กลต.จับปู (ดิจิทัล)

แล้วในที่สุด หลังจากการหารือกันหลายรอบ ดูเหมือนว่า ก.ล.ต.จะพบทางออกในการกำกับดูแลการซื้อขายเงินดิจิทัล และการระดมทุนผ่านไอซีโอ นั่นหมายความว่าจากนี้ไป ก.ล.ต.จะสามารถเป็น “ยักษ์มีกระบอง” ในด้านนี้ ไม่ใช่เป็นแค่ “เสือกระดาษ” อีกต่อไป


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล

แล้วในที่สุด หลังจากการหารือกันหลายรอบ ดูเหมือนว่า ก.ล.ต.จะพบทางออกในการกำกับดูแลการซื้อขายเงินดิจิทัล และการระดมทุนผ่านไอซีโอ นั่นหมายความว่าจากนี้ไป ก.ล.ต.จะสามารถเป็น “ยักษ์มีกระบอง” ในด้านนี้ ไม่ใช่เป็นแค่ “เสือกระดาษ” อีกต่อไป

นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ ก.ล.ต. เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งออกเกณฑ์กำกับดูแลเงินดิจิทัล และการระดมทุนด้วยวิธีการเสนอขายเหรียญดิจิทัลให้แก่คนทั่วไป (ไอซีโอ) โดยเร็ว ซึ่งภายใน 2-3 สัปดาห์นี้ หรือภายในเดือน มี.ค.นี้ จะมีความชัดเจนออกมา 2 ส่วนคือ

-ส่วนแรก ก.ล.ต. จะออกประกาศให้ ICO มีฐานะเป็นหรือเทียบเท่าหลักทรัพย์ ที่ต้องอยู่ภายใต้การกำกับของก.ล.ต. อีกทั้งเป็นผู้ขึ้นทะเบียน และเป็นผู้ออกใบอนุญาตให้ผู้ที่จะเป็นตัวกลางในการซื้อขาย โดยผู้ที่ต้องการออก ICO จะต้องมีการเปิดเผย และรายงานข้อมูลที่แท้จริง ไม่ใช่เป็นข้อมูลที่หลอกลวง รวมทั้งเป็นการระดมทุนโดยไม่ใช่การฟอกเงิน 

-ส่วนที่สอง กระทรวงการคลังจะออกประกาศโอนมอบอำนาจให้กับสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อเข้าไปกำกับดูแลคริปโตเคอเรนซี หรือสกุลเงินดิจิทัลได้โดยตรง จากเดิมที่ไม่มีกฎหมายกำกับดูแลที่ชัดเจน 

ในเอกสารของก.ล.ต. ระบุว่าการดำเนินงานดังกล่าว ไม่ใช่การห้ามหรือสกัดกั้นความเสี่ยงของเงินสกุลดิจิทัล แต่ถือว่า เป็นการกำกับดูแลและให้ความสะดวก เพื่อแยกแยะระหว่างการระดมทุนที่ถูกกฎหมายและเป็นประโยชน์ออกจากพวกที่ต้องการฉ้อฉล และป้องกันการระดมทุนไปใช้ในวัตถุประสงค์ที่ไม่เหมาะสม เพราะการห้ามนั้น จะทำให้ผู้ที่ต้องการออก ICO ต้อง “หลบลงใต้ดิน”

กระบวนการกำกับดูแลของ ก.ล.ต.แบ่งออกเป็น 2 ภาคที่เชื่อมโยงกัน คือในตลาดแรก เป็นตลาดที่ผู้ออก ICO และผู้ซื้อสามารถนัดพบได้โดยตรงไม่ต้องผ่านตัวกลาง แต่จะต้องผ่านการออกใบอนุญาตจากทาง ก.ล.ต.ก่อน โดยมีกติกาเกี่ยวกับที่มาที่ไปของเงินที่ชัดเจนตามหลักการ KYC เพื่อป้องกันการฟอกเงิน โดยอาจจะต้องมีการกำหนดคุณสมบัติขั้นต่ำของผู้ซื้อเอาไว้ด้วย

ส่วนในตลาดรองจะต้องมีการออกใบอนุญาตให้ทำ ICO Portal ที่เป็นแพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ (ETP)

ทั้งหมดนี้ ไม่ได้หมายความว่ากระบวนการธุรกรรมของ ICO จะมีความเสี่ยงลดลงหรือเพิ่มขึ้น แต่เป็นมาตรการสร้างความโปร่งใสให้กับตลาดและนักลงทุนเท่านั้น

ประเด็นต่อไปที่นอกเหนืออำนาจของ ก.ล.ต. คือ เนื่องจากการทำธุรกรรมซื้อขาย ICO มีเป้าหมายตัดเงินออกจากระบบ ดังนั้น จึงต้องแอบอิงกับเงินดิจิทัล หรือ บิตคอยน์ ซึ่งจำเป็นต้องให้กระทรวงการคลังโอนมอบอำนาจในการกำกับดูแล เพราะธุรกรรมเหล่านี้ล้วนเชื่อมโยงกันทั้งสิ้น

ทั้งหมดนี้ ทำให้ความคลุมเครือที่เคยมีอยู่หมดไป และมีกรอบกติกาที่ชัดเจนมากขึ้น อย่างน้อยก็สะท้อนให้เห็นความก้าวหน้าที่เกิดขึ้น

เลขาธิการ ก.ล.ต. ระบุว่า ICO ไม่ใช่การลงทุนสำหรับนักลงทุนทั่วไป แต่ต้องเป็นนักลงทุนที่เข้าใจในเทคโนโลยีจริงๆ ดังนั้น ถึงจะมีการกำกับแล้วก็ไม่ได้แปลว่าจะไม่มีความเสี่ยง แค่จะมีกระบวนการ ขั้นตอน รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลต่างๆ มากขึ้น และที่สำคัญคือ จากนี้ไปบริษัทที่จะออก ICO ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพียงแค่สามารถทำในสิ่งที่พูดได้จริง ไม่เพียงแค่ขายฝันเท่านั้น

ท่าทียืดหยุ่นของเลขาธิการ ก.ล.ต.ที่ว่า ICO เป็นการระดมทุนที่แยกออกมาจากตลาดหุ้น เชื่อว่าจะไม่ทำให้ตลาดหุ้นขาดเสน่ห์ หรือมีความน่าสนใจน้อยลง เพราะเป็นการลงทุนเฉพาะกลุ่มที่มีความเข้าใจตรงกัน ชื่นชอบในสิ่งเดียวกัน โดยมีนักลงทุนอีกหลายประเภทในประเทศไทยที่ไม่ได้ให้ความสนใจกับไอซีโอ

ท่าทีเชิงบวกดังกล่าวถือว่าเปิดทางให้กับนวัตกรรมของเงินดิจิทัล (ที่ปัจจุบันมีบิตคอยน์เป็นสัญลักษณ์ และเป้าเรดาร์โดดเด่นสุด) ซึ่งเคยถูกมุมมองเก่าของสถาบันเดิมทำให้กลายสภาพเป็น “ปีศาจแห่งยุคสมัย” ที่ท้าทายและปฏิเสธอำนาจของธนาคารทั้งระบบทุกแห่ง เพราะมีจุดยืนทางด้านปรัชญาที่เรียกร้องการกระจายอำนาจจากส่วนกลางของธุรกรรมอย่างถึงที่สุด ตรงกันข้ามสุดขั้วกับปรัชญาของธุรกิจธนาคาร (ที่มีธนาคารกลางเป็นตัวการหลัก) ที่เน้นการรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง ดูเจือจางลงชัดเจน

แม้ว่าหัวใจหลักของเงินดิจิทัล คือ การตัดเงินสด (ตัวแทนของธนาคารกลาง) และตัดธนาคาร (ต้นทุนตัวกลางของธุรกรรม) ทิ้งไป โดยที่สามารถทำผ่านอุปกรณ์พกพา มีค่าเท่ากับการตัดค่าใช้จ่ายได้มหาศาล แต่มีจุดอ่อนคือไม่เหมาะสำหรับธุรกรรมภายในประเทศ (ต้องเสียค่าธรรมเนียมสูง) แต่เหมาะกับธุรกรรมระหว่างประเทศที่ต้องทำข้ามสกุลเงิน และจุดเด่นสำคัญที่เหนือกว่าเงินทั่วไปมากคือ สามารถนำไปเก็งกำไรกันได้ จะกระเทือนต่อนักการเงินในระบบเดิมไม่น้อย แต่การตอบโต้กับนวัตกรรมในเชิงบวกดังกรณีของ ก.ล.ต.ไทยนี้ ถือเป็นปรากฏการณ์ที่น่าชื่นชม

อย่างน้อยต่อจากนี้ไป เราจะได้เห็นว่า ก.ล.ต.จับปู (ดิจิทัล) ใส่กระด้งอย่างไร

Back to top button