จัดพอร์ตการเงินแบบเกมฟุตบอล

เชื่อว่าหลายคนรู้จักเกม “ฟุตบอล” เป็นอย่างดี โดยฟุตบอลเป็นเกมที่มีระบบและมีการจัดวางตำแหน่งต่างๆ อย่างชัดเจน การแข่งขันแต่ละแมตช์ ผู้ทำหน้าที่โค้ชต้องมองภาพรวมเกมการเล่นในแต่ละสนามหรือแต่ละแมตช์ให้ออก เพื่อวางแผนเกมการเล่นและจัดวางตำแหน่งอย่างถูกต้อง


พลวัตปี 2017 : สุภชัย ปกป้อง (แทน)

เชื่อว่าหลายคนรู้จักเกม “ฟุตบอล” เป็นอย่างดี โดยฟุตบอลเป็นเกมที่มีระบบและมีการจัดวางตำแหน่งต่างๆ อย่างชัดเจน การแข่งขันแต่ละแมตช์ ผู้ทำหน้าที่โค้ชต้องมองภาพรวมเกมการเล่นในแต่ละสนามหรือแต่ละแมตช์ให้ออก เพื่อวางแผนเกมการเล่นและจัดวางตำแหน่งอย่างถูกต้อง

เช่นเดียวกับ “เกมการลงทุน” ที่ต้องมีการวางตำแหน่งเงินลงทุนให้ชัดเจน เพราะสินทรัพย์แต่ละประเภท มีลักษณะและจุดประสงค์ทางการเงินที่แตกต่างกัน นั่นหมายถึงเป็นเกมที่ต้องใช้ทักษะบริหารเงิน ที่สำคัญคือ “กลยุทธ์และวินัย” การกีฬา มักจะมีการวางแผนคล้ายกับการลงทุนเช่นกัน

ขณะที่ “สินทรัพย์ทางการเงิน” มีอยู่มากมายหลายประเภท อาทิ ประกัน, เงินฝาก, พันธบัตร, ตราสารหนี้, หุ้นกู้, หุ้นสามัญ, ทองคำ, อสังหาริมทรัพย์ โดยแต่ละประเภทมีลักษณะการลงทุนที่แตกต่างกัน เปรียบเทียบได้กับแต่ละตำแหน่งในเกมฟุตบอล นั่นเอง

-ประกัน (ชีวิต, สุขภาพ, อุบัติเหตุ, ทรัพย์สิน) เปรียบดั่งด่านสุดท้ายคือ “ผู้รักษาประตู” โดย “ประกัน” ทำหน้าที่คุ้มครองความเสี่ยงให้ชีวิตและทรัพย์สิน การมีประกันติดตัวไว้ เสมือนมีผู้รักษาประตูคอยรักษาสินทรัพย์สินเงินทองไม่ให้เสียหายจากการโจมตีของเหตุไม่คาดฝัน หรือความเสี่ยง ดังนั้นหากไม่มีการวางแผนคุ้มครองความเสี่ยง เสมือนทีมฟุตบอลที่ไม่มีผู้รักษาประตู หากบุกเพลินๆ แล้วพลาดพลั้งถูกตัดบอลได้ มีสิทธิ์ถูกยิงประตู จนพ่ายแพ้ไปได้อย่างง่ายดาย

-เงินฝาก (ออมทรัพย์, ประจำ) พันธบัตร/ตราสารหนี้ระยะสั้น กองทุนรวมตลาดเงิน เปรียบดั่งเช่น “กองหลัง” โดยเงินฝากหรือตราสารหนี้ระยะสั้น นอกจากมีไว้เพื่อเป็นเงินสภาพคล่องไว้ใช้จ่ายแล้วมีหน้าที่เป็นเงินออมระยะสั้นเผื่อฉุกเฉิน สำหรับรายจ่ายที่เกิดขึ้นมาแบบไม่คาดฝัน (เช่น ตกงาน ค่ารักษา เจ็บป่วย) เปรียบเหมือนกองหลังที่ทำหน้าที่ป้องกันการโจมตีจากผู้เล่นฝ่ายตรงข้าม (ค่าใช้จ่ายประจำ,ค่าใช้จ่ายอื่นๆ) ที่ช่วยในเกมรับหรือซัพพอร์ตว่าการเงินจะไม่พังหรือพ่ายแพ้ได้

-ตราสารหนี้ระยะยาว/ตราสารหนี้ต่างประเทศ เปรียบดั่ง “กองกลาง” โดยตราสารหนี้ระยะยาว มีผลตอบแทนปานกลาง (3-4% ต่อปี) และมีความเสี่ยงไม่สูงนัก สามารถใช้งานได้ทั้งเป็นเงินเก็บสำรองเผื่อฉุกเฉินระยะปานกลาง ตั้งแต่ 1-3 ปีหรือหากใช้เพื่อเพิ่มผลตอบแทนให้สูงขึ้น จากแค่ฝากเงินทั่วไป อาจเลือกตราสารหนี้ต่างประเทศ ที่คาดหวังผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 4-6% ต่อปี เปรียบเสมือน “กองกลางของทีม” ที่ทำหน้าที่ช่วยทีมทั้งรุกและรับ แต่ถ้าอยากได้ “มิดฟิลด์ตัวรับ” มาช่วยเกมรับเพื่อสร้างความอุ่นใจให้ทีม (พอร์ตลงทุน) มากขึ้น สามารถเลือกตราสารหนี้ระยะยาวของไทย แต่ถ้าอยากได้ “มิดฟิลด์ตัวรุก” ที่มาช่วยเติมเกมรุก เพิ่มผลตอบแทนให้พอร์ตเราสูงขึ้น สามารถเลือกตราสารหนี้ต่างประเทศ จะช่วยให้มีโอกาสทำประตู (ได้กำไร) สูงขึ้น

-ตราสารทุน (หุ้น) เปรียบได้ดั่ง “กองหน้า” การทำหน้าที่ของ “หุ้น” ในพอร์ตการลงทุนเป็นกำลังหลักในการสร้างผลตอบแทนสูงสุด เพื่อให้เงินทุนในพอร์ตเติบโตระยะยาว เปรียบเสมือนกองหน้าที่ทำหน้าที่ยิงประตู เพื่อช่วยให้ทีมได้รับชัยชนะ (บรรลุเป้าหมายการเงิน)

-สินทรัพย์ทางเลือกอื่นๆ (ทอง, อสังหาริมทรัพย์, ตราสารอนุพันธ์) เปรียบได้ดั่ง “ตัวสำรอง-ผู้เล่นตัวโจ๊กเกอร์ สินทรัพย์ทางเลือกเหล่านี้อาจต้องไว้ในพอร์ตการลงทุนตามสถานการณ์และความจำเป็น หรือใช้เป็นทางเลือกเสริมในการสร้างผลตอบแทนได้ เช่น ทองคำ เอาไว้ถ่วงพอร์ตกระจายความเสี่ยงในพอร์ต หรือบางจังหวะอาจเป็นผู้เล่นโจ๊กเกอร์ ที่จะมาพลิกเกมหรือสร้างผลตอบแทนพิเศษ ช่วงระยะใด ระยะหนึ่งได้

ตัวอย่างผู้จัดการทีม (โค้ช) 2 ทีมที่เป็นคู่กัดตลอดกาลอย่างทีม “หงส์แดง” (ลิเวอร์พลู) และ “ปีศาจแดง” (แมนเชสเตอร์ ยูไน เต็ด) ที่มีแผนเกมการเล่นหรือสไตล์ทำทีม ตามแบบฉบับเฉพาะตัว นำไปสู่เปรียบเทียบการวางแผนการเงินที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน

เจอร์เกน คล็อปป์ ผู้จัดการทีมลิเวอร์พลู (หงส์แดง) มีสไตล์การทำเกมเชิงรุกแบบ “เดินหน้าและฆ่ามัน” หลักการง่าย คือยิ่งที่สามารถไล่บี้ และดักจังหวะบอลมากเท่าไหร่ สามารถอาศัยช่องโวคู่แข่งเพื่อจบสกอร์มากเท่านั้น และยิ่งสามารถตัดบอลในแดนฝ่ายตรงข้ามได้มากเท่าไหร่ โอกาสการทำประตูมีมากขึ้นตามไปด้วย

ด้วยสไตล์การทำทีมเชิงรุกแบบ “คล็อปป์” เปรียบกับการให้ความสำคัญเรื่อง “การลงทุน” ที่มีความเสี่ยงสูงเป็นสำคัญ ทำให้ขาดการปกป้อง “เงิน” หากเกิดเหตุสุดวิสัย “เงิน” อาจหายหมดได้ เหมือนดัง “กองหลังไม่ดีจะถูกยิงประตู” ทันที สุดท้ายเกมนี้อาจต้องพ่ายแพ้ไป

โชเซ มูรินโญ ผู้จัดการทีมแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด (ปีศาจแดง) มีสไตล์การทำทีมแบบเน้นผลแข่งขัน มากกว่าความสนุกตื่นเต้นของเกม ในลักษณะ “เอารถบัสมาจอดขวาง” ส่วนกองหน้าต้องไม่ใช้โอกาสเปลืองด้วย เกมรุกต้องเฉียบขาด ไม่เน้นครองบอลเยอะ ยิงได้แล้วต้องหันมาป้องกันไม่ให้คู่ต่อสู้ยิงประตูได้

จากสไตล์การทำทีมเชิงรับแบบเน้นผลการแข่งขัน แบบ “มูริณโญ่” เปรียบได้กับการวางแผนการเงินที่เริ่มจากการป้องกันไม่ให้เงินหายจากความเสี่ยงต่างๆ ด้วยการวางแผนประกันภัย ปกป้องเงิน เป็นลำดับแรก ก่อนการลงทุน ตรงตามหลักการการวางแผนการเงิน เน้นรับป้องกันเงินก่อน พร้อมปรับการลงทุนทั้งเชิงรุกหรือเชิงรับนั่นเอง

อย่างไรก็ตามไม่มี “แผนการเล่น” รูปแบบใดที่สามารถการันตีได้ว่าจะได้รับชัยชนะได้ทุกแมตช์ เปรียบดั่ง “การจัดพอร์ตการเงิน” รูปแบบใดที่ไม่สามารถการันตีผลตอบแทนสูงสุดได้เช่นกัน

Back to top button