ย้อนรอยข่าวร้อนข่าวดังปี 60 – มหากาพย์ข่าวฉาว “IFEC”

เป็นอีกครั้งที่ “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจ และคัดเลือกประเด็นร้อนที่เกิดขึ้นภายในปี 2560 เพื่อนำมานำเสนอให้นักลงทุนได้อ่าน โดยในวันนี้จะนำเสนอเกี่ยวกับประเด็นข่าวฉาวของผู้บริหารบริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC


เป็นอีกครั้งที่ “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์ ได้ทำการสำรวจ และคัดเลือกประเด็นร้อนที่เกิดขึ้นภายในปี 2560 เพื่อนำมานำเสนอให้นักลงทุนได้อ่าน โดยในวันนี้จะนำเสนอเกี่ยวกับประเด็นข่าวฉาวของผู้บริหารบริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC

ซึ่งถึงแม้ระยะเวลาจะผ่านมานานแต่ดูเหมือนว่าประเด็นของ IFEC จะยังไม่จบเสียทีหลังจากที่นายวิชัย ถาวรวัฒนยงค์ หรือ หมอวิชัย อดีตประธานกรรมการ IFEC สร้างความเดือดร้อนให้กับธุรกิจของบริษัท และผู้ถือหุ้นรายย่อยอย่างมากมาย

ประเด็นฉาวเริ่มขึ้นตั้งแต่มีกระแสข่าวในเดือนกันยายน 2559 ว่า “นายสิทธิชัย พรทรัพย์อนันต์” อดีตประธานเจ้าหน้าที่ผู้บริหาร และคณะกรรมการ IFEC เกิดความขัดแย้งกับหมอวิชัย จึงทำการขายหุ้นออกมาจำนวนมาก และภายหลังจากการขายหุ้นก็ได้มีการประกาศลาออกจากตำแหน่ง พร้อมกับคณะกรรมการหลายรายที่ลาออกไปในครั้งนั้นด้วย

ขณะที่ต่อมา IFEC ได้ผิดนัดชำระหนี้ตั๋วบี/อี  ,ผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้นับตั้งแต่ช่วงปลายเดือนธันวาคม ปี 2559 ส่งผลให้มีการสืบสาวราวเรื่องไปจนพบต้นตอของเรื่องฉาวว่า “หมอวิชัย” แอบนำหุ้น บริษัท อินเตอร์ฟาร์อีสท์ แคป แมเนจเม้นท์ จำกัด (ICAP) ซึ่งเป็นบริษัทที่ถือหุ้นของโรงแรมดาราเทวี ไปเป็นหลักประกันให้เจ้าหนี้ยืดจากหนี้ตั๋วบี/อี ที่มีมูลค่าเพียง 100 ล้านบาท โดยมีเจ้าหนี้คือบริษัทหลักทรัพย์แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด และสุดท้ายก็ปล่อยให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้ดังกล่าวจนได้

โดยการกระทำดังกล่าวเป็นธุรกรรมที่ประธาน IFEC และกรรมการดำเนินการโดยไม่ผ่านกระบวนการตรวจสอบ เพราะขณะนั้น IFEC ไม่มีกรรมการตรวจสอบ และไม่ผ่านการรับรองจากผู้ถือหุ้น ส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) สั่งขึ้นเครื่องหมาย SP ห้ามการซื้อขายทันที

ขณะที่ต่อมาพบการผิดนัดชำระหนี้ตั๋วบี/อี เพิ่มเติมในช่วงต้นปี 2560 คิดเป็นมูลค่าถึง 200 ล้านบาท โดยมีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนโซลาลิสเป็นเจ้าหนี้ และภายหลังยังขุดพบหนี้ตั๋วบี/อี ที่ต้องชำระเพิ่มขึ้นเป็น 3.50 พันล้านบาท และหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระเดือนพฤศจิกายน 2560 อีก 3 พันล้านบาท รวมเป็น 6.50 พันล้านบาท

ขณะที่ภายหลังจากมีประเด็นดังกล่าว ผู้ถือหุ้นรายย่อยผนึกกำลังใช้พลังเสียงที่มีเพื่อแสดงออกถึงความไม่ไว้วางใจที่มีต่อ “หมอวิชัย” ผ่านการประชุมผู้ถือหุ้นมา เริ่มตั้งแต่การประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2560 เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2560 ในการประชุมเพื่อเลือกคณะกรรมการบริษัทฯ แทนตำแหน่งที่ว่าง โดยขณะนั้น “นายทวิช เตชะนาวากุล” เจ้าของนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ IFEC ได้เสนอตัวและทีมเข้ามาเป็นกรรมการ เพื่อฟื้นฟูกิจการของ IFEC ให้กลับมาขับเคลื่อนได้อีกครั้ง

พร้อมกับแผนงานที่ชัดเจนในการคืนหนี้ให้กับสถาบันการเงิน พร้อมกับเดินหน้าธุรกิจ การเร่งปิดงบการเงิน เพื่อนำไปสู่การปลดเครื่องหมาย SP ซึ่งถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายของ IFEC แต่ “หมอวิชัย” ในฐานะประธานกรรมการ IFEC และประธานการในที่ประชุม กลับไม่เสนอรายชื่อคณะกรรมการของฝั่งของ “ทวิช” เข้าสู่การประชุม

อย่างไรก็ตามในการประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2560 ผู้ถือหุ้นแสดงจุดยืนด้วยการลงคะแนน ไม่เห็นชอบคณะกรรมการที่ “หมอวิชัย” เสนอมาทั้งหมด และเกิดความโกลาหลขึ้นระหว่างประชุมทำให้มีผู้มาลงคะแนนเสียงไม่เพียงพอ ส่งผลให้ต้องมีการจัดประชุมขึ้นใหม่ ซึ่งในการประชุมรอบ 2 เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2560 มีวาระที่สำคัญคือ การแต่งตั้งกรรมการชุดใหม่ รอบนี้ประธาน IFEC เสนอรายชื่อทั้งสองฝั่ง แต่ในการประชุมครั้งนี้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน

โดยมีการประกาศใช้วิธีการลงคะแนนเลือกตั้งกรรมการ ด้วยวิธีการเทคะแนน หรือ Cumulative Voting ซึ่งหลายคนมองว่าเป็นวิธีการที่ผิดกฎหมาย และขัดข้อบังคับของบริษัท ซึ่งผลของการประชุมในครั้งนั้น ทำให้กรรมการ IFEC ในฝั่งของ “วิชัย” ได้ที่นั่งกรรมการ 2 ท่าน ขณะที่ในฝั่งของ “ทวิช” ได้รับการเลือกตั้ง 5 ท่าน

อย่างไรก็ตามปัญหาได้เกิดขึ้นอีกเมื่อกรรมการชุดใหม่ในฝั่งของ “นายทวิช” ที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้ง 5 คน ต้องหมดวาระถึง 3 คน ในเดือน เม.ย.2560 ซึ่งส่งผลให้ฝั่งหมอวิชัยมีคะแนนเสียงมากกว่าฝั่งนายทวิช ซึ่งต่อมากรรมการฝั่งนามทวิช จึงได้ประกาศลาออก เนื่องจากเห็นว่าการแต่งตั้งและเลือกกรรมการดังกล่าวไม่ยุติธรรม จึงเกิดกระแสขึ้นอีกครั้งว่าการหมดวาระของบอร์ดใหม่นั้น เป็นแผนการณ์ที่หมอวิชัยวางแผนเอาไว้อยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม บริษัทได้จัดให้มีการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปีในวันที่ 2 พ.ค.2560 เพื่อเลือกตั้งกรรมการแทนกรรมการที่หมดวาระในการประชุมผู้ถือหุ้นอีกครั้ง โดยการประชุมในครั้งนี้มีการเลือกตั้งกรรมการแทนชุดเดิมที่หมดวาระ แล้วก็ยังคงเลือกใช้วิธีการเลือกตั้งแบบ Cumulative Voting  ซึ่งผลที่ออกมาคือกลุ่มของ “หมอวิชัย” ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการเสียงข้างมาก ซึ่งผู้ถือหุ้นตัดสินใจยื่นหนังสือไปยังกรมทะเบียนธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เพื่อคัดค้านการแต่งตั้งกรรมการ IFEC ขณะที่ได้ออกเสียงไม่รับรองผลการประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 25 มกราคม 2560 และในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2560

ต่อมาในวันที่ 29 มิถุนายน 2559 กลุ่มผู้ถือหุ้นรายย่อยได้ยื่นหนังสือทวงถามไปยังสำนักงานก.ล.ต. เพื่อให้เพื่อให้พิจารณาดำเนินการแก้ปัญหาการใช้อำนาจโดยมิชอบและขัดต่อข้อบังคับของ นายวิชัย ถาวรวัฒนยงค์ ประธานกรรมการ IFEC ขณะที่ในวันที่ 5 กันยายน 2569 ก.ล.ต.ได้กล่าวโทษหมอวิชัย ต่อกองบังคับการปราบปราบการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ซี่งการถูกกล่าวโทษดังกล่าวส่งผลให้หมดความน่าเชื่อถือ ขาดความน่าไว้วางในในการดำรงตำแหน่งประธานและกรรมการบริษัท ส่งผลให้เก้าอี้ประธานปลิวไปทันที

นอกจากนี้ภายหลังการตรวจสอบกรมทะเบียนธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ มีคำวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งกรรมการด้วยวิธี Cumulative Voting ของ IFEC เข้าข่ายมิชอบด้วยกฎหมาย และผิดข้อบังคับบริษัท นั่นหมายความว่าการประชุมทั้ง  2 ครั้งที่ “หมอวิชัย” ซึ่งดำรงตำแหน่งประธาน IFEC และประธานในที่ประชุมผู้ถือหุ้น เลือกใช้วิธีการ Cumulative Voting ขัดกฎหมาย ดังนั้นการทำธุรกรรมต่างๆ ของกรรมการ ย่อมไม่มีผลทางกฎหมาย ทำให้กรรมการในฝั่งของ “หมอวิชัย” กลายเป็นบอร์ดกำมะลอ

ซึ่งภายหลังจากคำวินิจฉัยดังกล่าวยังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาสะสางบอร์ดเถื่อน กลุ่มผู้ถือหุ้นรายย่อยจึงได้ทำการยื่นคำร้องต่อศาล และฟ้องอาญา มาตรา 157 ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ฐานละเว้นการปฎิบัติหน้าที่ และไม่จัดการให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดส่งผลให้ผู้ถือหุ้นยังคงเดือดร้อนนานนับปี โดยจะสรุปผลว่าศาลจะรับคำร้องดังกล่าวเป็นคดีหรือไม่ในวันที่ 16 มกราคม 2561

โดยที่ผ่านมาผู้ถือหุ้นรายย่อยได้ทำหนังสือร้องเรียนเกี่ยวกับพฤติกรรมของประธาน IFEC ที่ขัดต่อกฎหมาย และขัดต่อหลักธรรมาภิบาล ไปยังหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็น ตลท. ,ก.ล.ต.ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล ยื่นหนังสือร้องเรียนนายกรัฐมนตรีผ่านสำนักนายกฯ เพื่อให้มีคำสั่งให้หน่วยงานกำกับดูแลปฏิบัติตามหน้าที่ อีกทั้งยื่นหนังสือร้องเรียนไปถึงกรรมาธิการการเงินการคลังการธนาคาร และสถาบันการเงิน รัฐสภา เพื่อให้เข้ามาช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับบริษัท เนื่องจากสร้างความเสียหายให้กับผู้ถือหุ้นรายย่อยที่ลงทุนใน IFEC จำนวนกว่า 27,170 คน

ขณะที่ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.2560 ทาง IFEC ได้ดำเนินการยื่นคำร้องขอให้ศาลแต่งตั้งผู้แทนชั่วคราวหรือผู้แทนเฉพาะกาล เป็นผู้แทนบริษัททำหน้าที่ประธานกรรมการเป็นการชั่วคราว เนื่องจากที่ผ่านมาบริษัทมีคณะกรรมการไม่เพียงพอที่จะมีอำนาจในการแก้ไขปัญหาหนี้ ทำให้บริษัทไม่สามารถดำเนินการตามแนวทางการปรับโครงสร้างหนี้ได้

ทั้งนี้หากมีคำสั่งศาลแต่งตั้งผู้แทนชั่วคราวหรือผู้แทนเฉพาะกาล บริษัทจะได้สามารถดำเนินการจัดการประชุมคณะกรรมการบริษัทเป็นการต่อไป เพื่อที่จะเรียกประชุมผู้ถือหุ้นเพื่ออนุมัติการปรับโครงสร้างหนี้ตามแนวทางที่เคยนำเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้ของบริษัทในเวลาอันสมควร

โดย ศาลได้นัดไต่สวนคำร้องดังกล่าวในวันที่ 18 ธ.ค.60 อย่างไรก็ตามในวันที่ 20 ธ.ค.60 ศาลแต่งตั้งผู้แทนชั่วคราวหรือผู้แทนเฉพาะกาลได้กำหนดวันนัดพิจารณาคดีเพื่อสืบพยานผู้ร้องและผู้คัดค้านในระหว่างวันที่ 10-13 ก.ค.61 เนื่องจากในวันที่ 18 ธ.ค.60 ได้มีผู้คัดค้านการยื่นคำร้องของบริษัท โดยหากมีคำสั่งศาลแต่งตั้งผู้แทนชั่วคราวหรือผู้แทนเฉพาะกาลแล้ว บริษัทจะสามารถดำเนินการจัดการประชุมคณะกรรมการบริษัทเป็นการต่อไป

ประเด็นดังกล่าวเป็นที่น่าจับตาว่าปัญหา IFEC จะจบอย่างไร หลังจากผู้ถือหุ้นรายย่อยยังคงต่อสู้ทุกวิถีทางอย่างไม่ลดละเพื่อให้ IFEC พ้นวิกฤติ จากสิ่งที่เกิดขึ้นใน IFEC ตลอดระยะเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมา เป็นที่น่าจับตาว่าเรื่องราวจะจบลงเช่นไร

ขณะที่จะมีหน่วยงานใด เข้ามาสะสางปัญหาดังกล่าวให้กับผู้ถือหุ้นที่รอคอยอย่างมีความหวัง หากมีความคืบหน้าประการใดทีมงาน “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” จะนำข้อมูลมานำเสนอให้ทราบในภายหลัง

Back to top button