ชี้ชัดอนาคต DTAC วันนี้! กสทช.นัดลงมติคลื่น 2300

วันนี้หุ้น DTAC มีลุ้นระทึกเพราะมติบอร์ดใหญ่ กสทช. จะชี้ขาดว่าร่างสัญญาคู่ค้ากับ TOT มูลค่า 3.60 หมื่นล้านบาทในเวลา 8 ปี จะผ่านมติหรือไม่ หรืออาจจะถูกยืดเวลาออกไปเพราะข้อกล่าวหาว่า TOT ทำผิดวัตถุประสงค์ในการใช้คลื่น 2300 MHz ที่เดิมระบุว่าไม่ให้เอื้อประโยชน์ต่อเอกชนรายใดรายหนึ่งเป็นพิเศษ ชี้ มีลุ้นราคุ้นดิ่งเหว หรือ พุ่งกระฉูด เป็นไปได้ทั้งนั้น


จากกรณี เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2558 ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม หรือ กทค. (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นคณะอนุกรรมการกลั่นกรองงานของ กสทช.ด้านกิจการโทรคมนาคม) มีมติเห็นชอบให้บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT นำคลื่นความถี่ 2300 MHz จำนวน 60 MHz ไปปรับปรุงพัฒนาระบบ Broadband Wireless Access ขึ้นมาเพื่อให้บริการแก่ประชาชน โดย TOT สามารถใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ดังกล่าวได้จนถึงวันที่ 3 ส.ค. 2568

การที่กทค.มีมติอนุมัติให้ TOT นำคลื่นความถี่ดังกล่าวไปปรับปรุงพัฒนา เพื่อเป็นการสร้างประโยชน์ให้แก่หน่วยงานของตนและยังสามารถให้บริการแก่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงต้องไม่เป็นการเอื้อประโยชน์ต่อเอกชนแต่อย่างใด

นอกจากนี้ หาก TOT ซึ่งมีสถานะองค์กรเป็นรัฐวิสาหกิจสามารถนำคลื่นความถี่ที่ยังไม่สิ้นสุดการใช้งานไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นจะถือเป็นผลดีทั้งในแง่ของการให้บริการแก่ประชาชนที่จะมีคุณภาพดียิ่งขึ้น และจะถือเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่หน่วยงานของรัฐ ซึ่งจะสามารถนำส่งเป็นรายได้ของแผ่นดินต่อไป

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2560 คณะกรรมการของ TOT กลับมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการทำสัญญากับบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด และบริษัท เทเล แอสเสท จำกัดซึ่ งทั้งสองเป็นบริษัทย่อยของ บริษัท โทเทิ่ล แอ๊คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ในการเป็นคู่ค้าให้บริการไร้สายบนโครงข่ายคลื่นความถี่ 2300 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) ซึ่งจะเข้าดำเนินการเจรจาสัญญาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับทาง TOT และคาดว่าจะเจรจาได้ข้อยุติพร้อมเข้าทำสัญญาได้แล้วเสร็จภายในไตรมาส 4/2560

สำหรับข้อเสนอของกลุ่ม DTAC เบื้องต้นมีการกำหนดให้ “เทเล แอสเสท” เป็นผู้เช่าเครื่องและอุปกรณ์โทรคมนาคม รวมถึงรับจ้างบำรุงรักษาโครงข่ายให้กับ TOT ขณะที่ “ดีเทค ไตรเน็ต” จะเป็นผู้รับซื้อความจุโครงข่าย 60% ของความจุโครงข่ายทั้งหมด จำนวน 60 MHz โดยกำหนดให้ “ดีแทค ไตรเน็ต” รับผิดชอบในส่วนผลตอบแทนแบบคงที่ให้กับทาง TOT จำนวน 4.51 พันล้านบาทต่อปี

การที่ TOT รับกลุ่ม DTAC ซึ่งเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่มาเป็นคู่ค้าในการให้บริการแบบไร้สาย (4G LTE-TDD) ด้วยคลื่นความถี่ดังกล่าว ส่งผลให้ TOT มีความจำเป็นต้องยื่นขออนุญาตการใช้คลื่นความถี่ต่อคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) อีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากการนำมาใช้ครั้งนี้ ซึ่งหากถือตามเงื่อนไขตามร่างสัญญาระหว่าง TOT และ DTAC จะถือว่าไม่เป็นไปตามเงื่อนไขเดิมของทางกทค. โดยจะไม่สามารถนำคลื่น 2300 MHz ไปออกแพ็กเกจรวมบริการด้านเสียง (Voice) และข้อมูล (Data) ได้

เมื่อวันที่ 20 พ.ย.ที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการฯจึงมีการประชุมเพื่อพิจารณาร่างสัญญาคู่ค้าสองรายข้างต้น สำหรับการให้บริการ 4G LTE-TDD โดยได้ส่งผลสรุปจากการประชุมดังกล่าวเข้าเป็นวาระสำหรับการประชุมของกสทช.ในวันนี้ (22 พ.ย. 2560)

การประชุมคณะกรรมการกสทช.วันนี้ เป็นการพิจารณาร่างสัญญาดังกล่าวครั้งสุดท้ายว่าเป็นไปตามมติที่ประชุมกทค.ที่เคยอนุมัติให้ TOT ปรับปรุงการใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 2300 MHz จำนวน 60 MHz เพื่อนำไปใช้งานแบบ Broadband Wireless Access หรือไม่

อีกทั้งจะมีการพิจารณาว่าสัญญาคู่ค้าของทั้ง 2 รายขัดแย้งต่อพ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคมมาตรา 46 ซึ่งเป็นการใช้คลื่นเฉพาะของตนเองด้วยหรือไม่

ในกรณีที่ กสทช.มีมติเห็นชอบร่างสัญญาดังกล่าว โดยอนุมัติสัญญาคู่ค้าระหว่าง TOT กับ DTAC จะเป็นผลดีต่อ DTAC ในแง่ของการประกอบธุรกิจ ซึ่งจะทำให้ผลการดำเนินงานของบริษัทมีความมั่นคงในระยะยาว ขณะเดียวกันจะเป็นการช่วยเพิ่มความสามารถในการหาลูกค้าใหม่ได้มากขึ้น เนื่องจากปัจจุบัน DTAC มีคลื่นความถี่ 850 MHz จำนวน 10 MHz/1800 MHz จำนวน 50 MHz/ และ 2100 MHz จำนวน 15 MHz ไว้สำหรับการให้บริการอยู่แล้ว

อย่างไรก็ดี สัมปทานคลื่นความถี่ 850 MHz และ 1800 MHz ที่บริษัทได้รับจากบริษัท กสท.โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT กำลังจะสิ้นสุดสัญญาลงในปี 2561 ซึ่งหมายถึงภายหลังการหมดสัญญา DTAC จะเหลือเพียงคลื่นความถี่ 2100 MHzจำนวน 15 MHz ซึ่งจะสิ้นสุดสัญญาในปี 2570 ไว้สำหรับการให้บริการเท่านั้น

ดังนั้น การได้มาซึ่งคลื่นความถี่ 2300 MHz จาก TOT จึงถือเป็นความจำเป็นของ DTAC สำหรับการทดแทนคลื่นความถี่ที่กำลังจะหมดอายุสัญญาลง

การที่ DTAC ต้องจ่ายค่าตอบแทนให้กับ TOT เป็นจำนวน 4.51 พันล้านบาทต่อปีเป็นระยะเวลา 8 ปี หรือคิดเป็นเม็ดเงินรวมราว 3.61 หมื่นล้านบาท และยังต้องใช้งบประมาณในการลงทุนอีกจำนวนมากสำหรับการขยายโครงข่ายบนคลื่น 2300 MHz ซึ่งเบื้องต้นมีการประเมินว่า DTAC ต้องขยายเสาสัญญาทั้งหมดกว่า 2 หมื่นต้น เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการแก่ประชาชนได้ถึง 80% ตามสัญญาคู่ค้า อาจเป็นปัจจัยกดดันต่อผลการดำเนินงานตั้งแต่ช่วงปี 2561 เป็นต้นไป

ในทางตรงกันข้าม หาก กสทช.มีมติไม่เห็นชอบต่อร่างสัญญาดังกล่าว หรือหากว่ายังไม่สามารถให้ข้อสรุปต่อการพิจารณาได้นั้น อาจส่งผลเสียต่อ DTAC เป็นอย่างมาก โดยแผนการดำเนินงานต่างๆ จะไม่เกิดขึ้น หรือต้องล่าช้าออกไป ซึ่งภายหลังที่คลื่นความถี่ส่วนใหญ่ที่ใช้ในการให้บริการในปัจจุบันหมดอายุลง บริษัทจะประสบปัญหาคลื่นความถี่ไม่เพียงพอต่อการใช้งานของลูกค้า และอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังผลการดำเนินงานของบริษัทในอนาคต

ด้านนักวิเคราะห์จาก บริษัทหลักทรัพย์เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า หาก “ดีแทค ไตรเน็ท” ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ DTAC ได้รับเลือกเป็นพันธมิตรกับ TOT Plc. (TOT) ในการใช้คลื่น 2300 MHz เป็นเวลา 8 ปีไปจนถึงปี 2568 จะช่วยให้การดำเนินงานในระยะต่อไปมีความมั่นคงมากขึ้น

ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว TOT จะให้ DTAC ใช้คลื่นในสัดส่วน 60% ของความจุ 60 MHz บนคลื่นความถี่ 2300 MHz ในขณะที่อีก 40% ทาง TOT จะเป็นผู้บริหารจัดการเอง ขณะเดียวกัน DTAC ต้องลงทุนขยายโครงข่ายบนคลื่น 2300 MHz และอนุญาตให้ TOT สามารถใช้โครงข่ายที่บริษัทฯสร้างขึ้นมาได้ อย่างไรก็ดีมองว่าการได้สิทธิใช้คลื่นความถี่ใหม่นี้เป็นปัจจัยบวกสำหรับ DTAC ในการดำเนินงานระยะต่อไปหลังจากที่สัมปทานจาก CAT หมดอายุลงในไตรมาส 3/2561

แม้ข้อตกลงดังกล่าวจะช่วยหนุนความสามารถในการแข่งขันของ DTAC และช่วยเพิ่มความสามารถในการหาลูกค้าใหม่ของบริษัท แต่คลื่นใหม่ก็ถือว่ามาพร้อมกับต้นทุน โดยข้อตกลงตามสัญญาที่ DTAC จะต้องจ่ายค่าตอบแทนให้กับ TOT บวกกับงบประมาณในการลงทุนเพื่อขยายโครงข่ายจะมีผลกระทบต่อกำไรสุทธิในสัดส่วน “การลงทุนที่เพิ่มขึ้นทุก 1 หมื่นล้านบาท เท่ากับกำไรสุทธิในปี 2561 ลดลงราว 1.10 พันล้านบาท” และจะทำให้ผลการดำเนินงานจากประมาณการในปัจจุบันที่คาดว่าจะมีกำไรสุทธิราว 500 ล้านบาท พลิกเป็นขาดทุน 2.70 พันล้านบาท

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ประเมินว่าหลังจากได้ข้อสรุปในดีลนี้แล้ว DTAC จะใช้เวลาอีก 3-6 เดือนเพื่อติดตั้งโครงข่าย ดังนั้นจึงยังคงประมาณการกำไรสุทธิปี 2560 เอาไว้ที่ 2 พันล้านบาท (ลดลง 4%จากปีก่อน) เนื่องจากคาดว่าบริษัทจะเริ่มให้บริการบนคลื่น 2300 MHz ในครึ่งปีหลังของปี 2561 โดยคาดว่าผลประกอบการปีหน้าจะถูกกดดันจากค่าใช้จ่ายในการขยายโครงข่ายที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่รายได้อาจจะเติบโตได้ไม่ทัน

เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการร่วมเป็นคู่สัญญาในช่วงปี 2560-2561 จึงยังคงแนะนำให้ “ถือ” โดยกำหนดราคาเป้าหมายที่ 42 บาท เพราะถึงแม้เชื่อว่าคลื่นความถี่ใหม่นี้จะช่วยให้ฐานลูกค้าโตได้ดีขึ้น แต่จากต้นทุนส่วนเพิ่มที่ต้องจ่ายให้กับ TOT 4.5 พันล้านบาท ตั้งแต่ครึ่งปีหลังของปี 61 เป็นต้นไป บวกกับค่าใช้จ่ายในการลงทุนเพิ่ม ซึ่งเบื้องต้นคาดจะใช้เพิ่มอีกราว 8 พันล้านบาทต่อปี ก็ทำให้เราคาดว่าราคาเป้าหมายของ DTAC อาจจะลดลงเหลือ 36.5-38.00 บาท หรือคิดเป็น Downside ประมาณ 10-13% จากราคาเป้าหมายในปัจจุบัน

 

Back to top button