ค่าโง่ กสทช.

วันพรุ่งนี้ กสทช.จะมีการประชุม โดยหนึ่งในวาระที่น่าสนใจสำหรับคนที่เกี่ยวข้อง คือ การพิจารณาร่างสัญญาคู่ค้าระหว่าง บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT กับ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ในการให้บริการ 4G LTE-TDD บนคลื่นความถี่ 2300 MHz


พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล

วันพรุ่งนี้ กสทช.จะมีการประชุม โดยหนึ่งในวาระที่น่าสนใจสำหรับคนที่เกี่ยวข้อง คือ การพิจารณาร่างสัญญาคู่ค้าระหว่าง บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT กับ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ในการให้บริการ 4G LTE-TDD บนคลื่นความถี่ 2300 MHz

ร่างสัญญาดังกล่าวได้ผ่านการประมวลจากการประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรองงานของกสทช.ด้านกิจการโทรคมนาคม เมื่อวานนี้เอง เพื่อสรุปผลนำเสนอเข้าเป็นวาระ ซึ่งถ้าผ่านได้ ก็จะถือเป็นความสำเร็จร่วมกันของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ กลุ่มบริษัทคู่ค้าในเครือของ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC โดยตรง

เรื่องก็ดูจะไม่น่ามีปัญหาอะไร และน่าจะราบรื่นเหมือนโรยด้วยกลีบกุหลาบ หลังจากที่หลายเดือนก่อนหน้า คณะกรรมการ TOT มีมติเห็นชอบให้กลุ่มบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด บริษัทย่อยของ DTAC ได้เป็นคู่ค้าในการให้บริการไร้สายคลื่นความถี่ 2300 MHz  ตามที่ฝ่ายบริหารเสนอ (หลังจากที่มีการพิจารณาข้อเสนอของผู้ประกอบรายอื่นๆ หลายรายที่เสนอตัวเข้ามาร่วมแบ่งผลประโยชน์และพัฒนาโครงข่ายบนคลื่นดังกล่าว) ให้กลุ่มบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการจัดให้มีสถานีฐานจำนวนประมาณ 20,000 กว่าแห่งให้ TOT  โดย TOT เป็นผู้บริหารจัดการโครงข่ายสื่อสารไร้สายนี้ด้วยตนเองแค่ 40% และจะให้บริษัทในกลุ่ม DTAC ใช้บริการ โดย TOT จะมีรายได้ปีละ 4,510 ล้านบาท จากการให้ DTAC เช่าใช้งานโครงข่าย แต่มันเกิดเป็นประเด็นขึ้นมาเพราะดูเหมือนว่า เงื่อนไขร่างสัญญาที่จะนำเสนอ กสทช.วันพรุ่งนี้ มี “วาระซ่อนเร้น” ที่สำคัญซ่อนเอาไว้

วาระซ่อนเร้นที่ว่า พูดกันง่ายๆ และสั้นๆ ว่า ได้รับอนุมัติให้ไปทำอย่างหนึ่ง แต่ตะแบงไปทำอย่างอื่น เข้าข่าย “ทำเกินกว่าได้รับอนุญาต

เหตุที่ใช้คำว่า “เกิน” ก็เพราะ เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2558 ที่ประชุม กทค. (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นคณะอนุกรรมการกลั่นกรองงานของ กสทช.ด้านกิจการโทรคมนาคม) ได้มีมติเห็นชอบให้ TOT อัพเกรดการใช้งานคลื่นความถี่ 2300 MHz จำนวน 60 MHz โดยมีเป้าหมายให้นำไปทำเป็นบรอดแบนด์ ด้วยเทคโนโลยี LTE  ซึ่งมีอายุใบอนุญาตให้ใช้งานได้ถึงวันที่ 3 ส.ค. 2568 (เปลี่ยนจากที่ TOT ขอมา 64 MHz เนื่องจากตามแผนการจัดสรรความถี่ ต้องจัดสรรล็อตละ 5 MHz จึงอนุมัติให้ใช้ได้ไม่เกิน 60 MHz)

ในการอนุมัติของ กทค.ครั้งนั้นระบุเอาไว้ว่า

เป็นการดำเนินการตามมาตรา 48 วรรค 3 ซึ่งกำหนดไว้ว่าให้ กสทช. ติดตามประเมินผลการดำเนินงานตามแผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่ และต้องปรับปรุงแผนแม่บทดังกล่าว เพื่อประโยชน์ในการบริหารคลื่นความถี่ให้มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป

– การปรับปรุงคลื่นความถี่ของ TOT ต้องคำนึงถึงประโยชน์กับหน่วยงานของรัฐในการที่จะใช้งานคลื่นความถี่ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และเพิ่มรายได้ให้กับหน่วยงานของรัฐ ซึ่งก็จะนำส่งเป็นรายได้ของแผ่นดินต่อไปอีก ไม่ใช่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนรายใดรายหนึ่ง

เงื่อนไขทั้งสองข้อมีความชัดเจนในตัวเองว่า TOT ต้องไปลงทุนสร้างเครือข่าย 2300  MHz  ด้วยตัวเอง และให้หน่วยงานภาครัฐเช่าใช้ ไม่ใช่ให้เอกชนมาลงทุนให้ และเช่าต่อบางส่วนหรือทั้งหมด โดย TOT ไม่ต้องลงทุนทำอะไรเลย แล้วมารอรับประโยชน์จากส่วนแบ่งที่ให้เอกชนร่วมใช้โครงข่ายดังกล่าวมากถึง 60% ของ 60 MHz ที่ได้รับอนุมัติจาก กทค.ไป (คิดเป็นจำนวนที่เอกชนใช้มากถึง 40 MHz) ในลักษณะ “กินหัวคิว” แบบเหมาจ่าย เป็นเวลานาน 8 ปี ปีละ 4,510 ล้านบาท  รวมแล้วก็ประมาณ 36,080 ล้านบาท

คนได้รับประโยชน์คนแรกย่อมหนีไม่พ้น TOT ที่ไม่ต้องลงทุนสักบาท แต่ได้ข้ออ้างว่าสร้างผลงาน ทำรายได้เข้าหน่วยงานของรัฐอย่างชาญฉลาด

อีกรายที่ได้รับประโยชน์โดยตรง หนีไม่พ้น DTAC ที่จะได้ใช้คลื่นความถี่ของ TOT โดยใช้เทคโนโลยี LTE-TDD จำนวนมหาศาลถึง 40 MHz โดยไม่ต้องเข้าประมูลคลื่น เหมือนรายอื่นๆ เขา โดยจ่ายค่าเช่าที่ไม่มีใครรู้ชัดว่าระหว่างผลตอบแทนที่ TOT ได้รับนั้น มากหรือน้อยกว่าของ DTAC

แบบนี้ จะถือว่า TOT ทำตัวเข้าข่าย “เสือนอนกิน” จากการพลิกลิ้นโดยอาศัยแง่มุมที่ถนัดหรือไม่ ผู้เจริญทั้งหลายลองพิจารณาดูกันเอาเอง

ส่วนความชาญฉบาดของ DTAC นั้น คงไม่ต้องสาธยาย เพราะการมีคลื่นให้ใช้จำนวนมากนานถึง 8 ปี ทำให้แรงกดดันที่ต้องทุ่มเงินมหาศาลประมูลคลื่นย่านความถี่ 4G จาก กสทช.ในปีหน้าหรือปีต่อไป จะผ่อนคลายลง

ถ้าจะถามต่อไปว่า มีคนได้ 2 รายเห็นๆ กันแล้ว มีใครเสียหายบ้าง คำตอบก็มีเช่นกัน โดยไม่ต้องจินตนาการ

คำตอบแรกสุดก็คงหนีไม่พ้นบรรดาโอเปอเรเตอร์ในธุรกิจโทรคมนาคมที่จ่ายค่าประมูลใบอนุญาตมากันแล้วจำนวนเงินมหาศาลและต้องลงทุนไปแล้วนั่นเอง  เพราะแต่ละใบอนุญาตที่มีราคาแพงนั้น มีจำนวนคลื่อนจำกัดจำเขี่ยมากอย่างที่ทราบกันดี

ส่วนคำตอบสุดท้ายคือ กสทช.ที่ต้องจ่าย “ค่าโง่” ให้กับ TOTจาการที่คำอนุมัติคลื่น 2300 MHz ถูกนำไป ปู้ยี่ปู้ยำ” กันสบายๆ เหมือนยุคสัมปทาน ยังไงยังงั้น

นั่นยังไม่พอ เพราะการประมูลคลื่นใบอนุญาต 4G ที่จะเอามาประมูลในอีกหลายปีข้างหน้า อาจจะ “ราคาตก” เพราะเอกชนที่มีแรงกดดันน้อยลง ยังไม่เร่งรีบที่จะทุ่มเงินจ่ายค่าประมูลมากขึ้นจากอัตราเดิม อาจจะทำให้ กสทช.หงายเงิบ ได้ง่ายๆ

ดังนั้น การจุดกระแสล่วงหน้าก่อนการประชุมพรุ่งนี้ที่ว่า กสทช.อาจจะพิจารณาเรื่องนี้แบบ “ลากยาว” และมีการออกมาตอบโต้แบบ “ไก่เห็นตีนงู” ว่า การพิจารณาร่างดังกล่าวไม่ได้ขึ้นอยู่กับ กสทช.หน่วยงานเดียว แต่มีอีก 3 หน่วยงาน ได้แก่ อสส.  สคร. และกฤษฎีกา ด้วย จึงเป็นแค่การเรียกน้ำย่อยตามธรรมดา

วันพรุ่งนี้ เราๆ ท่านๆ ทั้งหลายก็คงรู้แล้วว่า ระหว่าง กสทช. กับ TOT ใครจะ “จ่ายค่าโง่” มากน้อยกว่ากัน หรือจ่ายเท่ากัน หรือ ไม่ก็ไม่ต้องจ่ายเลย แต่มีคนอื่น (อ้ายโม่ง) จ่ายแทน

Back to top button