ย้อนรอยข่าวร้อนข่าวดังปี 60 – ปิดตำนาน “พาที สารสิน” อดีต CEO “นกแอร์”

ย้อนรอยข่าวร้อนข่าวดังปี 60 - “พาที” โบกมือลา NOK หลังพลิกธุรกิจไม่ฟื้น!


“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจ และคัดเลือกประเด็นร้อนที่เกิดขึ้นภายในปี 2560 เพื่อนำมานำเสนอให้นักลงทุนได้อ่านในช่วงวันหยุดเทศกาลปีใหม่ โดยจะนำเสนอเกี่ยวกับประเด็นข่าวที่ร้อนแรง และถูกพูดถึงกันอย่างกว้างขวาง โดยในวันนี้จะนำเรื่องราวของ บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK ที่มีประเด็นให้นักลงทุนติดตามจนถึงโค้งสุดท้ายของปี

เหตุการณ์เริ่มต้นมาจากการที่ NOK มีผลการดำเนินงานที่ยังประสบผลขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง ภายหลังจากปี 2556 ซึ่งถือว่าเป็นปีสุดท้ายที่มีกำไรสุทธิจำนวน 1.07 พันล้านบาท ขณะที่ปีต่อๆมามีผลขาดทุนสุทธิอย่างน่าใจหาย

โดยในปี 2557 พลิกขาดทุนสุทธิ 471 ล้านบาท ต่อมาปี 2558 มีผลขาดทุนสุทธิเพิ่มเป็น 726 ล้านบาท และล่าสุดปี 2559 มีผลขาดทุนสุทธิ 2.80 พันล้านบาท ขณะที่ผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 1 ปีนี้ (2560) บริษัทฯมีผลขาดทุนสุทธิ 295.57 ล้านบาท

ขณะที่ปัญหาเรื่องผลการดำเนินงานยังคงกดดัน ก็ยังมีประเด็นปัญหาการขัดแย้งภายใน เริ่มมาจากเหตุการณ์สไตรค์ของ NOK ในเดือนกุมภาพันธ์ จนมีการยกเลิกเที่ยวบินภายในประเทศจำนวน 9 เที่ยวบิน

ส่งผลให้ นายพาที สารสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารในขณะนั้น ถูกตั้งคำถามในการรับมือกับปัญหาการต่อร้องต่อเถียงกับกลุ่มนักบิน ถึงขั้น “ไล่ให้ไปใส่กระโปรง” จนสุดท้ายข้อพิพาทจบลงที่การไล่พนักงานงานออก 1 คน และพักงานพนักงาน 2 คน สะท้อนภาพรอยร้าวของความไม่พอใจคนในองค์กรต่อการบริหารของนายพาที

ขณะเดียวกัน เหตุการณ์ดังกล่าวยังไม่ทันข้ามปี ในเดือนมิถุนายน 2559 ก็ได้เกิดกรณีอื้อฉาวอีกครั้ง เมื่อผู้ช่วยนักบินของสายการบินนกแอร์ทำแชทบทสนทนาในแอพลิเคชั่นไลน์หลุดกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีขึ้นเครื่องบินไปปฏิบัติภารกิจในจังหวัดแพร่ ว่าจะทำการบินโหม่งโลก หรือ CFIT ดีหรือไม่? ทำให้เกิดกระแสวิจารณ์อย่างกว้างขวางตามมา

อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงใหญ่ของการบินไทยในปี 2560 คณะกรรมการบริษัท การบินไทย ได้พิจารณาปรับโครงสร้างยุทธศาสตร์ของบริษัท ด้วยการตั้ง “Thai Group” (ไทยกรุ๊ป) เพื่อบริหารจัดการ 3 สายการบิน คือ การบินไทย, ไทยสมายล์ และนกแอร์

โดยรวบอำนาจให้การบินไทยบริหารนกแอร์ และเพื่อให้การทำงานประสบความสำเร็จ ทั้งสามสายการบินจึงต้องวางแผนร่วมกัน โดยเฉพาะการแก้ปัญหาขาดทุนของนกแอร์

ซึ่งขณะนั้นมีกระแสพูดถึงการที่ต้องเปลี่ยนนโยบายบริหารใหม่ รวมถึงการเปลี่ยนซีอีโอคนใหม่

อย่างไรก็ตาม นายพาที ได้พูดถึงกรณีข่าวลือดังกล่าวว่าไม่เคยได้รับแจ้งจากผู้บริหารการบินไทยในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ว่าขอให้ออกจากตำแหน่ง แต่ได้รับการติดต่อขอให้อยู่ช่วยทำงานต่อไป

อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นไม่นาน NOK ได้ทำการเพิ่มทุนจดทะเบียนจากเดิม 625 ล้านบาท เป็น 1.41 พันล้านบาท โดยวิธีการออกหุ้นใหม่จำนวน 781.25 ล้านหุ้น และได้มีการจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 625 ล้านหุ้น เพื่อเสนอขายแก่ผู้ถือหุ้นเดิมในอัตราส่วน 1 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ ที่ราคาหุ้นละ 2.40 บาท เพื่อใช้เป็นเงินทุนในการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน และในการขยายเส้นทางการบิน

ขณะที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 ของ NOK ไม่ได้มีการเข้าไปซื้อหุ้นเพิ่มทุนแต่อย่างใด โดยให้เหตุผลว่า ยังไม่เห็นแผนฟื้นฟูธุรกิจที่ชัดเจน รวมทั้งการบริหารก็ยังไม่ชัดเจนด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ กรณีที่ THAI ไม่ได้ทำการซื้อหุ้นเพิ่มทุนนั้น เป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อ NOK เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อสถานะการเงินของบริษัทฯถือว่าอยู่ในช่วงวิกฤต

ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2560 กลุ่ม “จุฬางกูร” ซึ่งมีนายณัฐพล จุฬางกูร เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 ถือครองหุ้นอยู่ทั้งหมด 75,500,000 หุ้น หรือคิดเป็น 12.08%

ส่วนนายทวีฉัตร จุฬางกูร เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 3 ถือหุ้นอยู่ทั้งหมด 63,825,900 หุ้น หรือคิดเป็น 10.21% ใช้สิทธิทำการซื้อหุ้นเพิ่มทุนเต็มจำนวนตามสัดส่วนที่ถือครองหุ้น ส่งผลให้กลุ่มจุฬางกูรขึ้นมาเป็นกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่อับดับ 1 ถือครองหุ้นทั้งหมด 22% และจะมีอำนาจในการบริหารกิจการสูงสุดแทน ทำให้ THAI ไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 ของ NOK อีกต่อไป

ซึ่งตระกูล “จุฬางกูร” เป็นเจ้าของกลุ่มบริษัทไทยซัมมิทกรุ๊ป ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ชั้นนำของประเทศไทย

ต่อมา นายสมใจนึก เองตระกูล ประธานกรรมการ NOK เปิดเผยว่า บริษัทได้สรุปแผนฟื้นฟูธุรกิจของ NOK แล้ว โดยกำหนดแผนงานหลักคือการเร่งปรับลดค่าใช้จ่าย ได้แก่การลดจำนวนเครื่องบินลงจากปัจจุบันมีจำนวนมากเกินไป ทำให้การใช้เครื่องบินไม่มีประสิทธิภาพ ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาการขาดแคลนนักบินที่เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อต้นปี 59 ทำให้เครื่องบินที่มีอยู่ใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ นอกจากนี้ยังมีแผนลดค่าใช้จ่ายด้านอื่นอีก

อย่างไรก็ตาม ต่อมาที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ครั้งที่ 9/2560 เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2560 มีมติรับทราบการลาออกจากตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ นายพาที สารสิน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 14 กันยายน 2560 เป็นต้นไป ทั้งนี้นายพาที สารสิน จะยังคงดำรงตำแหน่งกรรมการของบริษัทเช่นเดิม

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีมติแต่งตั้งนายพาที กรรมการบริษัท ให้ดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการบริษัท และแต่งตั้งนายปิยะ ยอดมณี รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

ต่อมาในวันที่ 20 ก.ย.60 NOK มีแผนเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็นรอบที่ 2 จำนวน 1,207 ล้านบาท เป็นจำนวน 2,499.24 ล้านบาท โดยออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 1,207 ล้านหุ้น จัดสรรให้ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วน (RO) ในอัตรา 1 หุ้นเดิม ต่อ 1 หุ้นใหม่ ราคาเสนอขายหุ้นละ 1.50 บาท

โดยถือเป็นการหั่นราคาเกือบเท่าตัวจากรอบแรกที่ราคา 2.40 บาท และท้ายที่สุด ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น NOK ได้มีมติอนุมัติแผนเพิ่มทุนรอบใหม่ด้วยคะแนนเสียง 99.6% ของผู้ที่เข้ามาร่วมประชุม เพื่อนำเงินไปใช้ในการขยายฝูงบินรองรับการเปิดเส้นทางบินใหม่ไปจีน

ซึ่งทาง THAI ได้ใส่เงินเพิ่มทุนในครั้งนี้ โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากเห็นว่าแผนพลิกฟื้นกิจการของ NOK มีความชัดเจนขึ้น และเชื่อว่าจะสามารถทำกำไรได้ในปี 61 หลายคนมองว่าการที่ THAI ใส่เงินเพิ่มทุนครั้งนี้เป็นเพราะการออกจากตำแหน่ง CEO ของ พาที

ขณะเดียวกัน นางหทัยรัตน์ จุฬางกูร ได้เข้าซื้อหุ้น NOK เพิ่มเติมในรอบดังกล่าวด้วย โดยจำนวนหลักทรัพย์ที่ได้มาคิดเป็น 0.15% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการ จำนวนหลักทรัพย์ภายหลังการได้มาคิดเป็น 5.01% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการ

อนึ่ง นางหทัยรัตน์ จุฬางกูร เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับ 6 ของ NOK ถือหุ้นอยู่ทั้งหมด 14,883,700 หุ้น หรือ 1.31% ขณะที่สัดส่วนของการถือหุ้นก่อนการทำรายการครั้งนี้ของตระกูลจุฬางกูร อยู่ที่ 42.60% ทั้งนี้หากคำนวณสัดส่วนภายหลังการทำรายการเท่ากับว่าตระกูลจุฬางกูรจะถือหุ้น NOK อยู่ทั้งหมด 46.30% มากกว่าสัดส่วนของ THAI

อย่างไรก็ตามหลังจากการเพิ่มทุน นายปิยะ ยอดมณี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ได้ออกมาเปิดเผยว่าการขายหุ้นเพิ่มทุนครั้งที่ 2 นั้น ได้รับความสนใจจากผู้ถือหุ้นรายเดิมเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้มีผู้ถือหุ้นสนใจเข้าซื้อเกินจำนวนมากกว่า 2,600,060,299 หุ้น คิดเป็น 2 เท่าของหุ้นที่เปิดขายทั้งหมด จำนวน 1,135,999,882 หุ้น โดย NOK ได้รับเงินจากการเพิ่มทุนครั้งนี้ 1,703,999,823 บาท แต่มีค่าใช้จ่ายรวม 8,902,250 บาท จึงเหลือรับเงินสุทธิ 1,695,097,573 บาท

ล่าสุด เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2560 ทาง NOK ได้ออกมาชี้แจงให้ทราบว่า นายพาที สารสิน ซึ่งดำรงตำแหน่งกรรมการของบริษัท ได้ลาออกจากตำแหน่งแล้ว โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2560 ถือเป็นการปิดฉากสมญานาม “นกดุ๋ง” อย่างสมบูรณ์แบบ

โดยบริษัทอยู่ระหว่างดำเนินการสรรหากรรมการใหม่ และจะดำเนินการแต่งตั้งในที่ประชุมคณะกรรมการ โดยบริษัทจะแจ้งให้ทราบต่อไป

อย่างไรก็ตาม ยังเป็นที่น่าจับตาต่อไปว่าภายใต้การบริหารงานของผู้บริหารคนใหม่ จะสามารถพลิกฟื้นธุรกิจ NOK ให้กลับมาผงาดในปี 2561 ได้หรือไม่ และจะสามารถทำกำไรให้บริษัทฯ ได้สักแค่ไหน? ซึ่งหากมีความคืบหน้าทางทีมงาน “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” จะนำเสนอความคืบหน้าให้ได้รับทราบกันต่อไป

Back to top button