เปิดกลุ่มหุ้น“หลุมหลบภัย” หลัง SET รูดหนัก! ชู 3 หุ้นเด็ดเด่นกลุ่ม

เปิดกลุ่มหุ้น“หลุมหลบภัย” หลัง SET รูดหนัก แนะสอย 3 หุ้นเด็ดเด่นกลุ่ม


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดัชนีหุ้นไทยเปิดตลาดภาคเช้าวันนี้(5)ร่วงหนักที่ระดับ 1,799.02 จุด ลดลง 28.33 จุด หรือ 1.55% สูงสุดที่ระดับ 1,799.44 จุด ต่ำสุดที่ระดับ 1,797.68 จุด ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 8,839.42 ล้านบาท

ทั้งนี้ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงอย่างหนักตามตลาดหุ้นภูมิภาค สำหรับปัจจัยที่ทำให้ดัชนีปรับตัวลงมาจากแรงกดดันหลังดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงหนักสุดในรอบกว่า 1 ปีเมื่อวันศุกร์

สำหรับทิศทางดัชนีตลาดหุ้นไทย ณ เวลา 11.08 น. อยู่ที่ระดับ  1,803.68 จุด ลบ 23.67จุด หรือลดลง 1.30% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 39,351.95 ล้านบาท

ทั้งนี้ภาวะดังกล่าวโบรกฯชี้ระยะสั้นให้ระวังกลุ่มหุ้นที่ต่างชาติมีสถานะการถือครองปรับเพิ่มขึ้นในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา และระวังหุ้นที่ลงทุนผ่าน Block Trade สูง ดังนั้นจึงแนะนำหุ้นหลบภัยไปยังกลุ่มหุ้น ธนาคาร นิคม และค้าปลีก โดยแนะ BBL AMATA CPALL เป็นหุ้นเด่น

บล.กสิกรไทย ระบุในบทวิเคราะห์วันนี้ (5ม.ค.) ว่า ตลาดตื่นตระหนก US 10Y Bond Yield พุ่ง แต่เป็นการขึ้นจากเศรษฐกิจที่ขยายตัวแข็งแกร่งมองเป็นโอกาสมากกว่าอุปสรรค โดย SET Index วันนี้จะปรับลดลงตามในช่วงสั้น (คาดว่าจะไม่ต่ำกว่า 1,804 จุด) ควรระวังหุ้นที่นักลงทุนต่างประเทศเพิ่มการถือครองและหุ้นที่วงเงินสะสมใน Blok Trade  สูง  และให้หลบมาเน้นสะสม BBL AMATA CPALL

ดอกเบี้ยพุ่งจากเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง มองเป็นโอกาสมากกว่าอุปสรรค  : ตัวเลขชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐดีอย่างต่อเนื่อง การจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 2 แสนตำแหน่ง (มากกว่าตลาดคาดไว้ที่ 1.8 แสนตำแหน่ง) ขณะที่การว่างทรงตัวที่ 4.1% ส่วนค่าจ้างปรับเพิ่มขึ้น 2.9% YoY

KS Research มีมุมมองตัวเลขการจ้างงานและค่าจ้างที่ดีกว่าคาดหมาย ได้ทำให้ตลาดเริ่มให้น้ำหนักเรื่องเงินเฟ้อเพิ่มมากขึ้น ซึ่งผิดไปจาก 10 ปีที่ผ่านมาที่ตลาดพูดแต่เรื่องเงินฝืด เมื่อกระแสเปลี่ยนจึงได้เห็นการตอบรับของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับพุ่งขึ้นด้วยอาการตกใจ (ปรับเพิ่มขึ้นอีก 7 bps เมื่อวันที่ 2 ก.พ. และเป็นการขึ้น 4 สัปดาห์ติดต่อกัน 45 bps) ล่าสุดมาอยู่ที่ 2.856% ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี

คาดว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ (US 10Y Bond Yield) มีแนวโน้มจะขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐจะผันผวนรุนแรงจากการขายทำกำไรจนกระทั้งไปถึงช่วงใกล้การประชุม FOMC 20-21 มี.ค.61 ซึ่งจะมีการจัดแถลงหลังการประชุม โดยคุณ เจโรม โพเวล (รับตำแหน่งวันนี้) จะเริ่มผู้แถลงในฐานะเป็นประธาน Fed เป็นครั้งแรก ต้องติดตามว่าจะมีการเปลี่ยนท่าทีไปจากยุคของคุณ เยลเลน หรือไม่ นอกจากนั้นจะมีการเปิดเผยคาดการณ์ดอกเบี้ยของคณะกรรมการ Fed จะเป็นตัวชี้ขาดว่า Fed จะขึ้นดอกเบี้ยมากกว่า 3 ครั้งในปีนี้หรือไม่

ทั้งนี้ดอกเบี้ยและเงินเฟ้อขาขึ้นในรอบนี้เกิดขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังขยายตัว ทำให้ความผันผวนในตลาดทุนจะเป็นเพียงแค่ช่วงระยะเวลาสั้นๆ เมื่อตลาดเกิดการขายทำกำไรไปได้ซักพักและปรับตัวได้ สุดท้ายกระแสเงินจะเข้าหาตลาดหุ้นและทำดัชนี New High อีกครั้ง

นักลงทุนต่างประเทศมีโอกาสขายในตราสารหนี้อย่างต่อเนื่อง : อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของไทยอยู่ต่ำกว่าของสหรัฐผิดปกติรุนแรง (TH 10Y – US 10Y Bond Yield) ล่าสุดอยู่ที่ -0.48% ต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี ขณะที่ US 10Y Bond Yield ยังมีแนวโน้มที่จะขึ้นไม่หยุด ทำให้ตลาดเริ่มมองกันแล้วว่า TH 10Y Bond Yield จะต้องขึ้นตามในไม่ช้า โดยจะเห็นนักลงทุนต่างประเทศเริ่มขายในตราสารหนี้กันแล้ว 6 วันที่ผ่านมาขายสุทธิไป 1.9 หมื่นล้านบาท

KS Research มองกระแสการขายในตราสารหนี้ยังมีอีกมาก เนื่องจาก 2 ปีที่ผ่านมาต่างชาตินำเงินมาพักในตราสารหนี้ (ยุคดอกเบี้ยขาลง) ไว้มากถึง 7.5 แสนล้านบาท หากทำการขายอย่างจริงจังคาดว่าจะมีผลทำให้ค่าเงินบาทพลิกกลับไปอ่อนค่าจนทดสอบ 32 บาทต่อดอลลาร์ในช่วงระยะเวลาอันสั้น

ความผันผวนในตลาดตราสารหนี้ จะลามมากระทบต่อ Sentiment การลงทุนใน SET ในช่วงต้น แต่มองว่าจะเป็นแค่ระยะสั้นๆเท่านั้น ด้วยแนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศที่กำลังฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง กำไรบริษัทจดทะเบียนยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้อาจมีเม็ดเงินบางส่วนจากตราสารหนี้ย้ายมาพักยังตลาดทุน โดยมุ่งเน้นไปยังกลุ่มที่จะตอบสนองต่อสภาวะเงินเฟ้อและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งก็คือกลุ่มธนาคารพาณิชย์ นิคมอุตสาหกรรม และค้าปลีก

ดังนั้นกลยุทธ์การลงทุน: หลบภัยไปยังกลุ่ม ธนาคาร นิคม และค้าปลีก BBL AMATA CPALL เป็นหุ้นเด่น โดย port ระยะกลางให้ถือ Let profit run ในธีมการลงทุน 1) วัฐจักรการลงทุน นิคมฯและขนส่ง AMATA WHA JWD ธนาคาร BBL TISCO รับเหมาฯ STEC PYLON  2) การฟื้นตัวของอุปโภคบริโภคในประเทศ ค้าปลีก CPALL CPN ROBINS อสังหา SC SPALI การเงิน MTLS 3) การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและหุ้นชดเชยเงินเฟ้อ พลังงาน PTT PTTEP GUNKUL ปิโตรเคมี PTTGC IVL  

Back to top button