TTCL หนูโตแล้ว แม่ไม่ต้อง

การแถลงข่าวครั้งแรกของ บริษัท ทีทีซีแอล จำกัด (มหาชน) หรือ TTCL หลังเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้นครั้งสำคัญ นำโดย นายกอบชัย ธนสุกาญจน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้บริหารสายงานการเงินและบัญชี ผ่านไปแล้ว.....ภายใต้เงื่อนไขที่นักวิเคราะห์พากันออกมาบอกว่ามีทั้งบวกและลบ


แฉทุกวันทันเกมหุ้น

การแถลงข่าวครั้งแรกของ บริษัท ทีทีซีแอล จำกัด (มหาชน) หรือ TTCL หลังเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้นครั้งสำคัญ นำโดย นายกอบชัย ธนสุกาญจน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้บริหารสายงานการเงินและบัญชี ผ่านไปแล้ว…..ภายใต้เงื่อนไขที่นักวิเคราะห์พากันออกมาบอกว่ามีทั้งบวกและลบ

เรื่องที่ต้องให้ความสำคัญมาจากการที่ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับหนึ่งของ TTCL คือ Toyo Engineering Cooperation (หรือ TEC) ทำการขายหุ้นที่มีอยู่ทั้งหมดออกจากมือ โดยไม่ระบุผู้ซื้อ และไม่ระบุราคาขายจำนวน 56 ล้านหุ้น หรือ 10.00% โดยแจ้งแบบรายงานการได้มา หรือจำหน่ายหลักทรัพย์ของกิจการ ชนิด “สิ้นเยื่อใย” ไม่คงเหลือการถือครองหลักทรัพย์อีกแม้แต่น้อย

ผลลัพธ์คือราคาหุ้น TTCL ที่ร่วงแรงเสมือนใบไม้ร่วง โดยมีคำอธิบายว่าวิตกกังวลว่าความน่าเชื่อถือทางการเงินของ TTCL จะสั่นคลอน เมื่อถูกแม่ทิ้ง ทั้งที่กำลังมีงานใหม่รออยู่ข้างหน้าคือโครงการลงทุนนับแสนล้านบาทกับงานก่อสร้างโรงไฟฟ้าในเมียนมา 2 แห่ง ที่จะต้องเริ่มวางแผนก่อสร้างในกลางปีนี้เป็นต้นไป….เพราะใครๆ ก็รู้ว่า เครดิตของ Toyo Engineering แห่งญี่ปุ่นนั้นมากแค่ไหน

โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังถ่านหินที่ Kayin ขนาด 1,280 MW มูลค่าโครงการ 9.8 หมื่นล้านบาท ซึ่ง TTCL ร่วมทุนกับรัฐบาลท้องถิ่นของเมียนมา โดย TTCL ถือหุ้น 95% และรัฐ Kayin ถือหุ้น 5% ภายใต้สัญญาสัมปทาน 40 ปี  กับโครงการที่ TTCL ได้ร่วมลงนามในหนังสือเพื่อดำเนินการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้า (Notice To Proceed–NTP) กับกระทรวงพลังงานไฟฟ้าและพลังงานสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ในการขยายกำลังการผลิตโรงไฟฟ้า Ahlone เฟส 2 มีกำลังผลิตส่วนเพิ่มเป็นโรงไฟฟ้าขนาด 356 เมกะวัตต์ (MW) ประกอบด้วย Gas Turbine ขนาด 117 MW จำนวน 2 เครื่อง และ Steam Turbine Generator ขนาด 122 MW จำนวน 1 เครื่อง มูลค่าโครงการ 350 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.12 หมื่นล้านบาท…ล้วนเป็นงานที่ “เสี่ยงสูง กำไรสูง” ทั้งสิ้น

นายกอบชัย ระบุว่า กรณีที่ TEC ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ขายหุ้น TTCL ที่ถืออยู่ทั้งหมด พบว่าเป็นการขายให้กับนักลงทุนสถาบัน ผ่านทาง Nomura International HK Limited นั้น เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งทางการเงินของทาง TEC….ไม่มีผลกระทบกับการดำเนินงานของบริษัท

เหตุผลเพราะว่าผู้บริหารปัจจุบันของ TTCL ยังถือหุ้นเหนียวแน่น รวมกันถึง 27% และไม่มีแผนที่จะขายหุ้นดังกล่าวออกไป และบริษัทก็ยังสามารถดำเนินงานได้ตามปกติ ซึ่งหากในอนาคตจะมีโครงการร่วมมือกันระหว่าง TTCL กับทาง TEC ก็สามารถทำร่วมกันได้ หากผลประโยชน์เป็นที่พอใจ ….ที่สำคัญ การขายหุ้นดังกล่าวนั้นไม่ได้เกิดจากการทะเลาะกันภายใน

เพียงแต่ในส่วนของ TTCL อาจจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลที่เป็นคณะกรรมการบริษัทให้เป็นไปตามกระบวนการ…โดยลดสัดส่วนของตัวแทนจาก TEC จำนวน 1 คนลงไป

พูดอ้อมๆ ว่า….ลูกโตแล้ว…ทางใครทางมันจ้าาาาา…เข้าใจตรงกันนะ

นอกจากนั้นแล้ว นายกอบชัยยังคงยืนกรานเป็นกระต่ายขาเดียว ว่าอนาคตจากนี้ไปของ TTCL ยังเดินหน้าต่อ มีแผนเตรียมยื่นประมูลงานใหม่ภายในปี 2561 มูลค่ารวมประมาณ 125,000 ล้านบาท โดยจะทยอยรับรู้ผลการประมูลในปี 2561 มูลค่าประมาณ 40,000 ล้านบาท ซึ่ง TTCL คาดว่าจะได้งานมูลค่าไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท เพื่อสร้างการเติบโตที่แข็งแกร่ง

ทั้งนี้ TTCL ในปัจจุบันมีมูลค่างานในมือรอรับรู้รายได้รวมประมาณ 12,000 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยรับรู้รายได้ในปี 2561 ประมาณ 55% ขณะที่คาดว่าปี 2561 จะมีรายได้เติบโต 20% โดยยังมีรายได้จากโครงการโรงไฟฟ้า Ahlone เฟส 1 กำลังการผลิต 120 เมกะวัตต์ (MW) ประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อปี

ความคืบหน้าโครงการโรงไฟฟ้า Ahlone เฟส 2 ขณะนี้ TTCL อยู่ระหว่างพิจารณาหาแหล่งเงินทุน ซึ่งมีหลายช่องทาง เช่น การจัดตั้งกองทุนสาธารณูปโภค การแปลงสินทรัพย์เป็นทุน การออกตราสารหนี้ และการเพิ่มทุนแบบมอบอำนาจทั่วไป (General Mandate) เป็นต้น…..เพียงแต่ยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะใช้รูปแบบไหน เพราะยังมีอีกหลายปัจจัยมาใช้ประกอบการพิจารณา แต่คณะกรรมการบริษัทจะเร่งสรุปแนวทางของแหล่งเงินทุนภายในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2561 นี้

“การเพิ่มทุนเป็นเพียงหนึ่งในทางเลือกเท่านั้น” นายกอบชัยพูดเสียงดังฟังชัด 

ขณะที่โรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่รัฐ Kayin นั้น TTCL กำลังอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตร เพื่อเข้ามาร่วมลงทุน และคงต้องใช้ระยะเวลาค่อนข้างมาก เพราะเป็นโครงการขนาดใหญ่

นอกจากนั้น เพื่อให้ตัวเบายิ่งขึ้น TTCL มีแผนที่จะนำ Toyo Thai Power Holding Pte., Ltd. เป็นบริษัทย่อยเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการระดมทุน โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ ด้วย (จากเดิมจะนำเข้าตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์) ซึ่งมีโอกาสที่จะเป็นตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แต่ต้องขอพิจารณาอีกครั้ง และยังไม่ทิ้งโอกาสที่จะนำเข้าตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์

พูดแสดงความมั่นใจเกินร้อยอย่างนี้….ส่งสัญญาณชัดเจนว่าไม่มี TEC ก็อยู่ได้สบายใจ ตามประสา คนสวยเลือกได้

เพียงแต่ความมั่นใจของผู้บริหาร และของนักวิเคราะห์ไม่จำเป็นต้องตรงกัน เพราะ…นักวิเคราะห์ยังคงระบุว่า “….ต้องคอยติดตามสถานะทางการเงิน ทั้งในส่วนของเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มเติมที่ต้องใช้กับโครงการใหม่ การเข้าถึงสถาบันการเงิน และต้นทุนการเงิน รวมทั้งจุดสำคัญสุดคือ….การหาพันธมิตรใหม่ ทั้งในส่วนของโครงสร้างการถือครองหุ้น และการจัดการโครงการ

หาก TTCL ยังไม่ข้ามปัญหานี้ไปได้ก็เป็นอุปสรรค …แต่ถ้ากลับกัน ก้าวข้ามไปได้….สุดยอด

เพียงแค่มีความชัดเจนเมื่อใดยังไม่มีความชัดเจนของผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากความล่าช้าในการก่อสร้างโครงการก่อสร้างร็อคซอลท์ที่ประเทศลาวที่ร่วมกับ TEC ก็ยังไม่อาจมองข้ามไปได้

ก็คงต้องรอพิสูจน์กันต่อไป

อิ อิ อิ 

Back to top button