THAI แสงสว่างที่ไกลออกไป

กำไรสุทธิไตรมาสสามของบริษัทสายการบินแห่งชาติ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ขาดทุนอีกครั้ง ไม่ใช่เรื่องแปลก แม้ว่าจะย้อนแย้งกับคำขวัญผู้บริหารที่ระบุว่า กำลังดำเนินการตามแผนปฏิรูปองค์กรระยะที่ 3 "การเติบโตอย่างยั่งยืน" ต่อเนื่อง


แฉทุกวันทันเกมหุ้น

กำไรสุทธิไตรมาสสามของบริษัทสายการบินแห่งชาติ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ขาดทุนอีกครั้ง ไม่ใช่เรื่องแปลก แม้ว่าจะย้อนแย้งกับคำขวัญผู้บริหารที่ระบุว่า กำลังดำเนินการตามแผนปฏิรูปองค์กรระยะที่ 3 “การเติบโตอย่างยั่งยืน” ต่อเนื่อง

คำถามสำคัญของ THAI อยู่ที่สัดส่วนหนี้สินรวมต่อส่วนผู้ถือหุ้นที่ย่ำแย่ลงต่อเนื่อง เพราะล่าสุดเพิ่มขึ้นเป็น 8.6 เท่า จากยอดหนี้สินรวมของบริษัทและบริษัทย่อยล่าสุด 257,961 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นจาก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2559 จำนวน 8,425 ล้านบาท หรือ 3.4%) เทียบกับส่วนของผู้ถือหุ้นมีจำนวน 29,928 ล้านบาท (ลดลงแรงมากจากวันที่ 31 ธันวาคม 2559 จำนวน 3,660 ล้านบาท หรือ 10.9%)

ตัวเลขที่ขี้เหร่และท้าทายเช่นนี้ เป็นผลมาจากการขาดทุนสุทธินั่นเอง ไม่เป็นอย่างอื่น….ใช้ภาษาให้สวยหรูแค่ไหนก็ช่วยดับกลิ่นคาวไม่ออก…เพราะตัวเลขไม่เคยโกหก

ตามเอกสารชี้แจงโดยนางอุษณีย์ แสงสิงแก้ว รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ THAI มีรายละเอียดการดำเนินงานดังนี้ คือ

– THAI ทำการรับมอบเครื่องบินเช่าเพิ่มขึ้น ทำให้มีจำนวนเครื่องที่ใช้รวม 99 ลำ เพิ่มขึ้น 4 ลำ โดยมีอัตราการใช้ประโยชน์เครื่องบินเฉลี่ยต่อวัน เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 4.3% จาก 11.6 ชั่วโมงในไตรมาส 3 ของปี 2559 เป็น 12.1 ชั่วโมง ขณะที่ปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) เพิ่มขึ้น 7.9% มีปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนถึง 14.9% และมีอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 78.2% สูงกว่าปีก่อน ซึ่งเท่ากับ 73.5% มีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 5.99 ล้านคน สูงกว่าปีก่อน 8.9%

-THAI มีรายได้รวมไตรมาสสาม 46,928 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนประมาณ 6.3% จากการเพิ่มรายได้จากค่าโดยสารและน้ำหนักส่วนเกินเพิ่มขึ้น 2,470 ล้านบาท (6.9%) ปริมาณการขนส่งผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น 14.9% และรายได้จากค่าระวางขนส่งและค่าไปรษณียภัณฑ์เพิ่มขึ้น 577 ล้านบาท (12.7%) จากภาคส่งออกที่ฟื้นตัว แต่มีรายได้จากผู้โดยสารเฉลี่ยต่อหน่วยลดลง 7.5% เพราะสงครามราคา

– THAI มีค่าใช้จ่ายไตรมาสสามรวม 46,189 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.7% เนื่องจากค่าน้ำมันเครื่องบินเพิ่มขึ้น 1,032 ล้านบาท โดยที่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานใกล้เคียงกับปีก่อน และมีต้นทุนทางการเงิน-สุทธิลดลง 8.7% จากผลการปรับโครงสร้างทางการเงิน

– ผลการดำเนินงานปกติของบริษัทและบริษัทย่อยในไตรมาสสาม หรือ EBITDA มีกำไร 739 ล้านบาท เทียบกับปีก่อนที่ขาดทุน 836 ล้านบาท แต่ตัวเลขที่เกินปกติ 3 รายการ คือ 1) ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 537 ล้านบาท 2) ตัวเลขบันทึกรับรู้ผลขาดทุนทางบัญชีจากการด้อยค่าของสินทรัพย์และเครื่องบิน 1,502 ล้านบาท 3) ตัวเลขบันทึกขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศทางบัญชี จำนวน 829 ล้านบาท ส่งผลให้ THAI ขาดทุนสุทธิ 1,814 ล้านบาท โดยเป็นขาดทุนสุทธิส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 1,825 ล้านบาท คิดเป็นขาดทุนต่อหุ้น 0.84 บาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.11 บาท (15.1%)

ตัวเลขที่ขี้เหร่ของTHAI ไม่ผิดคาด เพราะในสิ้นไตรมาสแรก นักวิเคราะห์เกือบทุกสำนักได้ชี้แนะไว้แล้วว่า จะต้องเผชิญกับแรงกดดันในไตรมาสสองและสาม 3 เรื่อง คือ 1) โอกาสในการขาดทุนในช่วงโลว์ซีซั่นปกติ เนื่องจากไม่ใช่ฤดูท่องเที่ยวและการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรง 2) ราคาน้ำมันที่เป็นต้นทุนกว่า 33% ของการบิน มีแนวโน้มสูงขึ้น 3) ต้นทุนอื่นๆ นอกจากน้ำมัน โดยเฉพาะการแข่งขันลดค่าตั๋ว (รวมทั้งมีรายการพิเศษเพิ่มเติม) ทำให้ Passenger yield ต่ำลง แม้ว่าตัวเลขกำไรจากการเดินงานปกติหรือ EBITDA ในไตรมาสสามจะดูดีกว่าปกติ (แตกต่างจากหลายปีมานี้ ที่งบเกือบทุกไตรมาสของบริษัทมักปรากฏตัวเลขขาดทุนจากการดำเนินการเรื้อรังมายาวนาน) ก็มีข้อควรสังเกตหลายประการคือ

– ตัวเลขบันทึกการด้อยค่าของสินทรัพย์และเครื่องบินที่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกที่มีเพียงแค่ 1,017.01 ล้านบาท กระโดดขึ้นมาเป็น 1,502 ล้านบาท

– ตัวเลขการลดลงของ อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ย ที่เหลือแค่เฉลี่ย 78.2% เทียบกับไตรมาสแรก ซึ่งทำได้มากถึง 82.8% และยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมการบินที่ 80.1%

– ไตรมาสนี้ ไม่ปรากฏตัวเลขบันทึกรับรู้การขาดทุนจากเงินลงทุนในบริษัทย่อย คือ สายการบินไทยสไมล์ และนกแอร์ โดยไม่มีการพูดถึงแบบไตรมาสก่อนหน้าเลย เป็นข่าวดีที่ไม่ชัดเจนว่าจะชั่วคราวหรือถาวร

ท่ามกลางข้อมูลรายละเอียดบางอย่างที่ดูดี แม้จะไม่สามารถทำให้ THAI มีกำไรในไตรมาสสามได้ พร้อมกับส่งผลให้ ค่าดี/อี เลวร้ายลงในระดับไม่ธรรมดา ก็ถือว่าแผนปฏิรูปองค์กรเพื่อ “การเติบโตอย่างยั่งยืน” ภายใต้ 6 กลยุทธ์ ยังพอทำให้เห็นความหวังระดับ “แสงสว่างปลายอุโมงค์” บ้าง…..แม้จะยังริบหรี่มาก

อย่างน้อยก็ทำให้เห็นว่า มีตัวแปรใหม่ๆ มาทดแทน 2 ปัจจัยอันแสนซ้ำซากแบบฉายหนังซ้ำมาหลายปี…1) ลดต้นทุนการเงิน 2) กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน…บ้าง

อิ อิ อิ

Back to top button