าว แม้ได้ผลในระยะสั้น แต่ในระยะยาวกลับมีผลข้างเคียงทำให้สถานการณ์หนักข้อขึ้นและอาจจะ “ลงจากหลังเสือไม่ได้” เป็นที่มาของการเสวนาใหญ่ที่แฟรงก์เฟิร์ตสัปดาห์นี้

ด้านหนึ่งพวกเขากำลังต้องการส่งสัญญาณให้โลกรู้ว่า ยุคของมาตรากรทาการเงินเพื่อผลิต “เงินสะดวก” (easy money) จะต้องจบสิ้นลง แต่อีกด้านหนึ่งพวกเขาก็หวาดกลัวว่ามาตรการใช้ยาขม 2 เม็ดพร้อมกัน (คือ ลดปริมาณเงินที่ท่วมโลกลง พร้อมกับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในโลกเพื่อกระตุ้นเงินเฟ้อ) จะทำเกิดความปั่นป่วนครั้งใหม่

ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจทุนนิยม ระบุครั้งแล้วครั้งเล่าว่า เมื่อใดก็ตามที่จะมีการลดหรือเลิกมาตรการกระตุ้นตลาดที่ทำมายาวนาน ไม่เคยเป็นเรื่องง่าย แถมมักจะตามมาด้วยโกลาหลหรือพังทลายของเศรษฐกิจและตลาดเสมอ

เรื่องที่น่าขบขันปนเศร้า คือ แม้จะรู้ทั้งรู้ในหลักการว่าจะต้องทำอะไรในแต่ละขั้นตอนและกลไก เพื่อนำไปสู่การลดปริมาณเงินท่วมโลก แต่บรรดาผู้ทรงอิทธิพลในธนาคารกลางหลักของโลกที่ร่วมการเสวนาแฟรงก์เฟิร์ตครั้งนี้ กลับหาฉันทามติร่วมที่เป็นรูปธรรมไม่ได้ ได้แต่พูดอ้อมๆ แอ้มๆ ชนิดเอาสีข้างเข้าถู ฆ่าเวลาเล่นเสียเท่านั้น

ท้ายสุดก็ดูเหมือนจะเข้าใจกันเอาเองว่า จากนี้ไปก็คงได้เห็นการใช้ลูกไม้สื่อสารเก่าแก่ของโยเซฟ ก็อบเบิล แห่งพรรคนาวีเยอรมันว่าด้วย “โกหกสีขาว” กันต่อไป

เอวัง

Back to top button