“บลูชิพ” 11 เดือนสุดพีค! ชู MTLS แชมป์รีเทิร์นสูง พร้อมเก็บ 5 หุ้นต่ำบุ๊ค

“บลูชิพ” 11 เดือนสุดพีค! ชู MTLS แชมป์รีเทิร์นสูง พร้อมเก็บ 5 หุ้นต่ำบุ๊ค นำโดย BBL,KTB,PTTEP,TPIPL และ TRUE 


“บลูชิพ” 11 เดือนสุดพีค! ชู MTLS แชมป์รีเทิร์นสูง-เก็บ 5 หุ้นต่ำบุ๊ค

ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจราคาหุ้นของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ใน SET50 ในรอบ 11 เดือนที่ผ่านมา โดยเทียบราคาปิด ณ วันที่ 30 ธ.ค.59-30 พ.ย.60 ซึ่งพบว่าหุ้นส่วนใหญ่ราคาปรับตัวขึ้นมากกว่าลงโดยหุ้นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมีทั้งหมด 37 ตัว และมีหุ้นปรับตัวลดลงเพียง 12 ตัว และราคาไม่เปลี่ยนแปลง 1 ตัว

ทั้งนี้ตลอดช่วง 11 เดือนที่ผ่านมาดัชนีตลาดหลักทรัพย์ SET ปรับตัวขึ้น 10.01% โดยเทียบจากดัชนียืนอยู่ที่ระดับ 1542.94 จุด (30 ธ.ค. 59) มาอยู่ที่ระดับ 1697.39 จุด ( 30 พ.ย.60) บวกไป 154.45  จุด ส่วนดัชนี SET50 ในรอบ 11 เดือนที่ผ่านมาปรับตัวขึ้น 12.54% จากดัชนีที่ยืนอยู่ที่ระดับ 964.84 จุด (30 ธ.ค. 59) มาอยู่ที่ 1085.86 จุด ( 30 พ.ย.60) บวกไป 121.02 จุด

โดยแรงซื้อที่เข้ามาหนุนให้ดัชนีปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรง เนื่องจากมีปัจจัยบวกเข้ามาหนุน อาทิ แนวโน้มเศรษฐกิจที่เร่งตัวใน 1-3 ปีข้างหน้า อีกทั้งกำไร SET ทำจุดสูงสุดใหม่ บวกกับการเมืองมีเสถียรภาพ หนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และพัฒนาโครงการ EEC มีความต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันแรงซื้อเก็งกำไรในหุ้นรายตัวที่คาดว่าผลงานไตรมาส 3/60 จะออกมาดี อาทิ หุ้นแบงก์,พลังงาน,ปิโตรเคมี รวมทั้งฤดูกาลเม็ดเงิน LTF & RMF ที่มักไหลเข้ามากสุดในไตรมาส 4 ของทุกปีทำให้ทิศทางตลาดหุ้นตลอดเดือน 11 เดือนที่ผ่านมาสดใส

โดยหุ้น SET50 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 37 ตัว ประกอบด้วย  MTLS,AOT,EA,GPSC ,TISCO ,IVL ,CPN ,TMB ,SPRC ,IRPC , TOP ,KBANK ,TCAP ,KKP , PTTGC,BBL ,HMPRO ,MINT ,ADVANC , CPALL ,ROBINS ,BJC ,BPP ,DTAC , RATCH,PTT ,GLOW ,BH ,CBG , INTUCH ,KTB ,EGCO ,SCCC ,LH , BEM ,PSH  และDELTA ซึ่งหุ้นดังกล่าวล้วนแต่ปรับตัวให้ผลตอบแทนชนะตลาดฯ

โดยบริษัท เมืองไทย ลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ MTLS  เป็นหุ้นที่ให้ผลตอบแทนสูงสูงสุดในรอบ 11 เดือน โดยราคาหุ้นปรับตัวขึ้นกว่า 56% โดยราคาหุ้นปรับตัวจากระดับ 24.70 บาท (30 ธ.ค.60) มาอยู่ที่ระดับ 38.75 บาท (30 พ.ย.)

บล.ดีบีเอสฯ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า บริษัทมีแผนขยายสาขาต่อเนื่อง ปัจจุบันมีสาขาทั้งหมด 2,294 แห่ง เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากสิ้นปี 59 ที่ 1,664 แห่ง และจาก 506 แห่งในสิ้นปี 57 ด้านพอร์ตสินเชื่อก็เติบโตขึ้น 70% ในปี 58 และ 86% ในปี 59  บริษัทมีเป้าหมายขยายสินเชื่อ 50% ในปี 60, 40% ในปี 61, 40% ในปี 62 และ 30% ในปี 63 โดยจะเปิดสาขาใหม่ปีละ 600 แห่ง ส่งผลให้จะมีสาขาทั้งสิ้นประมาณ 4,000 แห่งในสิ้นปี 63

มีเงินทุนเพียงพอในการขยายธุรกิจ โดยผู้บริหารระบุว่าขณะนี้มีแหล่งเงินทุนที่เพียงพอทั้งจากการกู้ยืมธนาคารพาณิชย์และการออกตราสารการเงิน ทำให้ไม่มีแผนเพิ่มทุนในระยะกลาง สำหรับการเติบโต 40% ในปี 61 บริษัทต้องการเงินทุน 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งขณะนี้บริษัทมีเครดิตไลน์แล้ว 8 พันล้านบาทและจะออกหุ้นกู้ 1 หมื่นล้านบาท (รอการอนุมัติจากผู้ถือหุ้น) ณ สิ้นก.ย.60 มี D/E ratio 3.0 เท่า ส่วน NPL ratio ยังต่ำที่ 1.1%

แนะนำซื้อ ปรับเพิ่มราคาพื้นฐานเป็น 52 บาท อิงกับ PEG 1 เท่าของ CAGR ของกำไรในปี 61-62-63 ที่ 34% ต่อปี โดยปรับเพิ่มประมาณการกำไรปี 60/61 ขึ้น 5%/1% จากกำไร 9M60 ดีกว่าคาด

ด้านหุ้นที่ปรับตัวลดลงมีทั้งหมด 12 ตัว อาทิ BTS, SCC ,PTTEP ,BDMS ,GLOBAL ,BANPU ,TU ,TPIPL ,CPF ,TRUE , BLA ,และKCE อย่างไรก็ตามหุ้นที่ปรับตัวลดลงหากมองอีกด้านหนึ่ง ถือเป็นโอกาสที่นักลงทุนจะได้เก็บหุ้นพื้นฐานแกร่งราคาถูก เพราะอย่าลืมว่าหุ้นดังกล่าวยังทำกำไรได้ดี และเป็นที่สนใจสำหรับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ

นอกจากนี้จากการสำรวจครั้งนี้มี 5 หุ้นราคาถูกอาทิ BBL,KTB,PTTEP,TPIPL และ TRUE ซึ่งมีค่า P/E ต่ำกว่าตลาดฯล่าสุดอยู่ที่ระดับ 18.34 เท่า( 7 ธ.ค.) และ P/BV ต่ำกว่า 1 เท่า ตรงนี้น่าจะเป็นทางเลือกให้นักลงทุนได้เข้าเก็บหุ้นอีกครั้ง  

อนึ่งโดยทั่วไปหุ้นที่มี P/E ratio สูงหมายถึงว่าเรายอมจ่ายแพงกว่าเพื่อซื้อหุ้นตัวนี้เมื่อเปรียบเทียบกับหุ้นอีกตัวที่มี P/E ต่ำกว่า ดังนั้นหลายคนมักจะบอกว่า หุ้นที่มี P/E ratio สูงๆ คือหุ้นที่แพง และหุ้นที่มี P/E ratio ต่ำๆ คือหุ้นที่ถูก ดังนั้น การซื้อหุ้นที่มีราคาถูก น่าจะมีโอกาสกำไรมากกว่าซื้อหุ้นที่แพง

ส่วนค่า P/BV (Price/Book Value) ตัวเลขมาตรฐานที่มักจะใช้เป็นฐานก็คือ 1 เท่า หากสามารถซื้อหุ้นที่มีค่า P/BV น้อยกว่า 1 ได้ก็หมายความว่าเราสามารถซื้อหุ้นได้ในราคาต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชีของบริษัท)

*ทั้งนี้ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆการตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน

Back to top button