กับดัก หรือ ประตูสวรรค์

การเมืองอเมริกันที่ส่อเค้าว่าบารมีของโดนัลด์ ทรัมป์ เริ่มเสื่อมถอยลง มีผลทำให้เกิดผลพวง 2 เรื่องคือ 1) ค่าดอลลาร์เสื่อมลงรุนแรง 2) ดัชนีตลาดหุ้นถูกถ่วงรั้งขาขึ้นจากปริวิตกของกองทุนทั้งหลายที่เริ่มกังขาต่อ "ทรัมป์ เอฟเฟ็กต์" มากขึ้น


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล

การเมืองอเมริกันที่ส่อเค้าว่าบารมีของโดนัลด์ ทรัมป์ เริ่มเสื่อมถอยลง มีผลทำให้เกิดผลพวง 2 เรื่องคือ 1) ค่าดอลลาร์เสื่อมลงรุนแรง 2) ดัชนีตลาดหุ้นถูกถ่วงรั้งขาขึ้นจากปริวิตกของกองทุนทั้งหลายที่เริ่มกังขาต่อ “ทรัมป์ เอฟเฟ็กต์” มากขึ้น

เรื่องแรกสำคัญกว่าเพราะมีผลกระทบต่อการไหลเวียนของกระแสฟันด์โฟลว์จากทุนท่วมโลก

หากตั้งคำถามว่า เศรษฐกิจไทยมีวิกฤตบาทแข็งหรือยัง คำตอบจากผู้บริหารจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะบอกว่าไม่มีทาง เป็นไปไม่ได้ เพราะค่าบาทไม่ได้แข็งเทียบกับเงินสกุลอื่นๆ แต่ดอลลาร์อ่อน

หากถามต่ออีกว่า หากค่าบาทเทียบดอลลาร์แข็งมากใกล้ระดับ 30.00 บาทต่อดอลลาร์ จะมีทางออกจากกับดักดอลลาร์อ่อน (ซึ่งทำให้บาทแข็งที่สุดในรอบ 3 ปียามนี้) อย่างไรบ้าง

คำตอบยังไม่ชัดเจน นอกจากคำแนะนำให้ผู้ที่ทำธุรกรรมและการค้าระหว่างประเทศทำการซื้อความเสี่ยงเอาไว้กับสถาบันการเงิน ยอมเสียค่าธรรมเนียม “กินเปล่า” ไปเรื่อยๆ

ข้อเท็จจริงเรื่องค่าบาทในขณะนี้และอนาคต เตือนให้คนที่เกี่ยวข้องทางตรงและอ้อมว่า ค่าบาทมีโอกาสที่แข็งค่าต่ำกว่า 31.00 บาทต่อดอลลาร์ได้ ซึ่งน่าจะกินเวลานานพอสมควร อาจจะถึง 6 เดือนข้างหน้า ไม่ใช่เพราะเศรษฐกิจไทยดีขึ้นมากมาย หรือต่างชาติเชื่อมั่นเมืองไทยมากเพราะรัฐบาลจากการรัฐประหารสร้างเสถียรภาพทุกด้านได้ดีกว่ารัฐบาลจากการเลือกตั้ง แต่เพราะค่าดอลลาร์อ่อนจากหลายสาเหตุในสหรัฐฯ

ตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดสิ้นปี 2560 ของไทย ที่บันทึกโดย ธปท. ระบุว่า มีค่าเพียง 0.6% สะท้อนว่าข้อสรุปของสำนักพยากรณ์ทางเศรษฐกิจ (ที่ไม่นับรวมตัวเลข “โม้แหลก” ของสมคิด และทีมงาน)

ที่ว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามกำลังซื้อที่ยังไม่เข้มแข็งนัก โดยเฉพาะของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่รายได้ยังไม่ฟื้นตัวชัดเจน แม้การลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ปรับดีขึ้นในหลายธุรกิจและมีแนวโน้มขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่การลงทุนภาครัฐยังเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ยังจะดำรงต่อไป

ความเปราะบางทางเศรษฐกิจ ที่ตรงกันข้ามกับคำพยากรณ์ (หมอเดา) ของเหล่านักวิเคราะห์ ทำให้คำถามเรื่องฟองสบู่ตลาดหุ้นเป็นประเด็นหลัก ที่สวนทางกับการไหลเข้าของทุนต่างชาติคึกคัก ดังขึ้นมาอีก

สัญญาณเตือนเรื่องฟองสบู่เศรษฐกิจ มีหลายมุมมอง และไม่มีข้อยุติ ดังนี้

– ตัวเลขผลประกอบการของกลุ่มธนาคารที่ต่ำกว่าคาด และบางรายต่ำมาก สวนทางกับราคาหุ้น แม้จะมีข้ออ้างว่าเพราะต้องตั้งสำรองเผื่อการบันทึกบัญชีระบบใหม่ IFRS(9) ที่จะเริ่มบังคับใช้จริงต้นปี 2562 ก็แสดงว่า มีความเปราะบางซ่อนเร้นอยู่ที่ไม่อาจปิดได้มิด โดยเฉพาะเรื่อง NPLs

– คำเตือนจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์ ต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เติบโตร้อนแรงและเสี่ยงต่อภาวะฟองสบู่ เนื่องจากเป็นการเติบโตมาจากจำนวนเงินที่ปล่อยกู้ (จากเงินฝากที่ท่วมล้นธนาคารพาณิชย์ ไม่ได้เติบโตจากความเข้มแข็งของผู้ประกอบการทั้งหมด หรือไม่ได้มาจากกำลังซื้อจริง ถึงขั้นปรารภว่าอาจถึงขั้นต้องหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย และธนาคารพาณิชย์ต่างๆ เกี่ยวกับการปล่อยสินเชื่อในภาคอสังหาริมทรัพย์ เพื่อเสนอแนะเชิงนโยบายที่เหมาะสมต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในการกำกับดูแลภาคอสังหาริมทรัพย์อย่างเหมาะสมต่อไป

– คำเตือนของนายบัณฑิต นิจถาวร ที่ระบุประเด็นความเสี่ยงของภาวะฟองสบู่ขณะนี้ 3 ด้าน 1.สภาพคล่องทางการเงินที่มีมาก ที่เกิดจากการอัดฉีดของธนาคารกลาง ทั้งในรูปอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมากและการปล่อยสภาพคล่องมากกว่า 100 ล้านล้านดอลลาร์ เทียบได้เท่ากับ 1.5 เท่าของรายได้ประชาชาติรวมทั้งโลก 2.สภาพคล่องที่ทำให้เกิด “เงินต้นทุนต่ำ” ได้ถูกใช้ประโยชน์ในรูปของสินเชื่อ ทำให้ตัวเลขมูลค่าก่อหนี้ของบริษัทธุรกิจทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น เฉพาะในบริษัทธุรกิจสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 35% และหนี้เงินกู้จำนวนมาก ถูกใช้เพื่อซื้อคืนหุ้นบริษัทของตนเอง ทำให้ตัวเลขกำไรต่อหุ้นดีขึ้น มีการคำนวณว่ากว่าร้อยละ 70 ของกำไรต่อหุ้นที่เพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ปี 2012 พร้อมจะเป็น “ส้นเท้าอาคีลีส” ได้ทุกเมื่อ 3. สภาพคล่องล้นเกิน ที่มีมากได้ถูกนำไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า ผลลัพธ์คือ ความต่างระหว่าง “หุ้นดี-หุ้นเน่า” แคบลงหรือไม่ต่างกันเลย

แม้หลายคนอาจจะเชื่อว่า ปริมาณทุนส่วนเกินท่วมโลกจะไม่ทำให้วิกฤตตลาดหุ้นเกิดขึ้นง่ายเหมือนในอดีต แต่ค่าดอลลาร์ที่อ่อนยวบ มีผลทำให้ราคาหุ้นในตลาดเกิดใหม่รวมทั้งไทยตกเป็นเหยื่อของภาวะฟองสบู่ได้ง่ายขึ้น

หากยังคงไม่ลืมกัน หนึ่งในนโยบายเศรษฐกิจของ โดนัลด์ ทรัมป์ (ภายใต้นโยบายใหญ่ “ทำให้อเมริกายิ่งใหญ่อีกครั้ง”) คือการทำให้ค่าดอลลาร์อ่อน ซึ่งที่ผ่านมา 1 ปี ถือว่าบรรลุเป้าหมายระดับหนึ่ง จากการที่เฟดฯล้มเหลวขึ้นดอกเบี้ยตามทฤษฎีสกัดเงินเฟ้อ

ผลของการแต่งตั้งประธานเฟดฯคนใหม่ แทนนางเจเน็ต เยลเลน  ก็สะท้อนว่านโยบายค่าดอลลาร์ต่ำน่าจะยังดำเนินต่อไปในปีนี้

คำถามคือ หากดอลลาร์ต่ำตลอดปี ดัชนีตลาดหุ้นไทยจะพุ่งถึงขั้นเป็นฟองสบู่แค่ไหน เพราะยามนี้ นักวิเคราะห์ตลาดหุ้นไทยเกือบทุกสำนัก พากันมองข้าม 1,900 จุดไปเสียแล้ว

ความเขื่อมั่นดังกล่าวจะเป็นมายาภาพหรือไม่ ขึ้นกับมุมมองและความเชื่อว่า บาทแข็งเป็นกับดัก หรือเป็นประตูสวรรค์

 

Back to top button