TTCL ปริศนา แม่ทิ้งลูก

เพิ่งจะมีข่าวดีเมื่อสัปดาห์ก่อนนี้เอง ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทก่อสร้างโรงงานแบบชำนาญเฉพาะทางอย่างบริษัท ทีทีซีแอล จำกัด (มหาชน) หรือ TTCL ก็ขายหุ้นที่ถือมาตั้งแต่ก่อตั้งก่อนเข้าตลาดชนิด "ทั้งกระบิ" ไม่มีเหลือหลอ ....จะให้ไม่งงกันได้อย่างไร


แฉทุกวันทันเกมหุ้น

เพิ่งจะมีข่าวดีเมื่อสัปดาห์ก่อนนี้เอง ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทก่อสร้างโรงงานแบบชำนาญเฉพาะทางอย่างบริษัท ทีทีซีแอล จำกัด (มหาชน) หรือ TTCL ก็ขายหุ้นที่ถือมาตั้งแต่ก่อตั้งก่อนเข้าตลาดชนิด “ทั้งกระบิ” ไม่มีเหลือหลอ ….จะให้ไม่งงกันได้อย่างไร

เมื่อมีคำถาม แล้วหาคำตอบไม่ได้ ผู้ถือหุ้นระดับแมงเม่าก็ต้องขายหุ้นออกตามสูตร….โชคดีที่ตายก่อน

ราคาหุ้น TTCL ที่ร่วงแรงจนถึงจุดต่ำสุดของวันเมื่อวานนี้ 25.66% แล้วรีบาวด์กลับมาปิดที่ระดับติดลบ 11% เศษ โดยมีคำอธิบายว่า วิตกกังวลว่าความน่าเชื่อถือทางการเงินของ TTCL จะสั่นคลอน เมื่อถูกแม่ทิ้ง เพราะใครๆ ก็รู้ว่า เครดิตของ Toyo Engineering แห่งญี่ปุ่นนั้นมากแค่ไหน

เวทีนี้….จากนี้ไป….ไม่มีพี่เลี้ยงที่คอยเสี้ยมสอน

เมื่อวานนี้ ก่อนเปิดทำการซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ฯ ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับหนึ่งของ TTCL คือToyo Engineering Cooperation ได้แจ้งว่าทำการขายหุ้นที่มีอยู่ทั้งหมดออกจากมือ โดยไม่ระบุผู้ซื้อ และไม่ระบุราคาขาย

ต่อมา เอกสารของ ก.ล.ต. ระบุว่า โตโย เอ็นจีเนียริ่ง คอร์ปอเรชั่น ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับหนึ่งของ TTCL ทิ้งหุ้นทั้งหมดจำนวน 56 ล้านหุ้น หรือ 10.00% โดยแจ้งแบบรายงานการได้มาหรือจำหน่ายหลักทรัพย์ของกิจการ (แบบ 246-2) เป็นการจำหน่ายหลักทรัพย์บริษัท ทีทีซีแอล จำกัด (มหาชน) หรือ TTCL เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2561 คิดเป็นหลักทรัพย์ จำนวน 10.00% ของสิทธิการออกเสียงทั้งหมด ทำให้ไม่คงเหลือการถือครองหลักทรัพย์ในบริษัทดังกล่าว

ถือเป็นการ “ตัดบัวไม่เหลือเยื่อใย”… ลืมสิ้นความหลังครั้งวันวานที่เคยหวานเจี๊ยบ

พฤติกรรมเยี่ยงนี้ จะไม่ให้มีคำถามอะไรเลยคงไม่ได้ เพราะ 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้น TTCL ผันผวนวูบวาบผิดปกติอย่างมาก จากราคากลางเดือนมกราคมที่ระดับ 17.50 บาท แล้วไล่ราคากันจนถึง 21.50 บาท ตามมาด้วยมูลค่าซื้อขายที่หนาแน่น จนเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ ราคาก็ร่วงแรง หลังจากถูกตลาดขึ้นบัญชีหุ้นที่ต้องซื้อขายด้วยบัญชีเงินสด

ระหว่างขาลงของหุ้นใน 1 สัปดาห์มานี้ TTCL ก็สามารถรับรู้ข่าวดีเกี่ยวกับความคืบหน้าทางธุรกิจที่มีนัยสำคัญในอนาคต ประคองราคาเอาไว้บ้าง

ข่าวดีดังกล่าวได้แก่ กรณีที่ TTCL ได้ร่วมลงนามในหนังสือเพื่อดำเนินการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้า (Notice To Proceed–NTP) กับกระทรวงพลังงานไฟฟ้าและพลังงานสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ในการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าของโครงการ Ahlone เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าเป็นกรณีเร่งด่วน

โครงการดังกล่าว เป็นโครงการขยายกำลังการผลิตโรงไฟฟ้า Ahlone มีกำลังผลิตส่วนเพิ่มเป็นโรงไฟฟ้าขนาด 356 เมกะวัตต์ (MW) ประกอบด้วย Gas Turbine ขนาด 117 MW จำนวน 2 เครื่อง และ Steam Turbine Generator ขนาด 122 MW จำนวน 1 เครื่อง มูลค่าโครงการ 350 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.12 หมื่นล้านบาท

สถานที่ตั้งโครงการ อยู่ในสถานีโรงไฟฟ้า Ahlone เขตย่างกุ้ง ของเมียนมา ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) นำเข้า มีขนาดที่เก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซฯ 36,000 ลูกบาศก์เมตร มีสายส่ง ระยะทางยาวประมาณ 22.5 กิโลเมตร และมีท่อส่งก๊าซ ระยะทางยาวประมาณ 16 กิโลเมตร

โครงการดังกล่าว เป็นการต่อยอดการลงทุนในเมียนมาของ TTCL ที่ก่อนหน้านี้ มีโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังถ่านหินที่ Kayin ขนาด 1,280 MW มูลค่าโครงการ 9.8 หมื่นล้านบาท ซึ่ง TTCL ร่วมทุนกับรัฐบาลท้องถิ่นของเมียนมา โดย TTCL ถือหุ้น 95% และรัฐ Kayin ถือหุ้น 5% ภายใต้สัญญาสัมปทาน 40 ปี  โดยมีการวางแผนทางการเงินเอาไว้ว่า เงินลงทุนก่อสร้างจะมาจากกู้ยืม 75% และส่วนทุน 25% โดยจะเริ่มลงมือก่อสร้างก่อนสิ้นปี 2561

หากไม่เป็นเพราะข่าวลือเรื่องความเป็นไปได้ที่ต้องเพิ่มทุน เพราะว่านักวิเคราะห์ให้เหตุผลว่า…..ตัวเลขหนี้สินรวมกว่า 20,346.54 ล้านบาท และมีส่วนผู้ถือหุ้น 4,708.79 ล้านบาท เท่ากับมีค่าดี/อี ที่ 4.32 เท่า  ถือเป็นสภาพหนี้ท่วม ที่หากต้องลงทุนใหม่อีกกว่า 1.12 แสนล้านบาท เมื่อสิ้นงวดงบไตรมาสสาม ปี 2560 …..คงยากจะหาเจ้าหนี้ที่ไหนในโลกยินยอมให้กู้ หากไม่มีการเพิ่มทุนจากเดิม ที่มีทุนจดทะเบียนแค่ 560 ล้านบาท และไม่เคยเพิ่มเลยมาตลอดหลายปี … เรื่องก็คงเงียบกันไป

การขายหุ้น TTCL ทิ้งของ Toyo Engineering Cooperation จึงสมควรมีคำถาม 2 คำถามที่ไม่รู้ว่า โยงกันหรือไม่คือ 1) เพราะ Toyo Engineering Cooperation ไม่อยากเพิ่มทุนใหม่ (ด้วยเหตุผลที่ยังเป็นความลับดำมืด) จึงตัดช่องน้อยแต่พอตัว 2) ข่าวข้อตกลง TNP เป็น “ของปลอม” เพื่อดันราคา TTCL ขึ้นไปก่อนที่ฝ่ายญี่ปุ่นจะ “ออกของ”

ตอนนี้ทั้ง 2 คำถามยังไร้คำตอบ….แล้วก็ยังไม่รู้ว่าใครจะตอบ….เพราะยังไม่มีใครรู้ว่าคนซื้อหุ้นต่อจาก Toyo Engineering Cooperation เป็นใคร แล้ว มีเป้าหมายอะไร

ความพยายามใช้จินตนาการของนักวิเคราะห์ “ขาเชียร์” บางสำนักที่ว่า …. การขายหุ้นทิ้งของ Toyo Engineering Cooperation ไม่มีผลอะไรเพราะ 1) ที่ผ่านมา Toyo Engineering Cooperation มีส่วนช่วยในการได้งานไม่มาก (ยกเว้นเรื่องที่ฝ่ายญี่ปุ่นช่วยหนุนระดับ Credit Cost และการกู้กับสถาบันต่างชาติได้ดี) และ Backlog ในมือที่ TTCL มีอยู่ส่วนมากมาจากงานที่ TTCL ทำการ Bidding เอง….แม่ทิ้งๆ ขว้างๆ ทำให้ลูกไม่ได้เกาะแม่กินมาตลอด…ว่างั้นเถอะ 2) TTCL มีทีมผู้บริหารมีความแข็งแกร่ง

2 เหตุผลของขาเชียร์ที่ย้อนแย้งข้างต้น …ฟังแล้ว ทะแม่งหู เกินจะเชื่อ 

เอาเป็นว่าตอนนี้ รับทราบแค่ว่า จากนี้ไป TTCL ขาดหลังพิง เพราะถูก “ตัดแม่ ตัดลูก” ไปก่อนละกัน …..ซึ่งมองมุมกลับคือ เป็นอิสระเต็มตัว ต้องยืนบนขาทั้งสองเต็มที่ 

ดีไปอีกอย่าง

อิ อิ อิ

Back to top button