แบงก์(ยัง)น่าซื้อ  

กลุ่มธนาคารพาณิชย์แจ้งผลประกอบการปี 2560 กันออกมาครบแล้ว ธนาคารบางแห่งทำกำไรได้มากกว่าคาดการณ์ แต่บางแห่งก็ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์ประเมินไว้


ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร

กลุ่มธนาคารพาณิชย์แจ้งผลประกอบการปี 2560 กันออกมาครบแล้ว

ธนาคารบางแห่งทำกำไรได้มากกว่าคาดการณ์

แต่บางแห่งก็ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์ประเมินไว้

ล่าสุดแบงก์กรุงไทย หรือ KTB กำไรไตรมาส 4/2560 วูบเหลือ 4,813 ล้านบาท ลดลง 35%

ส่วนงบปี 2560 กำไรลงมาเหลือ 22,445 ล้านบาท ลดลง 30%

เช่นเดียวกับธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) และธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ที่กำไรไตรมาส 4 ปรับลงมาค่อนข้างมาก ทำให้ตัวเลขงบฯ ปี 2560 แสดงกำไรเติบโตลดลง

นายแบงก์ทั้ง 3 แห่งบอกเหตุผลตรงกัน

นั่นคือ มีการตั้งสำรองหนี้ฯ ค่อนข้างมากจากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL เพิ่มขึ้น

และยังตั้งสำรองหนี้ฯ ไว้ล่วงหน้าเพื่อรองรับมาตรฐานบัญชีใหม่ตาม IFRS9

IFRS9 นี่ถือว่าสำคัญมาก

เพราะน่าจะเป็นแรงกดดันงบธนาคารบางแห่งในปี 2561 อีกตลอดปี

นักวิเคราะห์มีมุมมองที่แตกต่างกันไปบ้างสำหรับกำไรของกลุ่มแบงก์ใหญ่ทั้ง KTB, KBANK และ SCB

KBANK มีการตั้งสำรองหนี้ฯ ในไตรมาส 4/2560 ไว้สูงมาก

หลักๆ ก็เพื่อรองรับกับ IFRS9

ทำให้ อัตราส่วนการตั้งสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage Ratio) ขึ้นมาเป็น 148%

ส่วนของ KTB ยังอยู่ที่ 121.71%

แต่ดูเหมือนว่าในบรรดา 4 ธนาคารขนาดใหญ่ แบงก์กรุงเทพ หรือ BBL จะแกร่งสุด

ก่อนหน้านี้ BBL เคยเป็นธนาคารที่มีเงินกองทุนเข้มแข็งมาก

ทว่าภายหลังถูก TISCO แซงขึ้นมา หลังจาก BBL มีหนี้เสียเข้ามาเพิ่ม และเป็นแรงกดดันที่จะต้องตั้งสำรองหนี้ฯเพิ่ม ทำให้ตัวเลขเปอร์เซ็นต์สำรองหนี้ฯ ลดลง

ส่วนในสิ้นปี 2560 สถานการณ์ของ BBL เริ่มดีขึ้น

แม้ว่าหนี้เสียจะเพิ่มจาก 3.8% มาเป็น 3.9%

แต่ตัวเลข Coverage ratio ก็เพิ่มขึ้นมาเป็น 160% อยู่ในสถานการณ์ที่ ชิล ชิล… ครับ

ตัวเลขนี้สูงเป็นอันดับ 2 ของกลุ่มธนาคาร (รองจากทิสโก้) ด้วย

ถือว่าอยู่ในระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่ม และกลับมาโดดเด่น

นักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หลายแห่ง ต่างกลับคำแนะนำเป็น “ซื้อ” สำหรับ BBL จากเงินกองทุนที่เข้มแข็ง และตัวเลขสำรองหนี้ฯ ที่เพิ่มอย่างมีนัยสำคัญ

ตัวเลขสำคัญทางการเงินเหล่านี้

ทำให้ BBL ถูกมองว่า ไม่น่าจะเป็นแรงกดดันต่อการตั้งสำรองหนี้ฯ ที่เพิ่มขึ้นมากนักเพื่อรองรับกับ IFRS9

หากดูจากตัวเลขต่างๆ ของแบงก์ใหญ่ 4 แห่ง

อาจจะกดดันราคาหุ้นในช่วงสั้น

แต่ระยะยาวแล้ว นักวิเคราะห์เชื่อมั่นว่า แบงก์เหล่านี้จะรับมือกับมาตรฐานบัญชีใหม่ได้

และก็รับมือกับหนี้เสียต่างๆ ได้

ในระยะปานกลางถึงยาว หุ้นธนาคารขนาดใหญ่ก็ยังน่าลงทุน โดยไล่ลำดับเริ่มจาก BBL KBANK SCB และ KTB

มีประเด็นที่น่าสนใจคือ ที่ผ่านมานั้น BBL ให้ความสำคัญกับเรื่องการการตั้งสำรองหนี้ฯ ในระดับสูงๆ ไว้ก่อน

เช่นเดียวกับ TMB และ TISCO

ซึ่งจะเห็นว่า การตั้งการ์ดให้แน่นๆ ไว้แบบนี้

ในระยะกลางถึงยาวจะเป็นปัจจัยเชิงบวกต่อหุ้นธนาคารต่างๆ เหล่านั้น

สังเกตได้จาก TMB ที่ถูกมองว่า เงินสำรองหนี้ฯในระดับสูงในปัจจุบัน เพียงพอต่อการรับมือกับ IFRS9

ราคาหุ้นวิ่งตอบรับมาตั้งแต่ปลายปี 2560 มาจนถึงขณะนี้ โดยขึ้นมายืนเหนือระดับ 3.00 บาทได้ ขณะที่ราคาเป้าหมาย IAA Consensus อยู่ที่ 3.30 บาท

นักลงทุนมีความมั่นใจกับหุ้น TMB เพิ่ม

ส่วน TISCO ราคาได้ปรับขึ้นมาสูงเช่นกันแต่ในระยะสั้นน่าจะผ่าน 100 ลำบาก แม้จะมีบางโบรกฯ ให้ราคาเป้าหมายเกิน 100 บาท (IAA Consensus ที่ 95 บาท)

แต่โดยสรุปแล้ว ผ่านมาถึงตอนนี้ ไม่มีธนาคารแห่งไหนน่าเป็นห่วงครับ

แม้กำไรจะวูบๆ ไปบ้าง

KTB แม้กำไรจะต่ำกว่าคาดเยอะ

แต่เท่าที่ดูจากราคาหุ้นวานนี้ จะมีแพนิกในช่วงเปิดตลาดบ้าง แต่สักพักราคาก็ดีดกลับ ปิดตลาดยืนเหนือ 20.00 บาทได้

และราคาหุ้น  ณ ปัจจุบัน ก็ยังให้ผลตอบแทนเงินปันผลสูงสุดในกลุ่ม 4 แบงก์ใหญ่ที่ 4.20%(ต่อปี)

หุ้นกลุ่มธนาคารนั้น

นักวิเคราะห์มองว่า ยังไงก็ยังซื้อได้

Back to top button