ชิดซ้ายไปก่อน! วีไอ

ในยามที่ตลาดเป็นขาขึ้น และแรงซื้อกระจุกตัวเฉพาะหุ้นใหญ่หรือบลูชิพเป็นหลัก จนหุ้นขนาดกลางและเล็กแทบจะถูกเมินมอง ทำให้บรรดานักลงทุนแบบเน้นคุณค่าหรือ วีไอ จำต้องหลีกทางให้กับบรรดานักลงทุนแบบเทคนิคที่เรียกว่า มาร์เก็ตไทเมอร์มากกว่าปกติ


พลวัตปี 2018 :วิษณุ โชลิตกุล

 

ในยามที่ตลาดเป็นขาขึ้น และแรงซื้อกระจุกตัวเฉพาะหุ้นใหญ่หรือบลูชิพเป็นหลัก จนหุ้นขนาดกลางและเล็กแทบจะถูกเมินมอง ทำให้บรรดานักลงทุนแบบเน้นคุณค่าหรือ วีไอ จำต้องหลีกทางให้กับบรรดานักลงทุนแบบเทคนิคที่เรียกว่า มาร์เก็ตไทเมอร์มากกว่าปกติ

มากแค่ไหนเห็นได้ไม่ยาก

ล่าสุดการสัมมนานักลงทุนแบบวีไอตัวเอ้ ยังตอกย้ำกล้ำกลืนฝืนเปิดเวทีให้พวก “ขาใหญ่” ที่ประกาศชัดเจนว่าเป็นนักเทคนิค ขึ้นเวทีเพื่อร่วมวงด้วย ทั้งที่ในอดีตเคยทำท่ารังเกียจเดียดฉันท์เสมอมา

ที่สำคัญนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ที่ทรงอิทธิพลต่อตลาดยามนี้ ก็ยังหันมาเล่นเกมเทคนิคกันเสียมาก และมีคนให้น้ำหนักค่อนข้างเยอะกว่าระดับปกติ

บรรดานักวิเคราะห์เหล่านี้ กระซิบกระซาบบอกต่อกันเงียบๆ ว่า หากสถานการณ์แรงซื้อกระจุกตัวเฉพาะหุ้นใหญ่ที่เคยถูกเมินมายาวนาน อย่างหุ้นไฟฟ้า หุ้นค้าปลีก หรือ ธนาคาร ชนิดหาเหตุผลอธิบายไม่ได้นอกจากบาทแข็งล่ะก็ โอกาสที่จะได้เห็นดัชนีทะลุ 2,000 จุดในปีนี้ อาจจะเป็นไปได้ …อย่าคิดว่าพูดเป็นเล่นไป

ฟังผิวเผินแล้วก็น่าชื่นใจแทนผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯคนปัจจุบัน ที่ทิ้งผลงานหรู ก่อนลงจากเก้าอี้ ถือว่า “ล้างมือในอ่างทองคำ” ได้สวยสดงดงาม เพียงแต่นิทานเตือนสติเก่าของเบนจามิน แกรห์ม เรื่อง “คุณตลาด”  ก็ยังคงถ่วงรั้งว่า มายาภาพของขาขึ้นนั้น ไม่ได้จีรังยั่งยืนแต่อย่างใด เพราะมักจะซ่อนความดำมืดเอาไว้รอเวลาแสดงตัวเท่านั้น

คุณตลาด” ของแกรห์ม แม้จะรู้ดีแค่ไหน แต่ก็ไม่เคยบอกกับใครๆ เลยว่า ซินเดอเรลล่าในงานเลี้ยงที่พระราชวังของเจ้าชายรูปงามนั้น หลังเที่ยงคืนไปแล้วจะกลายเป็นสาวใช้ และรถเทียมม้าโก้หรูที่โดยสารมา จะกลายเป็นแค่ฟักทองในสวน กับ หนูโสโครกในท่อระบายน้ำ

สิ่งที่ “คุณตลาด” พร่ำพูดเสมอจนซ้ำซากคือว่า ไม่ต้องใส่ใจเลยว่า ราคาหุ้นแต่ละตัว มันจะสัมพันธ์กับคุณค่าหรือตัวเลขทางบัญชีหรือผลประกอบการใดๆ ของบริษัทที่เป็นเจ้าของหุ้นในตลาด เพราะราคาจะเคลื่อนไหวอย่างเป็นอิสระในระยะสั้นๆ ตามกลไกของตลาดคือแรงขายกับแรงซื้อมากกว่า เนื่องจาก “ความรู้สึก หรือ อารมณ์อยากซื้อ-ขาย มันเป็นอารมณ์ที่แก้ไขได้ยาก นักลงทุนที่ไหนก็มีกันในตัว แม้ว่า ความรู้สึกและอารมณ์นั้น เกิดจากจินตนาการมากกว่าจากข้อเท็จจริง

ในภาวะที่ความไร้เหตุผลกำลังครอบงำขาขึ้นของตลาดหุ้นที่อยู่ในภาวะกระทิง คำเตือนเก่าแก่ของวอร์เรน บัฟเฟตต์ ที่เคยปรารภว่า ตลาดหุ้นเป็นตลาดที่แปลกเพราะเศรษฐีนั่งรถคันงามซมซานไปขอคำชี้แนะจากคนที่นั่งรถประจำทาง (มาร์เก็ตติ้งหรือนักวิเคราะห์) มาทำงาน…อาจถูกลืมเลือนไปบ้าง แต่ไม่ใช่ไร้ประโยชน์เอาเสียเลย เพราะท้ายสุด ผลตอบแทนของการลงทุน ต้องสะท้อนจากพื้นฐานของกิจการเป็นสำคัญ

ปัญหาใหญ่ของนักลงทุนทั่วไประดับแมงเม่า อยู่ที่ว่ายังคงไร้มาตรฐานที่จะบอกได้ชัดเจนว่า  หุ้นไหนเลว หรือหุ้นไหนดี และความต่างระหว่างหุ้นแพง กับหุ้นที่ถูก อยู่ที่ตรงไหน

ในทางทฤษฎี หุ้นที่เลว ย่อมเป็นหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานเลวร้าย ขาดทุนต่อเนื่อง สัดส่วนทางการเงินเลวบัดซบ ผู้บริหารไม่เอาไหน ไม่เหมาะสำหรับการลงทุนระยะยาวแบบเน้นคุณค่า ควรถอยให้ห่าง แต่ในทางปฏิบัติ หุ้นที่เลวในทางทฤษฎีตามนิยามข้างต้น กลับมีอยู่เกลื่อนกราดในตลาดหุ้นที่มีนักลงทุนนิยมซื้อขายกัน

ตัวอย่างเช่นหุ้นราคา 1-2 สตางค์ที่หากราคาขยับทีไร ก็ถือว่าขึ้นหรือลงมากกว่า 50% ก็มีคนนิยมเสี่ยงตายซื้อขายกันให้เห็นมาแล้ว ยิ่งวิ่งแรงขึ้นมาแตะ 10 สตางค์ด้วยแล้ว ถือว่ามีกำไรมหาศาล ในสายตาของนักเก็งกำไร ดีกว่าหุ้นบลูชิพที่มีขนาดใหญ่ และพื้นฐานดีเยี่ยม แต่ราคาถดถอยอย่างต่อเนื่อง ซื้อเข้าไปทีไร ขาดทุนมากกว่ากำไร

สำหรับนักลงทุนรายย่อย ที่มีหน้าตักไม่สูงมากนัก ต้องอาศัยวิธีการซื้อขายหุ้นแบบเข้าเร็วออกเร็ว และตามทิศทางตลาด เพราะไม่สามารถกำหนดทิศทางได้เอง จะต้องมีลักษณะเป็นพวกมาร์เก็ตไทเมอร์ ที่อาศัยทั้งพื้นฐานของบริษัทและสัญญาณทางเทคนิคผสมผสานกัน ไม่อาศัยเพียงแค่พื้นฐานของหุ้นดีหรือเลวในทางทฤษฎีได้

หุ้นเลวของนักลงทุนแบบมาร์เก็ตไทเมอร์ ซึ่งจำเป็นต้องใช้วิธีการลงทุนแบบ “เก็บเบี้ยใต้ถุนร้าน” จึงมีความหมายถึงหุ้นที่ซื้อแล้วราคาวิ่งลง ทำให้ขาดทุน หรือหุ้นที่ราคาแน่นิ่งไม่เคลื่อนไหว หรือ หุ้นที่วิ่งขึ้นไปในสัดส่วนที่ต่ำเกินกว่า 5%  และหุ้นดี ก็เป็นหุ้นที่มีราคาและการเคลื่อนไหวตรงกันข้ามกับนิยามข้างต้น

มาตรฐานของนักลงทุนรายย่อย ที่เป็นมาร์เก็ตไทเมอร์ จึงแตกต่างกับมาตรฐานของนักลงทุนสถาบัน หรือบริษัทหลักทรัพย์ หรือ นักลงทุนต่างชาติที่เป็นกองทุนขนาดใหญ่ซึ่งมีทิศทางการลงทุนที่สามารถครอบงำราคาได้ง่ายกว่า ซึ่งทำให้คำว่าหุ้นเลว และหุ้นดี มีลักษณะลื่นไหลและไม่ตายตัว

เมื่อความหมายของคำว่าหุ้นดี และหุ้นเลวทั้งในทางทฤษฎีและทางปฏิบัติ ยังคงคลุมเครือ ปริศนาทิศทางหุ้นและตลาดจะไปทางไหน ก็ตอบได้ค่อนข้างยากพอสมควร เพราะไม่มีมาตรฐานเดียว

ยามนี้ ยุทธการ “กระจุกเล่นหุ้นใหญ่” ทำให้ตลาดหุ้นของไทยไม่สามารถพูดได้เต็มปากเต็มคำนักเพราะว่า หุ้นเหล่านี้ มักจะติดแคชบาลานซ์ ยากมาก เนื่องจากมีปัจจัยเด่น 2 ประการคือ

-มักจะหลุดรอดไม่เข้าเกณฑ์ทั่วไปของตลาด สถานภาพของหุ้นเลว และหุ้นดี  ไม่ว่าค่าพี/อี หรือมูลค่าซื้อขายต่อวันจะสูงลิ่วแค่ไหนก็ตาม

-หุ้นใหญ่มักจะพ้นจากข้อกล่าวหาว่าเป็นหุ้นปั่น เพราะถือเป็นหุ้นบลูชิพ ผลประกอบการไม่ได้เลวร้ายอะไรมากมาย ที่บรรดานักลงทุนระดับ “แมงเม่า” ไม่กล้าเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย หากไม่มีทุนหน้าตักเยอะเพียงพอ

สภาพอย่างนี้ เป็นสิ่งที่จะอยู่คู่กับตลาดหุ้นไทยไปอีกนานพอสมควร แม้ว่าโดยข้อเท็จจริง ยามนี้ จะเกิดมาจากปัจจัยภายนอกมากกว่าภายใน โดยเฉพาะเรื่องของกระแสทุนท่วมโลกที่ยังไม่มีวิธีการทำให้ลดปริมาณลง ที่จะสร้างแรงกดดันให้เกิด “ห่วงโซ่แห่งหายนะ” อีกนานหลายปี (อัตราดอกเบี้ยต่ำติดพื้น เงินเฟ้อไม่กระเตื้อง การลงทุนภาคการผลิตและการจ้างงานเพิ่มต่ำ ส่งผลให้ตลาดหุ้นกลายสภาพเป็นฟองสบู่) ซึ่งยังผลให้ในระยะสั้น ขาลงแบบตลาดหุ้นพังทลาย มีโอกาสค่อนข้างต่ำตามความมหึมาของฟันด์โฟลว์ที่ท่วมโลก

 

Back to top button