นิติรัฏฐาวิบัติ

“ก็ตอนนี้เราเป็นรัฏฐาธิปัตย์ จะเอาอะไร” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กล่าวถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่ม “คนอยากเลือกตั้ง” และนักกิจกรรม “เดินมิตรภาพ” ที่ถูกเอาผิดฐานขัดคำสั่ง คสช.


ทายท้าวิชามาร : ใบตองแห้ง

“ก็ตอนนี้เราเป็นรัฏฐาธิปัตย์ จะเอาอะไร” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กล่าวถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่ม “คนอยากเลือกตั้ง” และนักกิจกรรม “เดินมิตรภาพ” ที่ถูกเอาผิดฐานขัดคำสั่ง คสช.

ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีธรรมศาสตร์ แย้งว่า คสช.ไม่ใช่รัฏฐาธิปัตย์ แม้ศาลฎีกาเคยตัดสินว่า ใครยึดอำนาจได้ย่อมเป็นรัฏฐาธิปัตย์ เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ทำอะไรก็ไม่มีวันผิด ออกประกาศคำสั่งอะไรมาบังคับประชาชนก็ได้ทั้งสิ้น โดยศาลยอมรับเป็นกฎหมาย

แต่ปัจจุบัน รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้แล้ว มาตรา 3 บัญญัติว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย คสช.จึงไม่ใช่รัฏฐาธิปัตย์ อันที่จริง รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ก็บัญญัติว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย คสช.จึงไม่ใช่รัฏฐาธิปัตย์มาตั้งแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2557 เพียงแต่การที่ คสช.ยังมีอำนาจไม่จำกัด ก็เพราะยังมี ม.44 อยู่ในบทเฉพาะกาล

ฟังแล้วชาวบ้านก็งง ว่าปัจจุบันเราปกครองด้วยรัฏฐาธิปัตย์ ระบอบใช้อำนาจตามอำเภอใจ หรือปกครองด้วยระบบกฎหมาย มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด

ในความเป็นจริงไม่ต้องงง เพราะเราปกครองด้วยรัฏฐาธิปัตย์มาตลอด 4 ปี แต่กลับอ้างว่ารัฏฐาธิปัตย์เป็นกฎหมาย ประชาชนต้องเคารพกฎหมาย ซึ่งก็คือประกาศคำสั่ง คสช.ทั้งที่ขัดรัฐธรรมนูญ

เราจึงเห็นอะไรพิลึกพิกล กลับไปกลับมาระหว่างกฎหมายกับรัฏฐาธิปัตย์ เช่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บอกจะไม่ก้าวก่าย สนช.ที่ร่างกฎหมายเลือกตั้งยืดเวลา 90 วัน ทั้งที่ท่านเพิ่งใช้ ม.44 แก้กฎหมายพรรคการเมือง และตั้ง สนช.มากับมือ

รัฐประหาร 2557 พัฒนามาจาก 2549 รู้จักอ้างกฎหมายอำพรางรัฏฐาธิปัตย์ อุปโลกน์อำนาจไม่ชอบธรรมให้ดูเหมือนชอบธรรม เช่น ฉีกรัฐธรรมนูญแต่ยังมีองค์กรอิสระ ใช้ ป.ป.ช.สนช.ที่ตั้งเองถอดถอนเอาผิดนักการเมือง บอกว่าไม่ก้าวก่ายอำนาจตุลาการ แต่ออกคำสั่งเป็นกฎหมายให้ศาลตัดสิน ใช้ ม.44 ตรวจค้นจับกุมโดยไม่ต้องขอหมายศาล เอาตัวไปกักไปสอบในค่ายทหารแล้วค่อยส่งศาล

หรืออ้างกฎหมายบวก ม.44 ออกคำสั่งยึดทรัพย์โดยไม่รอคำพิพากษาของศาล โดยที่ยังไม่รู้ว่าศาลจะพิพากษาให้ยึดหรือให้คืนทรัพย์สิน แต่ทำราวกับว่ารัฐบาลมีอำนาจโดยชอบธรรม

การใช้กฎหมายยังตีความอย่างกว้างขวาง มุ่งใช้ข้อหาร้ายแรงกับผู้ถูกกล่าวหา เช่น ทวงคำมั่นเลือกตั้งเป็นความผิดต่อความมั่นคงของชาติ อ.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ แชร์ภาพกระเป๋าภริยานายกรัฐมนตรี มีความผิดฐาน “ทำให้ประชาชนเสียหาย” ทั้งที่หากภริยานายกฯ เห็นว่าหมิ่นประมาท ก็ควรใช้สิทธิฟ้องเองเหมือนยิ่งลักษณ์ อภิสิทธิ์ ฟ้องผู้กล่าวหาให้เสียหาย

คนส่วนใหญ่จะมองว่าไม่ใช่เรื่องของตัว พวกอยากแส่หาเรื่องเดือดร้อนก็ซวยไป แต่กลับไม่สังเกตว่า 4 ปีที่ผ่านมา รัฐราชการใช้อำนาจอย่างเข้มข้น อ้างกฎหมายแล้วใช้ดุลพินิจได้กว้างขวาง ส่งผลกระทบต่อประชาชนทั่วไป ทั้งการทำมาหากินและเมื่อเกิดคดีความในกระบวนการยุติธรรม เป็นภาพสะท้อนของการที่ไม่มีประชาธิปไตย แล้วประชาชนไม่มีอำนาจต่อรองกับรัฐราชการ

สังคมไทยไม่ค่อยแยแสเรื่องหลักการ ระบบกฎหมาย หรือเหตุผล มุ่งประโยชน์นิยมเฉพาะหน้า จึงไม่เห็นว่าความวิปริตเชิงระบบที่เกิดขึ้น 4 ปีมานี้เป็นเรื่องสำคัญ หรือบ้างก็เห็นเป็นเรื่องการเมือง ไม่เกี่ยวกับตัว

คนไทยไม่ตระหนักว่าวิบัติ 4 ปีที่ผ่านมาได้ทำลายระบบกฎหมายลงย่อยยับ จนกลับไปสู่การปกครองในระบอบรัฐธรรมนูญไม่ได้ อยู่ได้ด้วยการใช้อำนาจบังคับเท่านั้น 

และวันนี้ อำนาจบังคับนั้นก็กำลังเสื่อมลงๆ แล้วอนาคตล่ะ จะเป็นอย่างไร

Back to top button