เตรียมเฮ! น้ำมันถูกยันปีหน้า

สัปดาห์ก่อนพูดถึงเรื่องอุปทานน้ำมันจากอิหร่านจะไหลเพิ่มเติมเข้ามาในตลาดโลก ถือเป็นปัจจัยกดดันสำคัญอีกตัวหนึ่งต่อราคาน้ำมัน สัปดาห์นี้มาดูกันต่อเลยว่า เหตุใดน้ำมันถึงน่าจะมีราคาถูกต่อไปเยี่ยงนี้อีก อย่างน้อยๆจนถึงปีหน้า หรือดีไม่ดีปีหน้าทั้งปีราคาน้ำมันยังอาจจะแกว่งตัวอยู่ในระดับต่ำกว่า 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลต่อไปเรื่อยๆ เลยซะด้วยซ้ำ


–ตามกระแสโลก–

 

สัปดาห์ก่อนพูดถึงเรื่องอุปทานน้ำมันจากอิหร่านจะไหลเพิ่มเติมเข้ามาในตลาดโลก ถือเป็นปัจจัยกดดันสำคัญอีกตัวหนึ่งต่อราคาน้ำมัน สัปดาห์นี้มาดูกันต่อเลยว่า เหตุใดน้ำมันถึงน่าจะมีราคาถูกต่อไปเยี่ยงนี้อีก อย่างน้อยๆ จนถึงปีหน้า หรือดีไม่ดีปีหน้าทั้งปีราคาน้ำมันยังอาจจะแกว่งตัวอยู่ในระดับต่ำกว่า 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลต่อไปเรื่อยๆ เลยซะด้วยซ้ำ

 

หากย้อนไปถึงช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2551 ตอนนั้นราคาเวสท์เท็กซัสที่เคยอยู่ในระดับ 140 ดอลลาร์ได้ทิ้งตัวลงมาต่ำสุดที่ระดับ 41.28 ดอลลาร์ ณ วันที่ 1 ธันวาคมของปีนั้น ส่วนเบรนท์ทิ้งตัวจากระดับใกล้เคียงกัน ลงมาทำโลว์ที่ระดับ 43.26 ดอลลาร์ แต่หลังจากนั้นไม่นาน ช่วงปลายปี 2552 ราคาเริ่มฟื้นตัว และสามารถยืนระยะได้อย่างแข็งแกร่งในช่วงปี 2553

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาน้ำมันกลับมามีเสถียรภาพในครั้งนั้นคือ อุปสงค์ของตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นมาอย่างรวดเร็วในปี 2553 โดยความต้องการในปีนั้นมีเพิ่มขึ้นถึงประมาณ 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งแน่นอนว่า นั่นเป็นการส่งผลเชิงบวกต่อราคาโดยตรง โดยในช่วงดังกล่าว ราคาได้ถีบตัวขึ้นมากว่า 115% จากระดับต่ำสุด สำหรับเวสท์เท็กซัส และกว่า 130% สำหรับเบรนท์

เหตุการณ์ในครั้งนั้น ประเทศจีนถือเป็นผู้เล่นสำคัญที่สุดตัวหนึ่งในการที่มีส่วนช่วยฉุดราคาขึ้นมาจากเหวลึก เนื่องจากอุปสงค์น้ำมันจากพวกเขาได้เติบโตขึ้นมาแบบก้าวกระโดดถึงเกือบ 12% ในปี 2553 ซึ่งเปอร์เซ็นต์การเติบโตนี้ มีส่วนในการผลักดันราคาน้ำมันขึ้นมาถึงกว่า 15% และหากดูย้อนหลังไป 10 ปี จะเห็นได้ว่าจีนมีความต้องการน้ำมันเพิ่มขึ้นเฉลี่ยสูงถึงปีละ 6%

 

china20150516-1 china20150516-2

 

อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันทั่วโลกมีความต้องการใช้น้ำมันโดยเฉลี่ยที่ประมาณ 93 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่องค์การข้อมูลข่าวสารด้านพลังงาน หรือ EIA คาดการณ์ว่า ในปีหน้า (2559) ความต้องการของตลาดโลกจะมีเพิ่มขึ้นเพียงประมาณ 1 ล้านกว่าบาร์เรลต่อวันเท่านั้น ซึ่งเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับ 3 ล้านบาร์เรลในปี 2553 เห็นทีราคาน้ำมันคงจะปรับฐานขึ้นมาได้ยากทีเดียว

ส่วนจีน ในฐานะผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ก็กำลังประสบกับปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว โดยปีนี้องค์กรการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ระบุว่าเศรษฐกิจจีนจะโตขึ้นเพียง 6% กว่าๆ ซึ่งถือเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2551 ดังนั้น EIA จึงมองว่า อุปสงค์น้ำมันจากจีนในปีหน้าจะโตขึ้นเพียง 3% มาอยู่ที่ประมาณ 11-12 ล้านบาร์เรลต่อวันเท่านั้น

 

ถ้าใช้สัดส่วนของตัวเลขในอดีต (อุปสงค์น้ำมันจากจีนโตขึ้น 12% ส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้น 15%) มาคิดในสถานการณ์ปัจจุบันแบบหยาบๆ บนสมมติฐานที่ไม่มีปัจจัยใดๆเปลี่ยนแปลง อัตราการเติบโตของอุปสงค์น้ำมันจากจีนในปีหน้าที่ระดับ 3% จะมีส่วนช่วยดึงราคาน้ำมันขึ้นมาได้เพียง 3.75% เท่านั้น

ขณะที่อัตราการเติบโตของราคาที่ต่ำเพียงเท่านี้ การที่ราคาน้ำมันจะสามารถวิ่งขึ้นได้จริงนั้น ดูจะเป็นเรื่องยากที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เนื่องจากไม่สามารถต้านทานแรงกดดันจากอุปทานน้ำมันที่นับวันก็ยิ่งดูเหมือนจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ ได้ โดยถ้าทุกอย่างเป็นไปในทางที่สอดคล้องกับการคาดการณ์ ตลาดโลกปีหน้าจะมีน้ำมันส่วนเกินจากความต้องการสูงถึงวันละ 2 ล้านบาร์เรลทีเดียว

อุปทานน้ำมันในปัจจุบัน รวมไปถึงในอีก 2-3 ปี หรือ 4 ปี ข้างหน้า มีอัตราการเติบโตที่สูงกว่าอุปสงค์อยู่หลายขุม ดังนั้นราคาน้ำมันจะทรงตัวอยู่ในระดับต่ำเช่นนี้ไปจนกว่าภาวะเศรษฐกิจจะดีขึ้นมาจนสามารถกระตุ้นความต้องการขึ้นมาได้มากกว่านี้

Back to top button